ในช่วงเปิดภาคการศึกษาในปีการศึกษาใหม่นี้ เหล่านิสิต
นักศึกษาน้องใหม่นอกจากจะต้องปรับตัวให้เข้ากับการเรียนการสอนในรูปแบบ
มหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีเรื่องชองชมรมต่างๆ ให้นิสิต
นักศึกษาได้เลือกเข้าร่วมทำกิจกรรม แต่จะเลือกสมัครเข้าชมรมใดนั้น
อยู่ที่ตัวน้องใหม่นั้นเองว่าสนใจอยากร่วมกิจกรรมกับชมรมใด
ทั้งนี้ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ
มักจะมีชมรมให้เลือกอยู่จำนวนหนึ่งไม่ว่าจะเป็นชมรมทางด้านกีฬา
ชมรมเพื่อสังคม ชมรมด้านกีฬาฯ
หนึ่งในชมรมเหล่านี้เราเชื่อว่ามีชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบทอยู่ด้วย
หากแต่จะแตกต่างกันเพียงชื่อเรียกขานในแต่ละรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น
ในหลายครั้งที่เราพบว่า จะมีนิสิต
นักศึกษาจำนวนหนึ่งเมื่อได้เข้าร่วมออกค่ายอาสาพัฒนากับชมรมค่ายฯ
แล้วเกิดปัญหาเมื่อลงพื้นที่ทุรกันดารไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานที่นอน
เรื่องของห้องน้ำ ฯลฯ เหตุที่เกิดเพราะ
เขาหรือเธอเหล่านั้นเลือกเข้าชมรมค่ายอาสาฯ เพียงเพราะว่า อยากให้เพื่อนๆ
พี่ๆ น้องๆ ได้รับรู้กันว่าเขาหรือเธอนั้นก็สามารถไปนอนกลางดินกินกลางทรายได้เหมือนกัน
การเลือกผู้เข้าร่วมชมรมค่ายอาสาฯ จะต้องทำอย่างไร
ถึงจะได้คนที่อยากทำเพื่อสังคม หรือที่เราเรียกกันว่า "จิตอาสา"
เราไปหาคำตอบจากนักกิจกรรมระดับตัวแม่ "คุณสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา"
ผู้อำนวยการแผนกกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัทเครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด
ซึ่งมีกิจกรรมให้ทั้งวัยทำงาน วัยเรียน
ได้เลือกเข้าร่วมกันทำเพื่อสังคมโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือสิ่งอื่นใดนอกจาก
รอยยิ้มของชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ล่าสุดคือการออกค่ายอาสาฯ
ปลูกป่าในโครงการเรดบลู สปิริต ที่ *ป่าชุมชนหนองเยาะ* อ.สังขะ
จ.สุรินทร์ ไปปลูกป่าชุมชนร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่
"หลายคนรู้ว่าค่ายอาสาคืออะไร จิตอาสาคืออะไร
ดังนั้นคนที่เขาตั้งใจออกมาทำประโยชน์ให้กับสังคม
เขาต้องรู้ว่าถ้าเขามาแล้วเขาจะเจอกับอะไรบ่าง กินอยู่ไม่เหมือนในเมืองนะ
อย่างที่หนองเยาะเราอยู่วัด กินที่วัด นอนก็นอนที่วัด
จะคาดหวังความสะดวกสบายไม่ได้
การที่จะให้ผู้ที่ไม่เคยออกมาทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ออกมาเข้าร่วม
กับกิจกรรมเพื่อสังคมไม่ว่าจะเป็นครูอาสา ค่ายอาสาไปสร้างอาคารเรียน
