...+

วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

บีโอไอ:ทิศทางปฏิรูปการบริการราชการ เพื่อเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ

โดย ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์


ปัจจุบันมีการกล่าวกันว่ากฎระเบียบของทางราชการเป็นความชั่วช้าที่จำเป็น
กล่าวคือ หากไม่มีกฎระเบียบแล้ว สังคมจะเกิดปัญหาในรูปแบบต่างๆ
รัฐบาลจึงจำเป็นต้องกำหนดกฎระเบียบเพื่อแก้ไขปัญหาความล้มเหลวของตลาดและ
คุ้มครองผลประโยชน์ของสาธารณชน ดังนั้น หากเป็นกฎระเบียบที่ดีและมีเหตุผล
จะส่งผลดีในการช่วยคุ้มครองผลประโยชน์ของสาธารณชน
ช่วยเหลือให้กลไกตลาดสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น
และส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

แต่สำหรับประชาชนทั่วไปแล้ว
กฎระเบียบได้ก่อให้เกิดความไม่สะดวกในการดำเนินธุรกิจอันเป็นผลจากการส่งมอบ
บริการสาธารณะ (Service Delivery) ของหน่วยราชการต่างๆ
ที่เป็นไปอย่างไม่มีคุณภาพ กล่าวคือ
แม้กฎระเบียบได้เริ่มต้นขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ในเชิงบวกก็ตาม
แต่มีการออกกฎระเบียบมากและจุกจิกเกินไป
โดยเฉพาะกรณีเป็นกฎระเบียบที่มีคุณภาพต่ำและเป็นกฎระเบียบที่ไม่ชัดเจน
ก่อให้เกิดการตีความแตกต่างกัน
รวมถึงการดำเนินการบังคับใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ เป็นปฏิปักษ์
และเป็นไปตามอำเภอใจ

ยิ่งกฎระเบียบยุ่งยากมากเท่าไร
ภาคธุรกิจยิ่งมีแนวโน้มจ้างที่ปรึกษาหรือตัวแทนไปติดต่อหน่วยราชการมากขึ้น
เท่านั้น ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น ยิ่งไปกว่านั้น
การจัดทำกฎระเบียบและการบังคับใช้ยังเป็นไปอย่างบกพร่อง
ทำให้ง่ายต่อทั้งบรรดานักการเมืองและข้าราชการประจำที่จะแสวงหาผลประโยชน์
ส่วนตัว นำไปสู่ปัญหาคอร์รัปชันติดตามมา
ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงประชาชน
ทำให้ต้องซื้อสินค้าหรือบริการในราคาสูงตามไปด้วย
เนื่องจากต้องบวกค่าน้ำร้อนน้ำชา
รวมถึงค่าวิ่งเต้นเข้าไปในราคาสินค้าที่จำหน่ายด้วย

ประเด็นสำคัญที่ต้องคิด คือ จะสร้างกฎระเบียบที่ฉลาด (Smart
Regulation) ได้อย่างไร
ซึ่งจากประสบการณ์ของหลายประเทศมักมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ
ยิ่งระยะเวลาผ่านไปมากเท่าใด
กฎระเบียบของหน่วยราชการมักมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
และเมื่อถึงจุดใดจุดหนึ่งแล้ว
รัฐบาลจำเป็นต้องยื่นมือเข้ามาปฏิรูปกฎระเบียบเหล่านี้ให้มีลักษณะเรียบง่าย
ชัดเจน โปร่งใส และมีเหตุมีผลมากยิ่งขึ้น

สำหรับกรณีของประเทศไทยก็ได้ตื่นตัวในเรื่องนี้
โดยรัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551
กำหนดจะจัดระบบบริหารราชการให้ยืดหยุ่น คล่องตัว รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ
โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้
เพื่อให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลในการส่งมอบบริการสาธารณะแก่ประชาชน

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหากฎระเบียบและเพิ่มคุณภาพบริการของทาง
ราชการให้แก่ประชาชนนั้น สามารถดำเนินการได้อย่างหลายประการดังนี้

ประการแรก การปฏิรูประบบราชการ
รวมถึงเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมของข้าราชการ เป็นต้นว่า นาย Ma
Ying-Jeou ประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวัน
ซึ่งชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเมื่อเดือนพฤษภาคม 2550
โดยมีประเด็นหาเสียงสำคัญ คือ
การปรับปรุงระบบราชการให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นและลดปัญหาคอร์รัปชัน
เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาได้มีการกล่าววิพากษ์วิจารณ์ข้าราชการไต้หวันเป็น
อย่างมากว่า มีประสิทธิภาพต่ำและทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนเมื่อภาคธุรกิจประสบปัญหา

