...+

วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

อาสาฬหบูชา : ความหมาย ความสำคัญ

อาสาฬหบูชา


อาสาฬหเป็นชื่อเดือน ๘ อาสาฬหบูชาย่อมาจากคำว่าอาสาฬหบูชา แปลว่า
การบูชาพระ ในวันเพ็ญเดือน ๘ ก่อนวันเข้าพรรษา ๑ วัน ถ้าปีใดมีเดือน
๘ สองครั้ง ก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลัง

วันอาสาฬหบูชา

เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา พระธรรมเทศนากัณฑ์แรก
คือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร คือพระสูตรว่าด้วยการหมุนกงล้อแห่งพระธรรม
ทรงแสดงถึงการประพฤติปฏิบัติที่สุดโต่งเกินไป ๒ ประการ คือ
การหมกมุ่นในกามคุณ (กามสุขัลลิกานุโยค) และการทรมานตนให้ลำบาก
(อัตตกิลมถานุโยค) ต่อมาทรงแสดงทางสายกลาง คือ มัชฌิมาปฏิปทา
และแสดงอริยสัจ ๔

เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงได้ปฐมสาวก
มีพระอริยสงฆ์สงฆ์สาวกองค์แรกเกิดขึ้นในโลก ดาบสโกณทัญญะ
ได้ส่งกระแสจิตไปตามพระธรรมเทศนา ได้ธรรมจักษุ ว่า" ยังกิญจิ
สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมัง " สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา ได้บรรลุโสดาปัตติผล
เป็นพระอริยบุคคลชั้นแรกในพระพุทธศาสนา และได้ทูลขอบวชต่อพระพุทธเจ้า
พระองค์ทรงประทาน เอหิภิกขุอุปสัมปทา
นับเป็นพระภิกษุปฐมสาวกรูปแรกของพระพุทธเจ้า
เป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกของพระพุทธศาสนา

เป็นวันแรกที่บังเกิดรัตนะครบสาม เป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ
พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ คือมีพระพุทธเจ้า พระธรรม
และพระอริยสงฆ์ ครบ

พระธรรมที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้นั้น ลึกซึ้ง
ยากแก่การที่สัตว์ผู้มีธุลีคือกิเลสในดวงตามากจะเข้าใจตามได้
ในขั้นแรกทรงจะไม่แสดงธรรม ท้าวสหัมบดีพรหม ผู้เป็นใหญ่ในมหาพรหม
ทราบพระปริวิตกของพระศาสดา
จึงได้เสด็จลงมาเฝ้าเพื่อทูลอาราธนาให้ทรงแสดงพระธรรม
อาศัยพระมหากรุณาของพระองค์
ที่พระองค์บำเพ็ญบารมีมาตลอดสี่อสงไขยแสนกัปป์ ก็เพื่อ
ที่จะพาหมู่สัตว์ข้ามห้วงโอฆะกันดาร อาศัยพระกรุณานี้เป็นที่ตั้ง
ทรงพิจารณาสรรพสัตว์ทั้งหลายดุจดอกบัว ๔ เหล่า คือ

๑. อุคฆฏิตัญญู ดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ ได้แก่
ผู้ที่มีอุปนิสัยสามารถรู้ธรรมวิเศษได้ทันทีทันใดในขณะที่มีผู้สอนสั่ง
เปรียบเหมือนดอกบัวที่โผล่ขึ้นพ้นน้ำแล้ว
พร้อมที่จะบานเมื่อได้รับแสงพระอาทิตย์ในวันนั้น

๒. วิปัจจิตัญญู ดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำ ได้แก่
ผู้ที่สามารถจะรู้ธรรมวิเศษได้ ต่อเมื่อท่านขยายความย่อให้พิสดารออกไป
เปรียบเหมือนดอกบัวที่ตั้งอยู่เสมอระดับน้ำ จักบานในวันรุ่งขี้น

๓. เนยยะ ดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ได้แก่ ผู้ที่พากเพียรพยายาม ฟัง คิด
ถาม ท่องอยู่เสมอ ไม่ทอดทิ้ง จึงได้รู้ธรรมวิเศษ
เปรียบเหมือนดอกบัวที่ยังไม่โผล่ขึ้นจากน้ำ ได้รับการหล่อเลี้ยงจากน้ำ
แต่จะโผล่แล้วบานขี้นในวันต่อๆไป

๔. ปทปรมะ ดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ได้แก่ ผู้ที่แม้ฟัง คิด ถาม
ท่องแล้ว ก็ไม่สามารถรู้ธรรมวิเศษได้
เปรียบเหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำติดกับเปือกตม
รั้งแต่จะเป็นภักษาหารแห่งปลาและเต่า

พิธีกรรมที่กระทำในวันนี้ โดยทั่วไป คือ ทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล
เวียนเทียน ฟังพระธรรมเทศนา (ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร) และสวดมนต์
และเราควรพิจารณาถึงชีวิตเราว่าได้เจริญงอกงามขึ้นด้วยความเป็นอยู่อย่างผู้รู้เท่าทันโลกและชีวิตนี้
เพียงใด เรายังดำเนินชีวิตอยู่อย่างลุ่มหลงมัวเมาหรือมีจิตใจอิสระปลอดโปร่งผ่องใส
เพียงใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น