...+

วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ศธ.ยก 9 มหา'ลัย "จุฬา-ธรรมศาสตร์-เกษตร-มหิดล" ขึ้นแท่นเป็น ม.วิจัยแห่งชาติ

ศธ. ยก 9 มหา'ลัย "จุฬา-ธรรมศาสตร์-เกษตร-มหิดล-ขอนแก่น-เชียงใหม่"
ขึ้นแท่นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ พร้อมทุ่มงบ 12,000 ล้านบาท
สนับสนุนงานวิจัย เตรียมเช็กผลงานวิจัยทุก 6 เดือน
หากไม่เข้าตามเกณฑ์มีสิทธิ์ถูกถอดทุกเมื่อ

วันนี้ (24 ส.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า
คณะกรรมการอำนวยการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ
ได้พิจารณามหาวิทยาลัยที่เข้าเกณฑ์ในการประกาศเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ
ซึ่งมีมหาวิทยาลัยที่เสนอเข้ามารับการพิจารณาทั้งสิ้น 15 แห่ง
โดยคณะกรรมการได้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ 1.มหาวิทยาลัยต้องติดอันดับ
1 ใน 500 อันดับมหาวิทยาลัยของโลก 2.หากไม่ติดอันดับใน 500 มหาวิทยาลัย
ต้องมีผลงานวิจัยโดดเด่นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา 500 เรื่อง
ที่ได้รับการตีพิมพ์ระดับสากล และผลงานวิจัยต้องโดดเด่นใน 5 สาขาวิชาหลัก
และมหาวิทยาลัยต้องมีอาจารย์ที่จบปริญญาเอก ไม่น้อยกว่า 40%
ของจำนวนอาจารย์ทั้งหมด

ทั้ง นี้ คณะกรรมการได้พิจารณาเลือกมหาวิทยาลัย 9 แห่ง จาก 15
แห่งที่เข้ารับการพิจารณาให้เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ได้แก่
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยขอนแก่น,
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติทั้ง 9
แห่งนี้ จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก ศธ.9,000 ล้านบาท ในช่วงเวลา 3
ปี (2553-2555) ในการทำงานวิจัย ส่วนมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้รับคัดเลือก 69
แห่ง ศธ.ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณ 3,000 ล้านบาท
เพื่อใช้ในการวิจัยเช่นกัน

"มหาวิทยาลัยทั้ง 9 แห่ง ต้องทำแผนกลยุทธ์เสนอต่อคณะกรรมการ
พิจารณาในการทำวิจัยในช่วงระยะเวลา 1 ปี ต่อจากนี้
เพื่อคณะกรรมการได้พิจารณางบประมาณ ที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดงานวิจัยขึ้น
ทั้งนี้จะมีการประเมินผลทุก 6 เดือน
ถ้าพบมหาวิทยาลัยใดไม่สามารถปฏิบัติตามเกณฑ์ก็จะมีการถอดออกจากการเป็น
มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ
ส่วนมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้รับการคัดเลือกก็ให้ปรับทิศทาง
พัฒนาให้เข้าหลักเกณฑ์
ซึ่งอาจจะมีการประกาศเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติในปี 2554 ต่อไป"
รมว.ศธ.กล่าว

ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.)
กล่าวว่า ได้มีการตั้งเป้าให้มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ
จะต้องทำผลงานวิจัยให้ได้อย่างน้อยปีละ 100 เรื่อง
ซึ่งมหาวิทยาลัยที่ผ่านการคัดเลือกนั้นสามารถทำได้เกินอยู่แล้ว อย่าง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผลงานวิจัยปีละกว่า 1,000 ชิ้น หรือ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ก็มีผลงานวิจัย 100 กว่าชิ้นต่อปี อย่าง
ไรก็ตาม ศธ.คาดหวังว่า
มหาวิทยาลัยต้องทำผลงานวิจัยไม่น้อยกว่าที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ทั้งนี้
เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยขยับอันดับมหาวิทยาลัยโลกให้ดีขึ้น
ขณะเดียวกัน ต้องการกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ พัฒนาผลงานวิจัย
เพื่อให้สามารถไต่เต้าติดอันดับมหาวิทยาลัยโลกเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น