ภายหลังรับตำแหน่งประธานาธิบดี นาย Ma Ying-Jeou
จึงได้ประกาศว่าข้าราชการของไต้หวันจะต้องเอาใจใส่ให้มากขึ้นถึงปัญหาและ
ความยากลำบากของประชาชน
และควรจะเดินทางออกนอกสำนักงานอยู่เสมอเพื่อพบปะทำความเข้าใจถึงปัญหาของ
ประชาชนและกระตือรือร้นช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหา

ทั้งนี้กระบวนการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมข้างต้นไม่ใช่เรื่อง
ง่าย ต้องใช้เวลาและการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากฝ่ายการเมือง
เนื่องจากข้าราชการบางส่วนมักต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
ด้วยหวั่นเกรงว่าจะกระทบต่อผลประโยชน์ของตนเอง
โดยเฉพาะกรณีลดขั้นตอนและกฎระเบียบซึ่งจะทำให้อำนาจของตนเองลดลงด้วย

ประการที่สอง ทบทวนกฎระเบียบของทางราชการที่เป็นภาระของประชาชน
และมีคำพูดที่ใช้กันมากในสหรัฐฯ คือ "Get Government off the backs of
the people" หรือ "เอารัฐบาลออกจากหลังของประชาชน" โดย
แต่ละประเทศจะดำเนินการแตกต่างกันไป เป็นต้นว่า
รัฐบาลสิงคโปร์ได้ดำเนินการทบทวนกฎระเบียบประมาณ 9,600 รายการ
ในจำนวนนี้ได้ตัดสินใจยกเลิกกฎระเบียบไปแล้ว 1,200 รายการ
และได้ปรับปรุงกฎระเบียบให้เรียบง่ายลงอีก 2,300 รายการ

สำหรับแนวคิดในการทบทวนกฎระเบียบข้างต้น
รัฐบาลสิงคโปร์มีทัศนคติว่าจะต้องบริหารความเสี่ยง (Manage Risk)
ไม่ใช่กำจัดความเสี่ยง (Eliminate Risk)
และได้ยกตัวอย่างกฎระเบียบเดิมที่กำหนดให้พนักงานทุกคนต้องเอกซเรย์ปอดทุก
2 ปี ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้วิเคราะห์ผลการเอกซเรย์ปอดดังกล่าวแล้วพบว่าสามารถ
ที่จะยกเลิกการเอกซเรย์ปอด
โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศแต่อย่างใด
เป็นการลดภาระของภาคราชการและภาคเอกชนทั้งในรูปค่าใช้จ่ายและความไม่สะดวก

สำหรับรัฐบาลมาเลเซียได้จัดตั้งคณะทำงานพิเศษเฉพาะกิจด้านการอำนวย
ความสะดวกแก่ธุรกิจ (Special Task Force to Facilitate Business)
มีชื่อย่อในภาษามาเลเซียว่า "Pemudah" โดย ตั้งขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2550
ประกอบด้วยคณะทำงานทั้งจากภาครัฐและเอกชน
เพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ
รวมถึงประมวลความเห็นของภาคธุรกิจเกี่ยวกับแนวทางเสริมสร้างบรรยากาศการลง
ทุน กำหนดให้นำเสนอรายงานโดยตรงต่อนายกรัฐมนตรี
ซึ่งผลการดำเนินการประสบผลสำเร็จอย่างมาก เป็นต้นว่า
ลดระยะเวลาคืนภาษีเงินได้จาก 6 เดือน เหลือ 14 - 30 วัน
หากยื่นคำขอทางอิเล็กทรอนิกส์
หรือลดระยะเวลาจดทะเบียนบริษัทจากเดิมอนุมัติภายใน 3 วัน
ปรับเปลี่ยนเป็นต้องดำเนินการจดทะเบียนให้แล้วเสร็จโดยทันที

กรณีของประเทศไทย
บางครั้งการแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ กลับถูกมองในแง่ลบ
และข้าราชการที่เกี่ยวข้องแทนที่จะได้รับความดีความชอบเหมือนกับในต่าง
ประเทศ กลับมีปัญหาติดตามมา เป็นต้นว่า
การยกเลิกกฎระเบียบเกี่ยวกับสารซัลเฟอร์ของกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อต้นปี
2552 กลับถูกฟ้องร้องต่อศาลปกครอง

ประการที่สาม การจัดตั้งศูนย์บริการร่วมในลักษณะ One-Stop Shop
โดยผู้รับบริการเพียงไปติดต่อสถานที่แห่งเดียวเท่านั้น
ก็สามารถติดต่อกับหน่วยราชการได้ทุกแห่งที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเรียกว่า
One-Roof One-Stop Shop และคุณภาพบริการของ One-Stop Shop มีหลายระดับ

