...+

วันอังคารที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2552

แก้ไขหรือแก้ตัว

', '


จาก หนึ่งสมอง สองมือ
รวมบทสนทนา "ชีวิตธุรกิจ" พ.ศ. 2530
โดย ประสาร มฤคพิทักษ์


เวลามีปัญหาผิดพลาดในการทำงานขึ้นมา สิ่งที่มักได้ยินตามหลังจากคนทำงานก็คือ

"ไม่ไหวครับ วัตถุดิบมาไม่ทัน จะผลิตทันได้ยังไง"

หรือว่า "จำเป็นจริงๆครับ ลูกน้องผมท้องเสียทั้งแผนกลาหยุดกันเกือบหมด
ผมไม่มีปัญญาทำเองคนเดียวหรอก"

หรือว่า "มันเป็นความผิดของวิศิษฎ์ เลินเล่อไปหน่อย วัสดุสูญเสียจึงมีมาก "

ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นคำแก้ตัวทั้งนั้นครับ

จะแก้ตัวยังไงก็ตาม ความผิดพลาดก็ได้เกิดขึ้นแล้ว เรียกคืนก็ไม่ได้
บางคนไม่หยุดอยู่เพียงวงแคบๆ
กลับพูดคำแก้ตัวนี้ไปถึงคนอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย
เพื่อดึงตัวเองออกมาจากความผิดพลาด

ทางที่ดีกว่า คือ การมุ่งหน้าแก้ไข ไม่ใช่มุ่งแก้ตัว

ความผิดพลาดบางอย่าง ก่อนที่จะปรากฏผลผิดพลาด
มักจะมีการตั้งเค้ามาก่อนให้สามารถคาดคะเนได้

เช่นลูกค้าที่จ่ายเช็คคืนบ่อยๆ อย่างนี้ก็ต้องรีบหาทางตัดเครดิต
ไม่ส่งของให้จนกว่าจะชำระเงินที่ค้างเรียบร้อยเสียก่อน เรียกว่า
ตัดไฟเสียแต่ต้นลม ไม่ใช่เห็นเค้าอย่างนี้แล้ว ก็ยังยอมตามใจลูกค้าไปหมด
ทั้งๆที่มีลางบอกเหตุไม่ดีอย่างที่ว่า

พนักงานเก็บเงินที่มีเงินใช้จ่ายมากกว่าปกติและลาหยุดบ่อย
ผู้จัดการฝ่ายการเงินต้องสนใจแล้วว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
ไม่ใช่ทำใจเย็นจนกระทั่งพนักงานเก็บเงินคนนั้น
เก็บเงินเชิดหนีไปเป็นแสนๆบาท

นี่คือเรื่องของการรีบหาข้อผิดพลาดโดยเร็วและรีบแก้ไขเหตุการณ์อย่างทันท่วงที
ไม่ต้องมัวมานั่งแก้ตัวอยู่

ต้องการให้ดี ก็แก้ไข ต้องการให้บรรลัย ก็แก้ตัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น