โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน 29 กรกฎาคม 2552 08:58 น.
ประโยคพาดหัว เป็นคำถามที่ได้ยินบ่อยของคนเป็นพ่อแม่รุ่นนี้
ที่มีค่านิยมอยากให้ลูกได้เรียนดนตรี มีความสามารถทางด้านดนตรี
หรือถึงกระทั่งอยากให้ลูกเป็นอัจฉริยะทางด้านดนตรี
ส่วนหนึ่งเพราะกระแสเรื่องความเข้าใจที่ว่าดนตรีมีส่วนสำคัญในการ
ช่วยพัฒนาสมองของลูก และอีกส่วนหนึ่งก็เพราะมี Idol
ของคนรุ่นใหม่ที่เก่งดนตรีและประสบความสำเร็จเป็นแบบอย่าง
กระแสเรื่องอยากให้ลูกเรียนดนตรี
และความเข้าใจที่ว่ายิ่งลูกเล็กเท่าไรยิ่งเรียนดนตรีได้เก่งเท่านั้น
เป็นเรื่องจริงหรือ ..?
ลองมาหาคำตอบจาก พญ.พิกุล อาศิรเวช
ผู้เชี่ยวชาญทางด้านพัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท
ให้คำแนะนำที่น่าสนใจดังนี้ค่ะ
" ดนตรีมีประโยชน์สำหรับเด็กอย่างแน่นอน
พ่อแม่ควรให้ลูกฟังเพลงหรือดนตรีตั้งแต่ลูกยังเล็ก
และให้ลูกได้มีโอกาสฟังเพลงที่หลากหลาย สบายๆ และไม่ซับซ้อนจนเกินไป
ไม่ควรฟังเพลงซ้ำๆ ทุกวัน เพราะจะทำให้ลูกขาดโอกาสในการเรียนรู้
หรือพัฒนาการที่หลากหลายและเหมาะสมกับวัย
ปัจจุบันพ่อแม่อยากให้ลูกเรียนดนตรีกันมากขึ้น
การให้ลูกเรียนดนตรี เป็นเรื่องที่ดี
แต่คนเป็นพ่อแม่ต้องคำนึงถึงวัยและพัฒนาการของลูกด้วย
อย่าเร่งรัดว่าลูกต้องเรียนตั้งแต่ยังเล็กๆ
เพราะเด็กบางคนยังมีพัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อยังไม่พร้อมสำหรับเครื่อง
ดนตรีบางประเภท เช่น พ่อแม่อยากให้ลูกวัย 3 ขวบ เรียนเปียโน
ในขณะที่กล้ามเนื้อมือของเด็กวัยนี้ยังมีพัฒนาการไม่เต็มที่
เพราะขณะเล่นเปียโน
ต้องเคลื่อนไหวมือและต้องใช้ระยะของนิ้วในการเคลื่อนไหว
ซึ่งยังทำไม่ได้ดีนัก
พ่อแม่ต้องไม่กังวลหรือเข้าใจผิดว่า
ต้องให้ลูกเรียนดนตรีเมื่อลูกเล็ก จะได้เล่นดนตรีเก่ง
ในความเป็นจริงเมื่อเด็กเล่นดนตรีในวัยเมื่อโตหรือพร้อม
ก็ไม่ได้ทำให้เล่นได้ด้อยกว่าเด็กที่เรียนดนตรีเร็ว ไม่ต่างกัน
จริงอยู่ดนตรีมีประโยชน์ แต่จะเกิดประโยชน์สูงสุด
ก็ต่อเมื่อผู้เล่นพร้อม และมีความสุขที่จะเล่น ไม่ได้ถูกบังคับ
หรือถูกเร่งรัดให้เรียน เด็กที่พร้อมและมีความสุขที่จะเล่นดนตรี
จะทำได้ดีกว่า
แล้วควรจะให้ลูกเรียนดนตรีวัยไหน ?
