...+

วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ปลูกข้าวหอมมะลิในนากุ้ง ดูดซับของเสีย-แถม-มีรายได้เสริม

', '

ปีนี้วงการอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง ไม่ค่อยฉลุยอย่างที่ตั้งเป้าไว้
หลังจากเจอหวัดไก่สกัดดาวรุ่ง มาตั้งแต่ต้นปี แถมยังมาเจอ
สหรัฐอเมริกาตีแสกหน้า หาว่าทุ่มตลาดกุ้งอีก จนทำให้วงการ
อุตสาหกรรมกุ้งของไทย ในขณะนี้ไม่สดใสปิ๊งปั๊ง เหมือนดังปีที่ผ่านๆ มา

ดูจากยอดขายอาหารกุ้ง ที่ลดลงอย่างฮวบฮาบกว่า 40% จากการยืนยันของ
นายบรรลือศักดิ์โสรจจกิจ กรรมการผู้จัดการบริษัทไทยยูเนียน ฟีดมิลล์
จำกัด เพราะเกษตรกรทิ้งร้างนากุ้งกว่า 40% เนื่องจากราคาไม่จูงใจ
แถมเลี้ยงไปก็มีแต่โรค
นากุ้งเก่าจึงถูกทิ้งร้างกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมไป

จากปัญหาทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวข้างต้น
ตลอดจนกลัวว่ามลพิษที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม ทวีความรุนแรงขึ้น
กอปรกับได้พบกับ นายณาญ บุรพัชร์พงศ์ ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท
เทพเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ผู้ศึกษาการปลูกข้าวหอมมะลินอกฤดูมาแล้ว
หลายครั้งหลายครา จึงได้มาจับมือกัน ทำการทดลองปลูกข้าวหอมมะลิ 105
ในนากุ้งดู เพื่อปรับปรุงฟื้นฟูสภาพดิน
ในบ่อเลี้ยงกุ้งที่เลี้ยงกันแล้วไม่ค่อยได้ผล
เนื่องจากสภาพดินไม่เอื้ออำนวย มีของเสียหมักหมมที่พื้นบ่อ
ตลอดจนแก๊สแอมโมเนีย ไนไตรท์ ดินมีสภาพเป็นกรดสูงและขาดธาตุอาหาร
ส่งผลทำให้เกิดโรคกุ้งตามมา กุ้งแคระแกร็น เลี้ยงไม่โต
นับเป็นปัญหาใหญ่ของผู้เลี้ยงกุ้งที่ยังแก้ไม่ตก

เมื่อความคิดร่วมทางกัน จึงได้ริเริ่มลงมือปลูกข้าวหอมมะลิ
ในบ่อเลี้ยงกุ้งของเกษตรกรรายหนึ่ง ขนาดบ่อราว 2 ไร่ จำนวน 2 บ่อ
ที่อำเภอบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ตามกระบวนการและขั้นตอนที่เคยทำมาคือ
แช่เมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยปุ๋ยอินทรีย์น้ำ อัตรา 1 ลิตร ต่อน้ำ 1,000 ลิตร
เป็นเวลา 24 ชม. จนข้าวงอก แล้วจึงนำไปหว่าน อัตรา 40 กก./ไร่
ฉีดพ่นปุ๋ยน้ำร่วมกับเบรครา ครั้งที่ 1 เมื่ออายุข้าวได้ 15 วัน
หว่านปุ๋ยอินทรีย์เม็ดทางราก ครั้งที่ 1 เมื่ออายุข้าว 20 วัน (อัตรา 25
กก./ไร่) ฉีดพ่นปุ๋ยน้ำร่วมกับเบรครา ครั้งที่ 2 เมื่อข้าวได้ 30 วัน
จากนั้นหว่านปุ๋ยอินทรีย์เม็ด ครั้งที่ 2 เมื่อข้าวอายุ 40 วัน
และฉีดพ่นปุ๋ยน้ำ ครั้งที่ 3 เมื่อข้าวอายุได้ 50 วัน
และฉีดพ่นอีกครั้งเมื่อข้าวอายุได้ 60 วัน

จากการทดลองในครั้งนี้พบว่า ต้นข้าวสามารถดูดซับแก๊สแอมโมเนีย ไนไตรท์
ไปเป็นอาหาร รวมถึงของเสียที่ตกค้างที่ก้นบ่อ เพราะรากข้าวจะมีเอนไซม์
พิเศษช่วยย่อยแร่ธาตุ ของเสียตกค้างเหล่านั้นไปใช้ ประโยชน์ได้
ทำให้ดินร่วนซุย มีการแลกเปลี่ยนออกซิเจนในดิน แม้ในการทดลอง
ปลูกข้าวหอมมะลินอกฤดู แบบปลอดสารพิษในบ่อเลี้ยงกุ้งครั้งนี้
จะได้ข้าวไม่มากเท่าที่ควร (ประมาณ 35 ถัง/ไร่) เพราะต้องพบกับ
อุปสรรคอากาศที่ร้อนจัดถึง 40 องศาฯ ทำให้ต้นข้าวออกดอกไม่สมบูรณ์ก็ตาม

แต่มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจนั่นก็คือ การทดลองทำ
ให้ได้พบว่านากุ้งสามารถใช้ปลูกข้าวได้จริง
โดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ชาวนากุ้งกับชาวนาข้าวสามารถอยู่ร่วมกันได้
ทั้งยังเอื้อประโยชน์ต่อการปรับปรุงฟื้นฟูสภาพดิน
ในบ่อกุ้งให้กลับมามีสภาพดีขึ้นพร้อมที่จะเลี้ยงกุ้งได้อย่างสบายๆ
ส่วนว่าจะคุ้มกับการลงทุน ค่าแรงไถหว่าน
และการเตรียมบ่อเลี้ยงกุ้งอีกครั้งไหมนั้น ก็ต้องรอผลพิสูจน์กันต่อไป

ดวงแก้ว ผุงเพิ่มตระกูล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น