...+

วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

วิทยาลัยประชาคมหนองคายกับการศึกษาไทยลาว

โดย ปราโมทย์ นาครทรรพ
ผมบินไปอุดรฯ เพื่อต่อรถไปหนองคายและข้ามแม่น้ำโขงบนสะพานมิตรภาพไปสาธารณรัฐประชาธิปไตย
ประชาชนลาว เมื่อเช้าวันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน 2552 นี้

เครื่องนกแอร์ซึ่งออกเช้ามืด 6 โมงถึงอุดรฯ ก่อน 7
โมงเปิดโอกาสให้กินไข่กระทะและต้มเลือดหมูเจ้าดังที่อุดรฯ
และไปถึงนครเวียงจันทน์ก่อนทำงาน 9 โมงพอดี

บนเครื่องนั่งติดกันโดยมิได้นัดหมายกับท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง
รศ.ดร.คิม ไชยแสงสุข ปรากฏว่าเราทั้งสองมาด้วยภารกิจเดียวกัน นั่นก็คือ
ในตอนบ่ายสองโมงท่านอธิการฯ
จะต้องมากล่าวต้อนรับและเปิดปฐมนิเทศนักศึกษารามคำแหงใหม่จำนวน 114 คน
นักศึกษาเหล่านั้นขณะนี้เล่าเรียนมา 3
เดือนแล้วที่วิทยาลัยประชาคมนานาชาติหนองคาย-อุดรธานี

ทั้ง 114 คนเป็นคณาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติ
และกระทรวงศึกษาธิการลาว หญิงดูเหมือนจะมากกว่าชายเล็กน้อย อายุตั้งแต่
22 ปีขึ้นไปถึง 50 ปี
เข้าเรียนในโครงการศึกษาต่อเนื่องในฐานะผู้มีประสบการณ์
และจบการศึกษาระดับสูงเทียบเท่าอนุปริญญาแต่ยังมิได้รับปริญญาตรี
เมื่อครบเวลา 2 ปีครึ่ง และทุกคนสอบผ่าน
หลังจากมาเรียนที่หนองคายทุกศุกร์เย็นถึงอาทิตย์ค่ำแล้ว 57
คนก็จะได้รับปริญญาการศึกษาบัณฑิต เอกวิชาการสอนสังคมศาสตร์ อีก 57
คนปริญญาเหมือนกันแต่เอกเทคโนโลยีทางการศึกษา จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ให้ทุนโครงการนี้
หลังจากที่ผมกับประจวบ ไชยสาส์น
อดีตรัฐมนตรีเกือบทุกกระทรวงของประเทศไทยได้ช่วยกันลุ้นอยู่ 3 ปีเต็มๆ
ผมเรียกประจวบโดยไม่มีคำนำหน้ามิใช่เพราะเขาเป็นเพื่อนรักรุ่นเดียวกับ
นิตินัย น้องชายคนสุดท้องของผม แต่เป็นเพราะเขาเป็นนักการเมืองของประชาชน
ประเทศไหนๆ ก็ให้เกียรตินักการเมืองของประชาชนด้วยการเรียกชื่อเฉยๆ
ไม่มีคำนำหน้า

40 ปีมาแล้ว
หน่วยงานข่าวสารและวัฒนธรรมอเมริกาส่งประจวบไปหาผมที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล
เขาเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ได้ทุนเป็นหนึ่งของผู้นำเอเชียในอนาคต

ท่านประจวบ ไชยสาส์น นายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง
เดินมาล่วงหน้ามาคอยอยู่แล้ว
ท่านมีเพื่อนสนิทสมัยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศพร้อมกัน ขณะนี้ท่านสมสวาสดิ์
เป็นรองนายกรัฐมนตรี

พอพวกเราไปถึงเวียงจันทน์ก็ทราบว่า รัฐมนตรีกระทรวงศึกษา สปป.ลาว
คือ ศ.ดร.สมกต มังหน่อเมฆ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว (มช.)
รีบเดินทางจากแขวงไชยบุรีมาถึงก่อนกำหนด เพื่อจะต้อนรับพวกเราเวลา 10.30
น. แต่พอทราบว่าพวกเรามาถึงก่อน ฯพณฯรัฐมนตรีก็ลัดคิวให้หนึ่งชั่วโมง

ท่านรัฐมนตรีได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับท่านนายกสภามหาวิทยาลัยกับท่าน
อธิการบดี มีท่านอัครราชทูตไทยประจำนครเวียงจันทน์เป็นสักขีพยานอยู่ด้วย
ทั้งหมดเห็นพ้องต้องกันว่าลาวไทยต้องร่วมมือกันด้านการศึกษามากขึ้น
ตัวอย่างการศึกษาต่อเนื่องที่หนองคายนี้เป็นโมเดลที่เหมาะสมยิ่ง
สมควรต่อยอดไปอย่างยืดหยุ่น หลากหลายและสอดคล้อง เช่น
การฝึกอบรมวิชาชีพสาขาต่างๆ
ระยะสั้นให้กับบุคลากรทั้งผู้ที่ได้รับปริญญาแล้วและยังมิได้
หรือระยะยาวเพื่อยกระดับบุคลากรให้ได้ปริญญาตรีทั้งหมดในที่สุดได้