คุณหมอพิกุลแนะนำว่า
วัยที่เด็กพร้อมและเหมาะที่จะเริ่มเล่นเครื่องดนตรี
ควรให้เด็กอยู่ในระดับชั้นอนุบาล 3 หรือวัยประถมต้น น่าจะเหมาะสมค่ะ
ส่วนเด็กที่เล็กกว่านี้
สามารถให้เด็กได้เรียนรู้จังหวะของเครื่องดนตรีง่ายๆ ไม่ซับซ้อน
เป็นดนตรีสำหรับเด็กเล็ก เพื่อให้เด็กคุ้นชินกับเสียงดนตรี
และเครื่องดนตรี พ่อแม่สามารถสร้างสภาพแวดล้อมให้กับลูกได้เช่นกัน
การเล่นดนตรี
เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพสมองของเด็ก
โดยเฉพาะความคิดสร้างสรรค์
ซึ่งเป็นการต่อยอดเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ด้านอื่นๆ ของลูกในอนาคตด้วย
ความคิดสร้างสรรค์คืออะไร ?
ความคิดสร้างสรรค์ คือ สิ่งใหม่ และเป็นสิ่งใหม่ที่ดี
ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ อาจจะต่อตัวเอง ส่วนรวม
และสามารถถ่ายทอดออกมาได้หลายทาง ไม่ว่าการคิด การพูด การกระทำ
หรือแม้แต่การเล่น ซึ่งหมายรวมถึงการเล่นดนตรีด้วย
เนื่องเพราะดนตรี มีจังหวะ ท่วงทำนอง ความถี่ของเสียงที่ลูกได้ยิน
มีผลต่อการเชื่อมโยงของเส้นใยประสาท ยิ่งมีการเชื่อมต่อมากเท่าไร
ก็ยิ่งดีต่อการพัฒนาเครือข่ายเส้นใยสมองของลูก
ช่วยเพิ่มศักยภาพความสามารถในการจดจำ ทำให้ส่งผลดีต่อจิตใจและอารมณ์
รวมทั้งเรื่องความคิดสร้างสรรค์
ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ อธิบายว่า ความคิดสร้างสรรค์
เกิดขึ้นโดยการทำงานของ สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกหรือ
ระบบลิมบิก (Limbic System)
ระบบลิมบิก เป็นสมองส่วนที่ใช้อารมณ์ความรู้สึกในการตัดสิน
ไม่ยึดติดกฎเกณฑ์ สมองส่วนนี้จะทำงานได้ดีเมื่อยังเป็นเด็ก
แต่เมื่อเริ่มโตขึ้น สมองส่วนเหตุผลและกฎเกณฑ์ (Cerebral Cortex)
ก็จะเติบโต และควบคุมระบบลิมบิก ทำให้มีเหตุผล มีกฎเกณฑ์
ยึดประเพณีปฏิบัติแทน
จริงๆ แล้วความคิดสร้างสรรค์ในคนเรามีติดตัวมาแต่กำเนิด
จะมีมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ การรับข้อมูลผ่านจากประสาทสัมผัส
ทั้ง 5 คือพื้นฐานสำคัญทางความคิด เพราะความรู้สึกต่างๆ
ที่ได้รับจะถูกลำเลียงส่งไปยังเซลล์ประสาทที่อยู่ในสมอง
เมื่อสมองทำการจัดลำดับความสำคัญเรียบร้อย
ข้อมูลเหล่านี้ก็จะถูกบันทึกไปยังส่วนความจำ และถูกนำไปใช้ในอนาคต
โดยเฉพาะเรื่องความคิดสร้างสรรค์นั้น
ต้องอาศัยหลักการกระตุ้นด้วยสองมือของพ่อแม่
เพราะเด็กต้องเรียนรู้อย่างมีความสุขและเป็นอิสระ ไม่ใช่ถูกบังคับ
เพราะการถูกบังคับเป็นการปิดกั้นโอกาสทางความคิด
รศ.ดร.ณรุทธ์ สุทธจิตต์ ภาควิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เคยพูดถึงความสำคัญของดนตรีกับเด็กเล็กไว้อย่างน่าสนใจ
"การฟังดนตรีเป็นเรื่องสำคัญ
เพราะทำให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนากระบวนการฟัง
เมื่อเด็กได้ฟังก็จะเกิดความสนใจ
สิ่งที่ตามมาคือได้เรียนรู้ถึงความไพเราะของบทเพลงนั้นๆ
และเมื่อตั้งใจฟังก็แปลว่าเด็กเกิดสมาธิ ซึ่งมีส่วนช่วยให้เรียนวิชาอื่นๆ
หรือทำงาน หรือทำกิจกรรมอื่นๆได้ดี
ในทางกลับกันหากเป็นเด็กที่มีสมาธิดีอยู่แล้ว เมื่อมาฟังเพลง
ก็จะเรียนรู้เรื่องดนตรีได้ดี หากให้เรียนดนตรีก็จะเก่งไปเลย"
แล้วดนตรีมีประโยชน์ต่อเด็กอย่างไร ?