ไปสร้างห้องสมุด ไปปลูกป่าชายเลน
หรือจะไปทำอะไรเพื่อสังคมด้วยจิตที่เป็นอาสาได้ต้องให้ข้อมูลกับเขาก่อน"
ข้อมูลที่จะให้ผู้ที่ไม่เคยออกไปช่วยเหลือสังคม
ไม่เคยมีจิตอาสาเลยคือ เรื่องจริงว่าสถานที่ที่ไปนั้นเป็นอย่างไร
ไปแล้วอยู่แบบไหน กินแบบไหน นอนแบบไหน
จนกว่าคนนั้นรู้สึกว่าอยากจะทำประโยชน์ให้กับสังคม
"อย่า ไปบังคับเขาให้เขาไป
ถ้าเขาต้องไปเพราะถูกบังคับก็จะไม่ได้อะไรเลย
ต้องทำให้เขาเกิดความรู้สึกว่าเขาอยากลองไป
พอเขาอยากลองนั่นหมายถึงเขาเริ่มที่จะมีจิตอาสาแล้ว
ส่วนหลังจากไปทำประโยชน์เพื่อสังคมแล้ว
เขาอยากจะทำอีกหรือไม่นั่นเป็นเรื่องที่เขาจะตัดสินใจได้เอง
เพราะเขาไปเห็นด้วยตา ไปลองทำด้วยตัวเองแล้ว"
หนึ่งในผู้ที่เริ่มเกิดจิตอาสาอย่าง "สาวิตรี เฉลิมเกียรติภักดี"
นักศึกษาวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีกรุงเทพฯ
ผู้เข้าร่วมปลูกป่าชุมชนหนองเยาะ
เล่าว่าเธอเป็นคนอำเภอเมืองจังหวัดอุดรธานี
และเห็นว่ากิจกรรมเพื่อสังคมเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์มากกว่าที่จะอยู่เฉยๆ
ในช่วงปิดภาคเรียน
"หนูเป็นคนชอบกิจกรรมแบบจิตอาสาอยู่แล้ว ที่วิทยาลัยพยาบาลฯ
ก็มีกิจกรรมออกค่ายอาสาฯ เหมือนกัน แต่เป็นแบบนานๆ ที
ทีนี้พอปิดเทอมก็ว่างไม่รู้ว่าจะทำอะไร
อยากจะมีกิจกรรมทำสักอย่างซึ่งพอมีกิจกรรมอาสาแบบเปิดกว้างแบบนี้ก็สมัครมา
เองเลยค่ะ"
นอกจากนี้ว่าที่พยาบาลคนนี้ยังบอกอีกด้วยว่าเธอคิดว่าการออกมาทำ
ประโยชน์ให้กับสังคมไม่ว่าจะเป็นไปสร้างอาคาร ปลูกป่า
หรือทำอะไรเพื่อสังคมในรูปแบบอื่นๆ
ก็ตามล้วนแต่ทำให้เธอรู้สึกว่าเป็นการใช้ชีวิตที่คุ้มค่ามาก
"การจะทำให้คนที่ไม่เคยที่คิดจะทำเพื่อสังคม สนใจที่จะทำให้เกิดจิตอาสาได้
คิดว่าต้องทำให้เขาเกิดความอยากที่จะลองทำเพื่อสังคมเหมือนกับหนู
ก่อน อย่างช่วงปิดเทอมตัวหนูเองรู้สึกว่าเฮ้ยปิดเทอมละอยู่เฉยๆ
เนี่ยเหมือนชีวิตไม่มีค่าเลย ก็คิดว่าจะขายของ พอจะขายของละจะขายอะไร
ขายที่ไหน จะกำไรหรือเปล่า เอาเวลาไปค่ายอาสาดีกว่าไหมเนี่ย
ก็ลองดูข้อมูลว่าเราไปแล้วจะทำได้ไหม อยู่ได้ไหม
พอเห็นว่าเราไปได้ก็สมัครไปเลย"
"จิรศักดิ์ ใจบุญ" เจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง
เป็นอีกคนหนึ่งที่เลือกออกมาร่วมกันทำเพื่อสังคม
เพราะความสนุกที่เกิดขึ้น
"ผมไม่คิดว่าเป็นเรื่องลำบากเลยกับการออกค่ายอาสาฯ
จุดเริ่มต้นของการออกค่ายอาสาฯ ในครั้งแรกของผมเกิดจาก
ตัวผมเองเป็นคนชอบกิจกรรมผจญภัย เที่ยวป่า
ก็จะมีกลุ่มเพื่อนที่ชอบกิจกรรมอะไรแบบนี้เดี๋ยวไปเที่ยวที่ป่านู้นป่านี้