ที่วิทยาลัยประชาคมฯ บ่ายสองโมงวันเดียวกัน
ผมได้กล่าวต้อนรับทั้งคณะนักศึกษาลาวและคณาจารย์รามคำแหง
และท่านอัครราชทูตที่กรุณาตามมาเป็นกำลังใจ
โดยเล่าประวัติและความเป็นมาสั้นๆ
ของวิทยาลัยประชาคมที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับนักเรียนที่เสียเปรียบเพราะ
เรียนอยู่นอกเมือง ไม่สามารถแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยใหญ่ได้
เว้นแต่จะมาเรียนกับเราสองปีก่อนแล้วจึงโอนไปมหิดล ศรีนครินทรวิโรฒ
หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยต่างประเทศ
วิทยาลัยเราใช้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแท้ๆ
ของอเมริกาและอังกฤษเป็นผู้สอนและสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด
แต่ค่าเล่าเรียนถูกกว่าสถาบันทุกแห่งที่สอนเป็นภาษาไทย
ภารกิจสำคัญที่เราต้องการจะทุ่มเทที่สุดคือการเรียนรู้ต่อเนื่องของสมาชิกใน
ประชาคมทั้งที่ทำงานแล้ว และยังไม่ทำงานที่ต้องการยกระดับความรู้
ฝีมือหรือรสนิยม

ด้วยเหตุที่เรามีประสบการณ์และลักษณะพิเศษที่ประหยัดพอเพียงและมีสัมฤทธิผล
จึงได้รับความไว้วางใจจากลาวที่ได้ร่วมมือกันมาหลายโครงการแล้ว
แต่นี่มีรามคำแหงมาเป็นไตรภาคีก็จะเข้มแข็งเติบโตยิ่งขึ้น

การปฐมนิเทศของท่านอธิการฯ และท่านนายกสภาฯ
ทำให้ผมทราบว่ารามคำแหงผลิตบัณฑิตไปแล้วเกือบเจ็ดแสนคน
และมีโปรแกรมการเรียนเกือบทุกสาขาวิชาที่ดำเนินการแบบตลาดวิชา คือ
เข้าสบายแต่ออกยาก
มีความยืดหยุ่นสามารถสร้างความร่วมมือสามเส้ากับวิทยาลัยประชาคมและลาวได้
อย่างกว้างขวางสอดคล้องและมีคุณภาพ ผมรู้สึกดีใจมาก

ท่านอธิการฯ ได้นำศิษย์เก่าที่เป็นชาวหนองคายมาด้วย
ที่เป็นอดีตเด็กยากจนบ้านเดียวกับพ่อผม คือ
อำเภอท่าบ่อและเป็นญาติกันด้วย กว่าจะมีโอกาสไปเรียนรามฯ ได้ก็อายุ 60
กว่า จบตรี-โท-และเอกที่รามคำแหงเมื่ออายุเกือบ 70 ปี
เดี๋ยวนี้เป็นมหาเศรษฐี เจ้าของโรงแรมห้าดาว 4 ประเทศ
และโรงงานผลิตมอเตอร์ไซค์ฮอนด้าในลาว เขมร และเวียดนามชื่อ ดร.ขันธ์ชัย
เกียรติศรีธนกร

ตัวอย่างของดร.ขันธ์ชัยทำให้นักศึกษาอายุมากๆ
จากลาวคลายวิตกและมีกำลังใจดีขึ้น
ที่ประชุมปรบมือกราวใหญ่เมื่อดร.ขันธ์ชัยกรุณามอบเงิน 5
หมื่นบาทให้กับโครงการ ทำให้ท่านประธานมูลนิธิไชยสาส์นต้องสมทบอีก 5
หมื่นไม่ให้น้อยหน้ากัน

ท่านนายกสภาฯ บอกว่า ถ้าบัณทิตเก่ารามคำแหงบริจาคคนละ 100 บาท
ก็จะได้ทุนอีก 60 ล้านสามารถขยายโครงการไทยลาวศึกษา
"รามคำแหง-วิทยาลัยประชาคม-มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว" ได้อีกสบายๆ

แท้ที่จริงโครงการที่ดำเนินอยู่ปัจจุบันไม่สู้จะสบายเท่าไร
เข้าทำนองเสียน้อยเสียยาก-เสียมากเสียง่าย มีแต่งบค่าเดินทางมาเรียน
ค่าอาหาร และค่าเบี้ยเลี้ยงที่กระเบียดกระเสียรมาก
ผลที่สุดประสบการณ์ทั้งหมดของเพื่อนลาวก็คงจำกัดอยู่ที่ห้องเรียนห้องพักและ
การเดินทางไปกลับ

ผมจึงได้แนะให้โครงการขอความร่วมมือจากภาคเอกชนและภาครัฐเพิ่มเติม
เพื่อเปิดโอกาสให้เพื่อนลาวได้มีโอกาสรู้จักเพื่อนครูไทย ได้เห็นเมืองไทย
ได้เที่ยวเมืองไทย ได้ร่วมกิจกรรมและทัศนศึกษากับเพื่อนคนไทย
ได้อ่านหนังสือและวารสารไทย
ได้ของที่ระลึกและความจดจำรำลึกที่ดีจากเมืองไทย

ท่านผู้อ่านมีอะไรที่คิดว่าจะแนะนำช่วยเหลือเป็นอาสาสมัครหรือเจ้าภาพ
โปรดติดต่อได้ที่ อาจารย์สำราญ และอาจารย์สุภาพ วิทยาลัยประชาคมฯ โทร.
042-460-514 โทรสาร 042-460-515

มาช่วยกันส่งเสริมมิตรภาพและการศึกษาไทย-ลาว ดีไหมครับ

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000074488

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น