ปฏิเสธ ไม่ได้ว่าสถานศึกษาและครูในระดับประถมศึกษา
กลายเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่เป็นเครื่องมือของกลุ่มก่อความไม่สงบ
ใช้ก่อเหตุเพื่อส่งสารบางอย่างถึงรัฐบาล
โดยมีจุดปะทุร่วมกับเหตุการณ์ปล้นปืน 4 มกราคม 2547 จากกองพันพัฒนาที่ 4
ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส
ซึ่งคนร้ายได้ลอบวางเพลิงโรงเรียน 20 แห่งใน จ.นราธิวาสในวันเดียวกัน
ขณะที่เหตุร้ายยังเกิดกับครูอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดคนร้ายได้ลอบยิง
น.ส.เลขา อิสสระ ครูโรงเรียนบ้านพอเม็ง ต.กายูบอเกาะ อ.รามัน จ.ยะลา
เสียชีวิตเป็นศพที่ 4 หลังจากเปิดภาคเรียนการศึกษา 2552
ฉุดยอดครูและบุคลากรทางการศึกษากลายเป็นเหยื่อไฟใต้พุ่งแตะลำดับที่ 115
ในรอบกว่า 5 ปีแล้ว
ณ โรงเรียนบ้านเจ๊ะเก ต.บาโงสะโต อ.ระแงะ จ.นราธิวาส
ร่องรอยแห่งความสูญเสียและคราบน้ำตายังไม่เลือนหายจากความทรงจำ
เพราะที่นี่เป็นโรงเรียนแห่งเดียวที่ยังไม่มีอาคารเรียนใหม่มา 2 ปีแล้ว
นับแต่ถูกคนร้ายลอบวางเพลิงย่ำรุ่งวันที่ 13 กันยายน 2550
และก่อนหน้านั้นวันที่ 11 มิถุนายน ปีเดียวกัน ยังเกิดเหตุสะเทือนขวัญ
คนร้ายยิงนายสมหมาย เหล่าเจริญสุข ครูโรงเรียนบ้านเจ๊ะเก เสียชีวิต
ทำให้ครูทยอยกันออกไปช่วยราชการที่อื่นเกือบหมด
เหลือแต่ครูที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่เท่านั้น
"เผา โรงเรียนผมทำไม พวกผมทำผิดอะไร
ถ้าทำร้ายครูแล้วใครจะมาสอนพวกผม" ด.ช.มาหามะซัมรี เจ๊ะหามา นักเรียนชั้น
ป.5/2 ตั้งคำถามโดยที่ไม่มีใครให้คำตอบได้
เพราะทุกวันนี้พวกเขาและรุ่นพี่ต้องเสียสละห้องเรียนให้รุ่นน้อง
ด้วยการนั่งเรียนในเต็นท์และใต้ถุนอาคารเรียนและใต้ร่มไม้เผชิญแดดฝนตามแต่
ฤดูกาลร่วม 2 ปีแล้ว
จากเหตุร้ายซ้ำซ้อนทำให้เกิดช่องว่างระหว่างการดำเนินงานขอสร้าง
อาคารใหม่ให้ล่าช้า เนื่องจากช่วงที่ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเจ๊ะเก
ต้องรักษาการแทนที่อีกโรงเรียนหนึ่ง จึงแต่งตั้งครูที่รักษาการแทน
แต่ด้วยความไม่เข้าใจขั้นตอนต่างๆ
ว่าโรงเรียนต้องทำอย่างไรเพื่อให้ได้อาคารเรียนหลังใหม่หลังจากถูกลอบวาง
เพลิง และคิดว่าเป็นความรับผิดชอบของสำนักงานพื้นที่เขตการศึกษา
ดำเนินการทุกอย่างเอง อีกทั้งการบริหารเงินไม่ชัดเจน
หลังจากจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนใหม่จึงเหลือเงินไม่เพียงพอสร้างอาคารเรียน
ชั่วคราว
นั่นเป็นสาเหตุให้การดำเนินการเรื่องขออาคารเรียนใหม่ชะงักไปโดย
ปริยาย แต่หลังจากที่เกิดความเข้าใจและเร่งดำเนินการประสานงานแล้ว
ล่าสุดได้รับการยืนยันว่าจะได้อาคารเรียนใหม่อย่างแน่นอนโดยงบประมาณจากเงิน
กู้ของรัฐบาล ซึ่งอย่างน้อยนักเรียนรุ่นน้องอย่างเขาก็คงจะได้มีอาคารเรียนถาวรมาตรฐาน
เสียที
ด.ช.มาหามะซัมรี เจ๊ะหามา เล่าต่อว่า
การมาเรียนแต่ละวันต้องอดทนสูง เพื่ออนาคตข้างหน้าจะได้มีโอกาสดีๆ
เข้ามาในชีวิตเฉกเช่นเพื่อนวัยเดียวกันในจังหวัดอื่นๆ
แม้ว่าหน้าฝนต้องทนเปียกจากละอองฝนที่กระเด็นเล็ดลอดผ่านเต็นท์ผ้าใบ
ซึ่งเป็นอาคารเรียนชั่วคราว ส่วนหน้าร้อนก็ต้องไอแดดร้อนระอุ
ด้านนาย อาดุลย์ พรมแสง
ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส เขต3 (สพท.)
