...+

วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การให้ผลของกรรม

โปรแกรมของคุณอาจไม่สนับสนุนการแสดงรูปภาพนี้
การให้ผลของกรรม


การ ให้ผลของกรรมมีสองชั้น คือ การให้ผลของกรรมชั้นธรรมดาอย่างหนึ่ง
และการให้ผลของกรรมในชั้นศีลธรรมอีกอย่างหนึ่ง การให้ผลของกรรมชั้นธรรมดา
เป็นการให้ผลโดยไม่คำนึงถึงว่าถูกหลังความชอบธรรมหรือไม่ เช่นนาย ก.
โกงเงินหลวง หรือขโมยทรัพย์มา นาย ก. ก็จะได้เงินนั้นมา และถ้านาย ก.
ใช้เงินซื้อบ้าน นาย ก. ก็จะได้อยู่บ้านนั้น
นี่เป็นการให้ผลของกรรมชั้นธรรมดา
แต่การให้ผลของกรรมหาได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้นไม่
กรรมที่ทำลงไปยังจะให้ผลในชั้นศีลธรรมอีก คือ
ถ้าทำดีจะต้องได้รับผลดีอย่างแน่นอน
และถ้าทำชั่วก็จะต้องได้รับผลชั่วอย่างหลีกไม่พ้น

กรรม บางอย่างอาจจะให้ผลในชาตินี้ เรียกว่า ทิฎฐธรรมเวทนียกรรม
กรรมบางอย่างอาจจะให้ผลในชาติหน้า ที่เรียกว่า อุปปัชชเวทนียกรรม
กรรมบางอย่างอาจจะให้ผลในชาติต่อๆ ไป ที่เรียกว่า อปราปรเวทนียกรรม

การปลูกพืชหรือต้นไม้ ไม่ใช่พอวางเมล็ดลงไปในดิน
พืชหรือต้นไม้จะขึ้นและให้ผลทันที พืชบางอย่างก็ให้ผลเร็ว
พืชบางอย่างก็ให้ผลช้าเป็นปีๆ เช่นข้าว เพียง ๔ - ๕ เดือนก็ให้ผล
แต่ต้นมะพร้าวหรือทุเรียน กว่าจะให้ผลก็ใช้เวลาถึง ๕ ปี

การที่คนทำความชั่วยังได้ดีมีสุขอยู่ จึงเป็นเพราะกรรมชั่วยังไม่ให้ผล
กรรมดีที่เขาเคยทำยังเป็น อุปัตถัมภกกรรม คอยสนับสนุนอยู่
เมื่อใดที่กรรมดีอ่อนกำลังลง กรรมชั่วก็จะมาเป็น อุปฆาตกรรม
ทำให้ผู้นั้นต้องเปลี่ยนสภาพไปอย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ
เช่นเศรษฐีอาจจะต้องเป็นยาจก เคยเป็นผู้ยิ่งใหญ่มีอำนาจวาสนา
อาจจะถูกฟ้องร้องต้องโทษจำคุก
หรือต้องเที่ยวหลบหนีเร่ร่อนไม่มีแผ่นดินจะอยู่

คนที่ไม่เชื่อเรื่องของกรรม มักจะมองเห็นผลของกรรมชั้นธรรมดา
เป็นผู้มีสายตามืดมัว มองไม่เห็นการให้ผลของกรรมชั้นศีลธรรม
บุคคลเหล่านี้มักจะเป็นคนไม่เชื่อในเรื่องตายแล้วเกิด
คิดว่าคนเราเกิดมาเพียงชาตินี้ชาติเดียว ก็สิ้นสุดลง
คนพวกนี้เมื่อทำความชั่วและความชั่วยังไม่ให้ผลก็คิดว่าตนเป็นคนฉลาด
ดูถูกพวกที่เชื่อเรื่องกรรมว่าเป็นคนโง่ งมงาย
คนพวกนี้เหมือนคนที่กินขนมเจือยาพิษ
ตราบใดที่ยาพิษยังไม่ให้ผลก็คิดว่าขนมนั้นเอร็ดอร่อย
สมตามพุทธภาษิตที่ว่า

มธุวา มญฺญติ พาโล ยาว ปาปํ น มุจฺจติ คนโง่ย่อมจะเห็นบาปเป็นน้ำผึ้ง
ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล

การให้ผลของกรรม อาจแบ่งเป็นการให้ผลทางจิตใจ และการให้ผลทางวัตถุ

การให้ผลทางจิตใจ เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ทำโดยเฉพาะ
ไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่น เมื่อทำไปแล้วก็ได้รับผลทันที คือเมื่อทำกรรมดี
ก็จะได้รับความสุขความปีติ แต่ถ้าทำกรรมชั่ว ก็จะทำให้จิตใจเศร้าหมอง
เป็นทุกข์ ส่วนการให้ผลทางวัตถุเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับผู้อื่น
จะทำให้ได้ดียากมาก

คนทำดี จะให้ได้ดีทางวัตถุ ต้องประกอบด้วยหลัก ๔ ประการคือ

๑. คติสมบัติ ทำดีให้ถูกสถานที่
๒. อุปธิสมบัติ ทำดีให้ถูกตัวบุคคล
๓. กาลสมบัติ ทำดีให้ถูกเวลา
๔. ปโยคสมบัติ ต้องทำดีให้ติดต่อกันไปเรื่อยๆ การ
ที่คนทำกรรมดีและหวังผลดีในทางด้านวัตถุ เช่น หวังลาภ ยศ และสรรเสริญ
แต่ไม่ได้รับผลดีตามต้องการ อาจจะเพราะไม่เข้าตามหลัก ๔ ประการข้างต้น
คือ ไปทำความดีกับบุคคลที่ไม่มีความดี เช่น
เราทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต แต่เจ้านายของเราเป็นคนคอรัปชั่น
การทำความดีของเราย่อมไม่เป็นที่ชื่นชมของเจ้านายของเรา
การทำดีกับบุคคลเหล่านี้ก็ไม่ผิดอะไรกับเอาเมล็ดพืชทิ้งลงไปบนหิน
หรือพื้นดินแห้งแล้ง

ฉะนั้น การทำความดีเราควรจะหวังผลในทางจิตใจมากกว่าวัตถุ บางคนอาจจะ
ทำความดีจริงแต่อาจจะทำไม่ถึงดี คือ
ทำดีเพียงเล็กน้อยแล้วก็หวังผลแห่งความดีนั้น
เมื่อไม่ได้รับผลตอบแทนก็หมดกำลังใจ แล้วก็บอกว่าทำดีไม่เห็นได้ดี
คนพวกนี้เหมือนคนปลูกพืชรดน้ำพรวนดินนิดหน่อย ก็หวังที่จะให้พืชได้ผล

ความหมายของคำว่าได้ดีและได้ชั่ว ในทางโลกและทางธรรม มีความหมายแตกต่างกัน

ในทางโลก มักจะมองเห็น การได้ดีและได้ชั่วเป็นเรื่องทางวัตถุ
เมื่อกล่าวว่าคนนั้นได้ดีก็มักจะหมายความว่า ผู้นั้นได้ลาภและยศ
เช่นได้ทรัพย์สมบัติ ได้อำนาจวาสนา หรือได้ตำแหน่งหน้าที่การงานดีขึ้น
เมื่อไม่ได้สิ่งเหล่านี้ก็เข้าใจว่าไม่ได้ดี

ในทางธรรม การได้ดีหรือได้ชั่วเป็นเรื่องของจิตใจ การได้ดีหมายถึง
การทำให้จิตใจดีขึ้น ทำให้ธาตุแห่งความดีในตัวเองเรามีมากขึ้น
ทำให้จิตใจของเราสะอาด สว่าง สงบยิ่งขึ้น ส่วนการได้ชั่ว
หมายถึงการทำให้จิตใจต่ำลง เลวลง ทำให้จิตใจมืดมัวยิ่งขึ้น
คำว่าได้ดีจึงความถึงความดี และคำว่าได้ชั่ว จึงหมายถึงความชั่ว
หากเราจะพูดว่า ทำดีได้ความดี ทำชั่วได้ความชั่ว
ก็จะทำให้เข้าใจในเรื่องได้ดีและได้ชั่วดีขึ้น

บุคคลที่กระทำกรรมอะไรลงไป ย่อมจะได้รับผลในทางจิตใจทันที เมื่อทำกรรมดี
เช่น ทำบุญตักบาตร ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่น ก็จะทำให้จิตใจดีขึ้น
มีความปีติ และความสุขในกรรมดีที่ตนทำ ในเมื่อกรรมที่ทำเป็นกุศลกรรมจริงๆ
คือทำด้วยจิตใจที่เป็นกุศล ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ
ไม่ใช่ด้วยความโลภหรือด้วยอกุศลเจตนา หรือหวังผลตอบแทน
คัดลอกมาจาก ::
ธรรมบรรยายโดย...หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม
หนังสือกฎแห่งกรรม เล่ม 15 ภาคธรรมปฏิบัติ
http://www.jarun.org/v5/th/lrule15p01.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น