...+

วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2552

กระทรวงการต่างประเทศเล่นเกมเสียดินแดน :กต. - ต้นคิด รัฐสภา - อนุมัติ ทหาร - ปฏิบัติ!

กระทรวงการต่างประเทศเล่นเกมเสียดินแดน :กต. - ต้นคิด รัฐสภา - อนุมัติ
ทหาร - ปฏิบัติ!
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์


โดย ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์
นักวิจัย เชี่ยวชาญระดับ 9 สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อปีที่แล้วหากมีใครไปถาม พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา
ผู้บัญชาการทหารบกเรื่องการเสียดินแดนเมื่อกัมพูชานำปราสาทพระวิหารไปขึ้น
ทะเบียนเป็นมรดกโลก ท่านจะตอบว่า
".....ไม่ทราบว่าจะนำไปสู่การเสียดินแดนได้อย่างไร"
(สมุดปกขาวกระทรวงการต่างประเทศหน้า ช )

เมื่อปีที่แล้ว(พ.ศ.2551) ข้อมูลต่างๆ ของเรื่อง
ที่ประชาชนจะสามารถนำมาเป็นพื้นฐานความรู้ความเข้าใจนั้น ยังมีน้อยมาก
เพราะว่าเราถูกปิด ถูกบิดเบือนข้อมูล และที่สำคัญคือ
ประชาชนถูกหล่อหลอมให้คิดและเชื่อข้อมูลผิดตลอดมา

หนึ่งปีผ่านไปไวเหมือนโกหก (พ.ศ. 2552) ประชาชนจาก 1-2 คน
รวมกันเป็นเครือข่าย และจากเครือข่ายรวมกันเป็นภาคีเครือข่าย
ได้ติดตามสถานการณ์ปราสาทเขาพระวิหาร จนชัดเจนแล้วว่า
หากจะพูดถึงเรื่องนี้กับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง จะต้องพูดเป็น 2 เรื่อง
คือเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเรื่องหนึ่ง
และเรื่องการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา
ในกรอบของคณะกรรมการชายแดนไทย-กัมพูชา อีกเรื่องหนึ่ง
ทั้งๆที่จะกล่าวว่าเป็น "เรื่องเดียวกัน" หรือ เป็น
"เรื่องที่เกี่ยวข้องกัน" ก็กล่าวได้ทั้งสองอย่าง

และถ้า วันนี้
เราตั้งคำถามเสียใหม่กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา
ผู้บัญชาการทหารบก ว่า
การพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชาในกรอบของคณะกรรมการชายแดนไทย-กัมพูชา
จะนำไปสู่การเสียดินแดนหรือไม่ อยากรู้ว่า ท่านจะตอบว่าอย่างไร
ในเมื่อเห็นข้อมูลกันอยู่แจ่มแจ้งแล้ววันนี้ว่า

1. ร่างข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชาว่าด้วยปัญหาชายแดนในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร
ที่นายกรัฐมนตรีจะเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 190
ลงวันที่ตั้งแต่ 2 กรกฎาคม 2552 และส่งเป็นเอกสารประกอบมานั้น ในข้อ 1
ของร่างระบุไว้อย่างชัดถ้อยชัดคำว่า

"...คู่ภาคีจะไม่คงกำลังทหารของแต่ละฝ่ายในวัด
"แก้วสิขาคีรีสะวารา" (ต่อไปนี้จะเรียกว่า "วัด")
พื้นที่รอบวัดและพื้นที่[ไทย-ปราสาท][กัมพูชา-ปราสาทเปรียะวีเฮียร์(พระ
วิหารในภาษาไทย)] แม่ทัพภาคที่สองของกองทัพบกไทย
และผู้บัญชาการกองทัพภาคที่ 4 ของกองทัพกัมพูชา
จะกำหนดมาตรการที่เหมาะสมร่วมกัน เพื่อปฏิบัติให้ข้อบทนี้มีผล
โดยผ่านชุดติดตามสถานการณ์ชั่วคราวของแต่ละฝ่าย"

