...+

วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

วิกฤตประเทศไทย

โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช 19 กรกฎาคม 2552 15:28 น.
การทำความเข้าใจเกี่ยวกับสังคม-การเมืองไทย

สังคมไทยไม่ใช่สังคมที่มีเอกภาพอย่างที่พูดกัน
หากมีความแตกต่างหลากหลายทั้งทางด้านเชื้อชาติ และภูมิภาค

สังคมไทยไม่มีประสบการณ์ร่วมกันที่เป็นวิกฤตขั้นรุนแรงเหมือนสังคมอื่น
เช่น ผลกระทบจากสงคราม

สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในระยะ 30 ปีที่ผ่านมา
ได้แก่ การเผชิญกับกระแสโลกาภิวัตน์ทำให้เกิดการล้มทลายทางเศรษฐกิจ
และความจำเป็นในการปรับตัว
เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของการดำเนินกิจการทางเศรษฐกิจให้เป็นไปตาม
มาตรฐานสากล

สังคมไทยขาดประสบการณ์ในการแก้ปัญหาร่วมกัน
จึงเกิดความรุนแรงและการเผชิญหน้ามากกว่าการประนีประนอม

สังคมไทยยังมีประชากรที่มีความยากจน ด้อยโอกาสทางด้านการศึกษา

สังคมไทยยังมีการสื่อสารทางการเมืองน้อย
และมีการสื่อสารที่บิดเบือนข้อมูล และข้อเท็จจริง
สื่อของรัฐบาลยังไม่มีการให้การศึกษาทางการเมืองอย่างเป็นระบบ

ในส่วนที่เกี่ยวกับการเมืองไทยนั้น มีลักษณะพิเศษดังนี้

การเมืองไทยมีการปรับโครงสร้างทางการเมือง
จนปัจจุบันมีโครงสร้างที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญๆ และมีความซับซ้อน
มีการจัดความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายต่างๆ
ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดมาจากพฤติกรรมทางการเมืองเป็นสำคัญ

การเมืองไทยเพิ่งจะเปิดกว้าง มีระบอบประชาธิปไตยเต็มรูปเมื่อ 30
ปีที่แล้ว และเป็นประชาธิปไตยที่สถาบันหลักคือ
พรรคการเมืองขาดความเข้มแข็ง
และมีบทบาทจำกัดเฉพาะการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเท่านั้น

การเมืองไทยในอดีตไม่เปิดโอกาสให้เกิดความสัมพันธ์ทางการเมือง
ระหว่างสถาบันทางการเมืองกับประชาชนที่แน่นแฟ้น
ไม่เปิดโอกาสให้เกิดการพัฒนาพรรคการเมือง และผู้นำทางการเมือง
ทั้งนี้เป็นเพราะขาดการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อเนื่อง

การเมืองไทยมีการดำเนินการที่แสวงหาผลประโยชน์ระยะสั้น
ก่อให้เกิดการคอร์รัปชัน
การอาศัยตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์อย่างกว้างขวาง

การเมืองไทยมีปัญหาด้านเสถียรภาพ และความต่อเนื่อง
เพราะมีรัฐบาลที่ประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค
ในบางระยะมีพรรคการเมืองพรรคเดียวแต่ก็อยู่ได้ไม่นาน

การเมืองไทยเป็นการเมืองที่พลังภายนอกระบบรัฐสภามีบทบาทสูง
และไม่เชื่อมโยงกับพรรคการเมืองจึงเกิด "การเมืองสองกระแส" คือ
การเมืองภายในสภา และการเมืองภายนอกสภา

พลังกดดันและการขยายตัวของพลังจากองค์กรเอกชน
และองค์กรประชาชนมีมากขึ้น และนำไปสู่ความขัดแย้งของคู่แข่งขัน
ทั้งระหว่างพรรคการเมืองกับความขัดแย้งระหว่างสถาบันทางการเมืองกับองค์กร
ประชาชน

ฝ่ายตุลาการ
และองค์กรอิสระได้มีบทบาทมากขึ้นในการทำการตรวจสอบฝ่ายการเมือง
ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อพรรคการเมือง