หนึ่ง - ความสนุกสนาน และเพลิดเพลิน
สอง - กระตุ้นการเคลื่อนไหวซึ่งมีความสำคัญต่อเด็กเล็กเป็นอย่างมาก
เพราะเป็นช่วงวัยที่มีทักษะการเคลื่อนไหวที่ดี
สาม - สร้างสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก การออกท่าทาง เต้นรำ
การเคลื่อนไหวตามท่วงทำนองที่สนุกสนาน
นับเป็นช่วงเวลาที่ดีที่คุณจะได้สนุกกับลูก
สี่ - ผลต่อระบบการหายใจ การเต้นของหัวใจ ชีพจร และความดันโลหิต
ถ้าฟังเพลงเร็ว จะหายใจถี่ หัวใจเต้นเร็วขึ้น ในทางกลับกัน
เพลงช้าจะทำให้หัวใจเต้นจังหวะสโลว์ จิตสงบลงช่วยคลายเครียด
ห้า - ทำให้คลื่นสมองช้าลง
เสียงเพลงสามารถปรับเปลี่ยนคลื่นสมองของคนเราได้
ในยามที่ใจจดจ่อกับงานหรืออารมณ์ขุ่นมัว คลื่นสมองจะมีความถี่ราว 14 - 20
เฮิรตซ์ แต่ในภาวะสงบผ่อนคลาย จะมีคลื่นความถี่ 8 -13 เฮิรตซ์
เพลงช้าจะช่วยเปลี่ยนคลื่นสมองให้มีความถี่ช้าลง
หก - ลดความตึงเครียดกล้ามเนื้อ
ช่วยให้เคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วขึ้น
เพราะเส้นประสาทการรับฟังจะเชื่อมโยงหูชั้นในกับกล้ามเนื้อทุกมัดของร่างกาย
เสียงและแรงสั่นสะเทือนตามจังหวะดนตรีจึงส่งอิทธิพลต่อความยืดหยุ่น
กระชับและแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
เจ็ด - เพิ่มระดับของเอนดอร์ฟิน (endorphin) ช่วยลดความเครียด
ทำให้รู้สึกสงบและเป็นสุข
แปด - มีสมาธิ โดยเฉพาะการเปิดเพลงเบาๆ
ช่วยเพิ่มความสามารถในการจดจำ ทำให้เรียนรู้ได้ดีขึ้น
นับข้อดีได้แบบนี้แล้ว มาชวนลูกเรียนดนตรีกันเถอะค่ะ
แต่เพื่อตัวลูกนะคะ ไม่ใช่เพื่อตัวเอง..!!
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000085311
Family Music สอนกีตาร์และเปียโน อยู่ถนนสี่พระยา เขตบางรัก สนใจติดต่อ 022339951 065658433
ตอบลบ