กล่าวยอมรับว่า การป้องกันเหตุวางเพลิงที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนต่างๆ ใน 3
จังหวัดชายแดนใต้
ต้องร่วมมือกับทุกฝ่ายดูแลทรัพย์สินด้วยความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันให้ได้
มากที่สุด ทั้งผู้ปกครอง ครู นักเรียน และเจ้าหน้าที่
เพื่อเป็นเกราะป้องกันเหตุและให้นักเรียนได้มีสถานที่เรียน
เต็นท์เรียนหนังสือชั่วคราวของโรงเรียนบ้านเจ๊ะเก จ.นราธิวาส
ในขณะที่ความปลอดภัยของครูนั้น มาตรการดูแลความปลอดภัยครู
ได้มีการปรับแผนเป็นระยะ
โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้รับผิดชอบจัดให้มีกำลังดูแลความปลอดภัยเส้น
ทาง ซึ่งก่อนเดินทางจะมีการนัดแนะจุดรวมกลุ่มแต่ละวันเพื่อเดินทางเป็นหมู่คณะ
ขณะที่กำลังทหารรับผิดชอบการลาดตระเวนเส้นทางของครูและตั้งจุดเฝ้า
ทางทั้งช่วงเช้า-เย็น
เจ้าหน้าที่สามารถดูแลครูและนักเรียนได้อย่างต่อเนื่อง
แม้จะมีการสับเปลี่ยนกำลังก็ตาม และเสริมด้วยการใช้กำลังชุด ชรบ. กำนัน
ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบในทุกพื้นที่คอยเป็นหูเป็นตา
รวมถึงรับผิดชอบเส้นทางในหมู่บ้าน รายงานสิ่งผิดปกติ บุคคล
วัตถุต้องสงสัย
ทว่าแม้ก่อนเปิดเทอมจะมีการวางแผนและซักซ้อมมาตรการรักษาความปลอดภัย
ร่วมกันกับหลายหน่วยงานทุกครั้ง แต่ก็สร้างความมั่นใจแก่ครูได้ 60%
เท่านั้น และไม่สามารถป้องกันเหตุได้ทั้ง 100% ด้วยมีปัจจัยอื่นๆ
เข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งครูและเจ้าหน้าที่ไม่สามารถปฏิบัติตามแผนได้ทั้ง
100% เช่น ครูต้องทำงานเลยเวลาทำให้ออกไปล่าช้า ซึ่งเลยเวลาการ
รปภ.ของชุดลาดตระเวนในจุดนั้นไปแล้ว
หรือบางครั้งเกิดจากความชะล่าใจของครูเองที่ออกจากโรงเรียนโดยไม่
ประสานงานเจ้าหน้าที่ก่อน ด้วยเหตุว่าเหตุร้ายทิ้งช่วงมานาน
แม้แต่การจัดเส้นทางที่ไม่สะดวกทำให้ต้องใช้เวลาเดินทางมากขึ้น
และบางครั้งการเดินทางร่วมกับเจ้าหน้าที่ก็ทำให้ครูตกเป็นเหยื่อเสียเอง
ความมั่นใจอีก 40% นั้นจึงต้องพึ่งกำลังในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น ชรบ.
ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และครูต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
จาก การปฏิบัติการของกลุ่มก่อความไม่สงบที่พยายามแยกครู นักเรียน
และโรงเรียน ออกจากกัน ความไม่มั่นใจความปลอดภัยส่งผลให้ครูใน สพท.เขต 3
นราธิวาส ขอช่วยราชการทั้งหมด 142 คน โดยมีตัวเลขครูไทยพุทธสูงถึง 117 คน
จากครูทั้งหมด 1,232 คน
ขณะเดียวกันก็ได้สร้างความกลมเกลียวระหว่างเพื่อนครู ชุมชน
และเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะครูไทยพุทธซึ่งจะได้รับการดูแลจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดีเยี่ยงไข่ในหิน
ด้วยเกรงว่าการขาดครูในพื้นที่จะทำให้นักเรียนขาดความเข้าใจในการเรียน
โดยเฉพาะภาษาไทยซึ่งเป็นอาวุธสำคัญในการสื่อสารและการเรียนระดับมาตรฐานทุก
วิชา ซึ่งปัจจุบันผลกระทบจากเหตุร้ายฉุดให้ผลการสอบวัดผลกลาง หรือ
คะแนนโอเน็ตของนักศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในอันที่ 74-76
ของประเทศ
เรื่อง นี้คงต้องจับตาการแก้ไขปัญหาของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการว่าจะได้ผลเพียงใด
โดยเฉพาะการเร่งแก้ไขกฎหมายรองรับการจัดตั้งสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด
ที่ให้มีใน 5 จังหวัด คือ สตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา
โดยจะมีสำนักงานการศึกษาเอกชนทุกอำเภอของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4
อำเภอของจังหวัดสงขลา รวม 37 อำเภอ
และจัดงบประมาณการศึกษาในจังหวัดภาคใต้ ปี 2553 ไว้กว่า 1,400 ล้านบาท
พร้อมทั้งขับเคลื่อนนโยบาย 3 ด้าน ได้แก่
1.การจัดงบประมาณพัฒนาเฉพาะสำหรับวิชาภาษาไทย
การพัฒนาครูทั้งการศึกษาสายสามัญและอิสลามศึกษา
และการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีครูที่สอนในวิชาที่จบตรงตามวิชาเอก
ซึ่งส่งผลต่อเด็กนักเรียนโดยตรง จึงต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วย
ในรูปแบบโรงเรียนไกลกังวลที่มีการสอนทางไกล
โดยต้องจัดตารางสอนให้สอดคล้องกัน เพื่อให้สามารถเรียนไปพร้อมกัน
นอกจากนี้ ยังมีวงเงิน 388
ล้านบาทช่วยให้ครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในส่วนข้าราชการ
พนักงานราชการและครูอัตราจ้าง ได้รับเบี้ยเสี่ยงภัยเพิ่มอีกเดือนละ 1,500
บาท จากปัจจุบันที่ ได้รับคนละ 1,000
ต่อเดือนโดยจะให้ย้อนหลังตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2551 ถึง กันยายน 2552
แต่เอาเข้าจริงแล้วก็ต้องติดตามอีกว่าเม็ดเงินเหล่านี้จะถึงมือครูเมื่อไหร่
เพราะการจ่ายเงินเสี่ยงภัยที่ผ่านมาดูเหมือนจะมีนโยบายโดยมีเม็ดเงินรองรับ
ไม่เพียงพอเสียที
ใน ส่วนของความเสียหายทรัพย์สินของโรงเรียน
จากข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ กระทรวงศึกษาธิการ
(ศปก.ศธ.) รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547-19 มกราคม 2552
มีเหตุลอบวางเพลิงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา รวม
305 ครั้ง ได้แก่ จ.ปัตตานี 119 ครั้ง, จ.นราธิวาส 93 ครั้ง และ จ.สงขลา
21 ครั้ง โดยเหตุเกิดมากที่สุดในปี 2550 รวม164 ครั้ง
หรือเฉลี่ยแล้วในแต่ละสัปดาห์จะมีโรงเรียนถูกลอบวางเพลิง 1 แห่ง
กระทบถึงโรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอนเฉลี่ย 30-40 วัน/ปี
อย่างไรก็ตาม
แม้ว่ารายงานดังกล่าวจะไม่มีการรายงานความเสียหายของทรัพย์สิน
ทั้งวัสดุอุปกรณ์ และตัวอาคารซึ่งหลายแห่งต้องสร้างใหม่
แต่จากข้อมูลการประเมินความเสียหายของโรงเรียนที่ถูกลอบวางเพลิง
เฉพาะในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปัตตานี เขต 3 ปี 50 รวม 25 แห่ง
ตั้งแต่ เม.ย.-ธ.ค.พบว่ามีความเสียหายถึง 49,831,000 บาท
โดยมีระดับความเสียหายตั้งแต่ 1,000-4,800,000 บาท
ซึ่งเป็นความเสียหายเพียงเล็กน้อยที่ไม่กระทบต่อการจัดห้องเรียน
จนถึงระดับอาคารเรียนและวัสดุอุปกรณ์เสียหายทั้งหมด
เกือบ 6 ปีที่เกิดเหตุความไม่สงบ
ส่งผลให้รากฐานการศึกษาถูกมอดกัดกร่อนชอนไชจนอ่อนแออย่างเห็นได้ชัด
ตลอดจนการสูญเสียทรัพย์สินและลมหายใจแม่พิมพ์ของชาติอันประเมินค่าคุณูปการ
ของการเสียสละนี้มิได้
น่าจะเป็นสิ่งตอกย้ำให้รัฐบาลตระหนักถึงการเร่งแก้ไขปัญหา
และทุ่มเทแรงกาย ความจริงใจที่จะทำให้ครู โรงเรียน
และนักเรียนได้กลับมาอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุกอีกครั้ง
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000071605
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น