มีความตระหนักถึงความเสื่อมโทรมทางการเมือง
และมีการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงลักษณะด้วยทางการเมืองให้ไปสู่
"การเมืองใหม่" โดยเฉพาะทางด้านพฤติกรรมของนักการเมือง

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมีผลกระทบอย่างมากต่อการเมือง
แต่ปัญหาทางการเมืองทำให้การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นไปได้ยาก

จากปัญหาทางสังคม และการเมืองดังกล่าวมานี้
ชี้ให้เห็นว่าการแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศนั้น
จะต้องมีการปฏิรูปทางการเมืองที่เน้นการเปลี่ยนพฤติกรรมของนักการเมือง
แทนที่จะมุ่งปรับโครงสร้างทางการเมือง

การเปลี่ยนพฤติกรรมของนักการเมือง ต้องทำสองด้านควบคู่กันไป คือ
อาศัยมาตรการทางกฎหมาย และมาตรการทางการพัฒนาพฤติกรรม
ทางด้านกฎหมายจะต้องมีการดำเนินการปราบปรามการใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์
อย่างจริงจัง ทางด้านการพัฒนาพฤติกรรมนั้น
ต้องมีการพัฒนานักการเมืองที่ทำอย่างเป็นระบบ ทั้งจากพรรคการเมืองเอง
และจากสถาบันการศึกษา

ที่จำเป็นและสำคัญก็คือ การตรวจสอบจากทางสังคมซึ่งทำผ่านสื่อมวลชน
หากประชาชนมีความตื่นตัวและมีข้อมูลข่าวสารที่สมบูรณ์
ก็จะสามารถนำไปใช้ในการประเมินพฤติกรรมของนักการเมืองได้
ดังที่ปรากฏในกรณีของ ASTV

เราไม่อาจหวังให้วิกฤตของประเทศไทยหมดไปได้ในเวลาอันรวดเร็ว
แต่การเปลี่ยนแปลงในจุดสำคัญของการเมืองอาจชะลอวิกฤตได้ จุดที่สำคัญคือ
การจัดการความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มที่มีความตื่นตัว
และการเคลื่อนไหวสูง

อย่างไรก็ตาม
การจัดการกับความขัดแย้งนี้เป็นไปได้ยากจนกว่าจะมีการดำเนินการทางคดีความ
กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งต้องใช้เวลา 2-3 ปี
ระหว่างนี้การเคลื่อนไหวทางการเมืองจากฝ่ายสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ
ก็จะมีต่อไป การป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง
และการขยายตัวของขบวนการนี้เป็นสิ่งเดียวที่ทำได้

การเมืองภายในและภายนอกสภามีความเกี่ยวข้องกันในกรณีที่มีการเลือก
ตั้งใหม่ และฝ่ายสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับเลือกตั้งเข้ามามาก
การกดดันนอกสภาก็จะลดน้อยลง โดยจะมีความพยายามที่จะแก้ไขกฎหมายแทน
แต่ฝ่ายต่อต้านก็จะเคลื่อนไหวคัดค้าน ดังนั้น
ปัญหาการเมืองและวิกฤตประเทศไทย
จึงเป็นปัญหาด้านบุคคลมากกว่าปัญหาด้านระบบ
พิจารณาในแง่นี้จึงไม่ใช่ปัญหาที่ร้ายแรง และไม่ใช่ปัญหาระยะยาว

การแก้วิกฤตประเทศไทย ควรอาศัยการสื่อสารทางการเมืองเป็นด้านหลัก
การให้ข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้อง และกว้างขวางทำให้ประชาชนมีความเข้าใจ
และลดความขัดแย้งระหว่างประชาชนได้ บทบาทของเคเบิลทีวี
และวิทยุชุมชนมีความสำคัญ
โดยจะต้องมีการกำกับดูแลการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร
และการปลุกระดมประชาชนให้ใช้ความรุนแรงด้วย

เรา ควรคิดว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ นี้เป็นเรื่องธรรมดา
ส่วนจะมีผลสะเทือนทางด้านร้ายมากน้อยเพียงใดนั้น
ขึ้นอยู่กับการจัดการกับวิกฤตนั้นที่ต้องอาศัยกระบวนการแก้ปัญหาที่มีการ
ประนีประนอม และการเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000081454

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น