...+

วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2552

แพทย์ชี้รูมาตอยด์เพชฌฆาตเงียบ หญิงเสี่ยงกว่าชาย คาดไทยป่วยกว่า 2 แสนคน

แพทย์ชี้รูมาตอยด์เพชฌฆาตเงียบ หญิงเสี่ยงกว่าชาย คาดไทยป่วยกว่า 2 แสนคน

แพทย์ ชี้ รูมาตอยด์เพชฌฆาตเงียบสุดทรมาน
รู้ตัวช้าโอกาสหายขาดไม่เกิน 10% ผู้หญิงเสี่ยง 80-90% มากกว่าผู้ชาย
เหตุฮอร์โมนหญิงมีส่วนก่อให้เกิดโรค คาดคนไทยป่วยกว่า 2 แสนคน

พญ.รัตนวดี ณ นคร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรครูมาตอยด์
ในฐานะนายกสมาคมรูมาติสซัมแห่งประเทศไทย กล่าวในการสัมมนา
"อยู่อย่างเป็นสุขกับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์" ว่า
ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการสำรวจสถานการณ์ของโรครูมาตอยด์อย่างเป็นทางการ
แต่มีการประมาณการจากการสำรวจขั้นพื้นฐาน พบว่า ทุกๆ 1,000 คน
จะมีผู้เป็นโรครูมาตอยด์ประมาณ 2-3 คน
ตัวเลขเบื้องต้นทั้งประเทศน่าจะอยู่ที่ 200,000 คน
โดยช่วงอายุที่เป็นมากที่สุด คือ ช่วง 30-40 ปี และจะเป็นในเพศหญิงถึง
80-90% เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงมีส่วนสำคัญในการเกิดโรค

"แนว โน้มในประเทศไทยโรคนี้มีเพิ่มมากขึ้น เพราะคนรู้จักมากขึ้น
ขณะที่ในอดีตที่ผ่านมามักจะไม่ทราบว่าเป็นโรคนี้
เพราะส่วนใหญ่จะคิดว่าเป็นโรคเกี่ยวกับข้อ หรือกระดูก
ซึ่งโรคนี้หากรักษาตั้งแต่เริ่มต้น หรือระยะแรกๆ
จะสามารถรักษาหรือควบคุมได้ถึง 60-85%
แต่ส่วนใหญ่มักจะรู้หลังจากเป็นไปมากแล้ว ทำให้โอกาสหายขาดไม่เกิน 10%
โรคนี้ถือว่าเป็นเพชรฆาตเงียบที่ทรมานผู้ป่วยเป็นอย่างยิ่ง"พญ.รัตนวดี
กล่าว

นายไพบูลย์ เอี่ยมแสงชัยรัตน์ ประธานชมรมเรียนรู้สู้รูมาตอยด์
ซึ่งเป็นผู้ที่มีมารดาป่วยโรครูมาตอยด์ กล่าวว่า
โรคนี้อาจจะไม่ถึงเสียชีวิต แต่ทรมาน
ในอดีตข้อมูลของโรคนี้ค่อนข้างจะหายาก
ทำให้หลายคนไม่เข้าใจว่าเป็นโรคอะไร
หลายคนหมดกำลังใจจนไม่สามารถอยู่ในสังคมได้
จึงมีการจัดตั้งชมรมเพื่อให้ผู้ป่วยและญาติอยู่กับโรคนี้อย่างมีความสุข
ซึ่งญาติและผู้ป่วยสามารถติดต่อกับชมรมที่ โทร.085-6756-472

สำหรับโรครูมาตอยด์นั้น สมาคมรูมาติสซัมแห่งประเทศไทย
ให้ข้อมูลว่า โรครูมาตอยด์เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเด่น
คือ มีการงอกของเยื่อบุข้ออย่างมาก
เยื่อบุข้อนี้จะลุกลามและทำลายกระดูกและข้อในที่สุด
โรคนี้มิได้เป็นแต่เฉพาะข้อเท่านั้น ยังอาจมีอาการทางระบบอื่นๆ อีก เช่น
ตา ประสาท กล้ามเนื้อ เป็นต้น และยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน
แต่จากการศึกษาพบว่าโรคนี้มีส่วนเกี่ยวกับการติดเชื้อบางอย่าง
และมีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม

ส่วนอาการในระยะแรก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการอ่อนเพลีย ปวดตามข้อ
มีอาการฝืดขัดข้อเป็นเวลานานในตอนเช้า เมื่อมีอาการชัดเจนข้อจะมีการบวม
ร้อน และปวด โรคนี้สามารถเป็นได้กับทุกข้อของร่างกาย
แต่ที่พบบ่อยคือข้อของนิ้วมือ ข้อมือ ข้อเข่า ข้อเท้า และข้อนิ้วเท้า
อาการของข้ออักเสบจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป
ในบางรายอาจมีอาการรุนแรงแบบเฉียบพลันได้ บางรายอาจมีไข้ เบื่ออาหาร
และน้ำหนักลดร่วมด้วยได้ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการทางระบบตา ปอด
และมีปุ่มขึ้นตามตัวได้

การรักษาทำได้โดยการใช้ยา การพักผ่อน และการบริหารร่างกาย
การป้องกันไม่ให้ข้อถูกทำลายมากขึ้น
หลีกเลี่ยงการนั่งพับเข่าในกรณีที่มีข้อเข่าอักเสบ
หรือการบิดข้อมือในกรณีที่มีข้อมืออักเสบ
และการผ่าตัดซ่อมแซมหรือเปลี่ยนข้อในกรณีที่ข้อถูกทำลายไปมาก
หรือกรณีที่เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เอ็นขาด เป็นต้น
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000070954

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น