ท่านจะต้องรู้เพราะเป็นผู้บังคับบัญชาของแม่ทัพภาคที่สองของกองทัพบก
ไทย อีกทั้ง "ชุดติดตามสถานการณ์ชั่วคราว" ของฝ่ายไทยนั้น
มีความหมายว่าเป็นกลไกหนึ่งของการเจรจาเพื่อรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบ
ร้อยบริเวณพื้นที่ชายแดน ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของทหาร
ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น "รั้วบ้าน"

2. มีเอกสารของคณะกรรมการมรดกโลกที่ชื่อว่า C1224 rev เรื่องที่
65 ชื่อในบัญชีขึ้นทะเบียนว่าปราสาทพระวิหาร
ซึ่งเป็นเอกสารประกอบกับร่างมติคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 33
มีหลายตอนที่สำคัญ
แต่จะขอยกตอนที่สำคัญตอนหนึ่งมาเป็นหลักฐานเพื่อให้เห็นชัดเจนและเข้าใจ
อย่างถ่องแท้ ดังนี้

"...ในวันที่ 3 ตุลาคม 2551
ทหารกัมพูชาปะทะกับทหารไทยใกล้ปราสาทพระวิหาร
มีรายงานการบาดเจ็บของทหารทั้งสองฝ่ายในวันที่ 6 ตุลาคม ทหารไทย 2
นายได้รับบาดเจ็บสาหัส เหยียบกับระเบิดขาขาดในบริเวณใกล้ปราสาท
ในบ่ายวันที่ 15 ตุลาคม เกิดการยิงปะทะกันระหว่างทหารกัมพูชากับทหารไทย 3
จุด ในพื้นที่ใกล้ตัวปราสาท รวมทั้งมีการยิงด้วยปืนยิงสังหาร
มีการยืนยันว่าทหารกัมพูชาเสียชีวิต 3 นาย ทหารไทยได้รับบาดเจ็บ 4-7 นาย
มีทหารไทยสูญหายไป 10 นาย ซึ่งกัมพูชาได้ประกาศว่าตนได้จับกุมทหาร 10
นายนี้ มีการเจรจาตกลงระหว่างทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นอีก
แม้ว่าทั้งสองฝ่ายยังคงกล่าวหากันเองถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น
รวมทั้งที่ได้เกิดความเสียหายขึ้นแก่ทรัพย์สินมรดกโลก .......จากจดหมาย
ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2551
โดยผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกได้แจ้งต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบของกัมพูชาในการ
ตัดสินใจที่จะให้มีกลไกชุดติดตามเสริม
และจะส่งชุดทำงานนี้ไปยังพื้นที่ทรัพย์สินมรดกโลกในทันที.....
นอกจากการติดตามตรวจสอบดังกล่าว
ยังเปิดโอกาสให้มีการติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุตามข้อ
ร้องขอ ในย่อหน้าที่ 15 ตามมติ ที่ 32 COM 8 B.102
ชุดติดตามเสริมได้เข้าพื้นที่ในช่วง 28 มีนาคม ถึง 6 เมษายน 2552
นำทีมโดยแผนงานพิเศษด้านวัฒนธรรมขององค์กรยูเนสโก สำนักงานพนมเปญ
ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS)"

เอกสารประกอบนี้
เป็นหลักฐานให้เห็นความเป็นเรื่องเดียวกันระหว่างการขึ้นทะเบียน
ปราสาทพระวิหารของกัมพูชา กับเรื่อง พื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา
ในกรอบของคณะกรรมการชายแดนไทย-กัมพูชาอย่างชัดเจน
และยิ่งถูกสำทับด้วยเอกสารที่มีชื่อว่า
"บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา สมัยวิสามัญ ณ
กรุงพนมเปญ วันที่ 6-7 เมษายน 2552" ที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์
เวชชาชีวะ จะนำเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภาในวันที่ 28
สิงหาคมนี้(อ้างเอกสารที่ สผ 0014/ร 27 25 สิงหาคม 2552)

3. เอกสารของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ กต 0803/674 ลงวันที่ 17
สิงหาคม 2552 ได้แนบเอกสารสรุปย่อรายงานผลการพิจารณาความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่
ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง ในข้อ 4 ระบุว่า

"...4.ขณะนี้คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี)
กำลังเจรจาจัดทำข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา
ว่าด้วยปัญหาชายแดนในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร
โดยรัฐสภาได้เห็นชอบกรอบการเจรจาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551
ด้วยคะแนนเสียง 409 ต่อ 7 จาก 418 เสียงของผู้เข้าร่วมประชุม

การเจรจาจัดทำข้อตกลงชั่วคราวฯดังกล่าวมีความคืบหน้ามากในการประชุม
JBC สมัยวิสามัญ ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 6-7 เมษายน 2552
ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้เกือบทุกประเด็นโดยเฉพาะการจัดตั้ง
"ชุดทหารติดตามสถานการณ์ชั่วคราว"(Temporary Military Monitoring Task
Force(TCTF))เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการปรับกำลังทหารและจัดตั้ง
"ชุดประสานงานชั่วคราว" (Temporary Coordinating Task Force(TCTF))
เพื่อพิจารณาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่พิพาทบริเวณเขาพระวิหาร
เหลือประเด็นคงค้างเพียง 1 ประเด็น คือ
การเรียกชื่อปราสาทพระวิหารตามหลักการสากล

ดังนั้นเมื่อข้อตกลงชั่วคราวฯ ดังกล่าวมีผลบังคับใช้
กลไกทั้งสองข้างต้นจะเป็นกลไกสำคัญใหม่
ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาข้อพิพาทไทย-กัมพูชา
ในบริเวณดังกล่าวรวมทั้งประเด็นเกี่ยวกับชุมชนกัมพูชา"

เอกสารเรื่องนี้ผูกมัดโยงใยเรื่องในข้อ 1 และ 2
ข้างต้นอย่างแน่นหนา
มาตรการที่เหมาะสมเพื่อการปฏิบัติให้ไม่มีการคงกำลังทหารของแต่ละฝ่ายในวัด
พื้นที่รอบวัด และพื้นที่ปราสาท ในความรับผิดชอบของแม่ทัพภาคที่ 2
ผู้ใต้บังคับบัญชาของพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก
และตลอดจนกระทั่งในความบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตามลำดับ

นอกจากนี้ในเอกสารฉบับดังกล่าวยังพูดถึง
"พื้นที่พิพาทบริเวณเขาพระวิหาร"
และได้อ้างถึงกรอบเจรจาจากรัฐสภาเมื่อปีก่อน คือ วันที่ 28 ตุลาคม 2551
ด้วยคะแนนเสียง 409 ต่อ 7 และกล่าวถึงประเด็นที่ยังคงค้างอยู่เพียง 1
ประเด็น คือการเรียกชื่อปราสาทพระวิหารตามหลักสากล

ประเด็นนี้ยังไม่ผ่านความเห็นชอบและมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นความคิดของการหาทางออกของปัญหาว่า

"2.4.1 การเรียกชื่อปราสาทพระวิหาร คือ
ฝ่ายกัมพูชายืนยันให้ใช้ชื่อว่า "The Temple of Preah Vihear" หรือ "The
Temple of Preah Vihear(Phra Viharn in the Thai language)"
แต่ไทยยืนยันให้ใช้ชื่อว่า "The Temple of Phra Viharn" หรือ "The Temple
of Phra Viharn / Phreah Vihear"
ซึ่งต่อมาฝ่ายกัมพูชาได้เสนอท่าทีประนีประนอมว่า "the Area between Phnom
Trap / Phu Makhua and Ta Thav/Chong Ta Tao"
(ประเด็นนี้ทำให้ร่างบันทึกการประชุม JBC
ยังตกลงกันไม่ได้ไปด้วย)(อ้างเอกสารด่วนที่สุด ที่ กต 0803/940 17
พฤศจิกายน 2551)"