- ระดับ Mailbox เป็นเพียงแค่การรับเรื่องเท่านั้น
แล้วส่งเรื่องไปยังหน่วยงานอื่นๆ เพื่อพิจารณา
ซึ่งมีปัญหาว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่
หากกระบวนการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ยังคงเหมือนเดิม
ผู้มาใช้บริการที่ต้องการความรวดเร็วในการอนุมัติอนุญาต
จะเลิกมาใช้บริการ โดยหันไปติดต่อโดยตรงกับหน่วยงานนั้นๆ ตั้งแต่ต้น

- ระดับมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำงานในศูนย์บริการร่วม
มีอำนาจอนุมัติหรืออนุญาตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของตนเอง

- ระดับเป็นคณะกรรมการร่วมเพื่ออนุมัติหรืออนุญาตโดยมีอำนาจตัดสินใจของตนเอง
สามารถ ออกใบอนุญาตเพียงใบเดียว
แทนที่จะออกเป็นหลายใบอนุญาตของหน่วยงานต่างๆ
แต่มักประสบปัญหาว่าหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องมักไม่ยินยอมที่จะมอบอำนาจให้

ประการที่สี่ การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวก
โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการเชื่อมโยงเครือข่ายของหน่วยงานต่างๆ
เพื่ออำนวยความสะดวกไม่เฉพาะแก่หน่วยราชการในการร่วมมือและประสานงานเท่า
นั้น ยังรวมถึงภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปด้วย

สำหรับระบบ Single Window
เป็นการยื่นเอกสารร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ไปยังหน่วยงานต่างๆ นั้น
รัฐบาลไต้หวันได้ประกาศใช้พิธีการศุลกากรแบบใหม่ในระบบดังกล่าว
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นระบบออนไลน์ที่ใช้ชื่อว่า
"FT Net" โดยระบบนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกได้มากยิ่งขึ้น

ประการที่ห้า
การแบ่งเบาภาระของทางราชการโดยให้เอกชนมาดำเนินการแทนในสิ่งที่ไม่ใช่ภารกิจ
หลัก เป็นต้นว่า
สิงคโปร์ได้ให้ภาคเอกชนมารับผิดชอบการประเมินมูลค่าทรัพย์สินอุตสาหกรรม

ประการที่หก การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน เป็นต้นว่า
ปรับเปลี่ยนระบบและขั้นตอนการดำเนินการจากระบบที่ต้องตรวจสอบข้อมูลให้ถูก
ต้องก่อนอนุมัติ (Pre-Auditing System)
มาเป็นระบบที่ตรวจสอบข้อมูลในภายหลังอนุมัติ (Post-Verification System)
หรือกรณีของเกาหลีใต้
ได้กำหนดหลักเกณฑ์การอนุมัติในบางกรณีที่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศ
กล่าวคือ

- ระบบอนุมัติโดยอัตโนมัติ (Auto-Approval System)
จะกำหนดเวลาที่หน่วยราชการต้องอนุมัติ
โดยหากไม่สามารถดำเนินการได้ภายในเวลาที่กำหนด
จะถือว่าเป็นการอนุมัติโดยอัตโนมัติ

- ระบบอนุมัติล่วงหน้า (Pre-Approval System)
จะกำหนดให้อนุมัติในหลักการภายใต้เงื่อนไขว่าภาคเอกชนจะต้องยื่นเอกสารใดเอกสารหนึ่งที่ยังขาดอยู่ให้ครบถ้วนก่อน

ประการที่เจ็ด
การจัดตั้งหน่วยงานรับเรื่องราวร้องทุกข์และตรวจสอบการปฏิบัติราชการ
เป็นต้นว่า รัฐบาลเกาหลีใต้ได้จัดตั้งหน่วยงาน "Office of the Investment
Ombudsman (OIO)" ขึ้น และเปิดให้บริการเมื่อเดือนตุลาคม 2542
โดยเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายส่งเสริมการลงทุนของต่างประเทศในเกาหลีใต้

เดิมนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาทำธุรกิจในเกาหลีใต้
มักประสบปัญหาอย่างมากในการติดต่อกับหน่วยงานราชการ ดังนั้น
รัฐบาลจึงได้กำหนดให้หน่วยงาน OIO
มีอำนาจหน้าที่รับคำร้องทุกข์ของนักลงทุนต่างประเทศ
แล้วดำเนินการสอบสวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการโดยทันทีและนำเสนอแผนแก้ไข
ปัญหาที่เกิดขึ้นให้แก่หน่วยงาน OIO พิจารณา ภายในเวลา 7 วัน

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000058048

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น