ที่ สำคัญ จากหลักฐานเอกสารดังกล่าว รวมหลักฐานภาพต่างๆ
ของกองกำลังกัมพูชาที่แนบมานี้ซึ่งแสดงให้เห็นการพัฒนาพื้นที่ไม่เพียงแต่
บริเวณระหว่างภูมะเขือถึงช่องตาเฒ่า
แต่น่าจะเป็นตั้งแต่พลาญหินแปดก้อนถึงซำแตก็ว่าได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุด
ผู้บังคับบัญชาของเจ้ากรมแผนที่ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่โดยตรงในเรื่องนี้ด้วย
ต้องรู้อยู่เต็มอก
และไม่สามารถปฏิเสธข้อมูลเรื่องการยึดครองพื้นที่ของกำลังทหารกัมพูชา

เมื่อ ข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา
ว่าด้วยปัญหาชายแดนในพื้นที่บังคับใช้
อย่างน้อยก็พื้นที่เขาพระวิหารของไทย บริเวณวัดแก้วฯ
จะปราศจากกองกำลังทหารไทย แต่จะมีคณะทำงานชุดประสานงานชั่วคราว
และชุดทหารติดตามสถานการณ์ชั่วคราวขึ้นไปทำงานร่วมกับฝ่ายกัมพูชา
ตรงตามเงื่อนไขของการขึ้นทะเบียนมรดกโลกเรื่องที่จะไม่มีกองกำลังทหารใน
ทรัพย์สินมรดกโลกอย่างเด็ดขาดท่านแม่ทัพภาคสอง ท่านผบ.ทบ.
และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ท่านจะยอมเขาถึงขนาดนี้หรือ!

ยังไม่สายเกินไปที่ท่านจะทบทวนพิจารณาเรื่องราว คิดและทำใหม่
อย่าให้เขามาอ้างได้ว่า

"...โดยที่เขตกันชนนี้ไม่รวมพื้นที่ทางด้านทิศเหนือ
และด้านทิศตะวันตกของปราสาทพระวิหาร
เนื่องจากเป็นเขตพื้นที่พิพาทกับประเทศไทย
จากประเด็นดังกล่าวทางรัฐภาคีจะนำเสนอร่างข้อตกลงในการจัดพื้นที่แบบสมบูรณ์
ซึ่งร่างดังกล่าวจะแก้ไขตามผลการตกลงร่วมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย
-กัมพูชา" (อ้างเอกสารC1224 rev ของคณะกรรมการมรดกโลก)

ที่ว่ายังไม่สายเกินไปก็เพราะ ข้อตกลงฯ ดังกล่าวในขณะนี้
ได้ถูกรัฐสภาเลื่อนวาระออกไปอีก 3 วัน หรือประมาณนั้น
ตามสถานการณ์ของวาระพิจารณา แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่เป็นไปตามนี้ คือ
"ข้อตกลงชั่วคราวฯ
จะมีผลบังคับใช้ในวันที่มีการแลกเปลี่ยนหนังสือแจ้งภาคีแต่ละฝ่าย
ว่าได้ดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายภายในของตนเสร็จสิ้นแล้ว..."(ข้อ8
ของร่างตกลงชั่วคราวฯ)

ทหาร ทุกท่าน โปรดรับรู้ว่า
การยอมเสียดินแดนตามกระบวนการและขั้นตอนของการพัฒนาพื้นที่
และกรอบการเจรจาเรื่องปัญหาชายแดน ที่เป็นไปตามนี้
มิใช่ทางออกของประเทศไทยแต่อย่างใด
แต่นี่คือกระบวนการและขั้นตอนของการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
ของกัมพูชาให้มีผลสำเร็จ
โดยใช้กลไกกรอบการเจรจาเรื่องชายแดนเป็นอาวุธผลสำเร็จเป็นของกัมพูชา
แต่ผลเสียของเราคือ จะทำให้ประเทศไทยเสียดินแดน ในไม่กี่วัน

เกมนี้ต้องรู้ทันกัน ไม่ใช่เฉพาะรู้เขา - รู้เรา แต่รู้พวกเรากันเองด้วย!!


http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000098212

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น