ไปๆ มาๆ มีค่ายอาสาแบบไปพื้นที่ที่เราอยากจะไป
แล้วพอไปก็มีประโยชน์กับคนอื่นด้วย
พอทำเพื่อคนอื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนรู้สึกดีกว่า
แถมพอมาอยู่กับชุมชนก็รู้สึกอบอุ่นกว่าในเมืองที่ต่างคนต่างอยู่"
"ถิรดา เทพยศ" เจ้าหน้าที่มูลนิธิโรคหัวใจแห่งประเทศไทย
ผู้เข้าร่วมออกค่ายอาสาฯ กล่าวว่า
การออกมาทำประโยชน์ให้กับสังคมสำหรับเธอแล้วทำให้เธอได้รับความสุข
ซึ่งต่างจากอยู่ในกรุงเทพฯ การออกค่ายอาสาฯ ในชนบท
อยากรู้อะไรซึ่งเป็นวิถีชีวิตพื้นบ้าน ผักในท้องถิ่น
ก็สามารถที่จะหาทานได้
"อยู่ในกรุงเทพฯ เหมือนแยกกันอยู่ตัวใครตัวมัน
ใครอยากทำบุญก็ไปใส่บาตรพระ หรือไม่ก็บริจาคเลือด บริจาคอวัยวะ
มาแบบนี้ได้เห็นได้เรียนรู้วัฒนธรรมของท้องถิ่นที่เราไปด้วย
พร้อมกับไปช่วยเขาในสิ่งที่เขาอาจจะไม่รู้
หรือรู้แล้วทำไม่ได้เพราะไม่มีองค์ความรู้ ไม่มีกำลัง
ก็เหมือนเป็นการทำบุญไปด้วยพร้อมๆกัน"
สุดท้ายคุณสุทธิรัตน์กล่าวว่าการทำงานอาสาจะมีประสิทธิภาพมาก
หากทำจากความเข้าใจอย่างแท้จริง
อย่างบางคนเข้าใจว่าการปลูกป่าคือการขุดหลุมเอาต้นไม้จากที่เพาะไว้ลงดิน
เอาดินกลบเสร็จแล้วกลับ
คนที่อาสาออกมาทำเพื่อสังคมคนนั้นจะไม่ได้รับอะไรกลับไปเลย
"มันต้องมีวิธีการละลายพฤติกรรมก่อน การออกค่ายอาสาฯ
ต้องไม่มีว่าคนนี้เป็นใครเป็นครู เป็นข้าราชการ คนนี้เป็นนักศึกษา
อย่างของเราหลายคนที่บอกจะเอารถมาเอง เราบอกเลยว่าไม่ได้
ทุกคนเท่ากันหมดมารถบัสคันเดียวกัน เพราะอะไรที่เราทำแบบนี้
เพราะว่าถ้าต่างคนต่างมาไปเจอกันที่พื้นที่เลย จะเอาเวลาที่ไหนศึกษากัน
ก็ตอนอยู่บนรถบัสนั่นล่ะ แล้วพอมาที่พื้นที่ทุกคนต้องอยู่ด้วยกัน
กินด้วยกัน เพื่อให้เกิดความสามัคคี ให้ชาวชุมชนเข้ามาร่วมด้วย
มันต้องเป็นการแลกเปลี่ยนกันชาวบ้านได้คนมาช่วยในสิ่งที่เขาต้องการ
คนที่มานอกจากจิตอาสาแล้วเขาก็ได้ความรู้พื้นบ้านที่หลายคนคาดไม่ถึงก็ได้
เราเคยได้รับการติดต่อจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งว่าอยากจะให้พานัก
ศึกษาของเขาไปออกค่ายอาสาฯ
เราก็ต้องบอกอาจารย์ไปว่าให้ทั้งหมดสมัครเข้ามาด้วยตัวเองดีกว่า
เพราะถ้าไปบังคับให้ไปนั่นก็ไม่ใช่จิตอาสาแล้ว
เพราะเขาไม่ได้ไปด้วยใจแต่ไปเพราะถูกบังคับ"
//////////////////////////////////
*ป่าชุมชนหนองเยาะ*
ป่าชุมชนหนองเยาะ
เคยเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของป่าดิบแล้งที่สมบูรณ์ผืนใหญ่กว่า 90,000 ไร่
สมบูรณ์มาก่อน แต่เมื่อมีการให้สัมปทานป่าไปทำไม้หมอนรถไฟ
ต้นไม้ใหญ่ถูกตัดออกหมด ในที่สุดก็กลายเป็นป่าเสื่อมโทรม
จึงต้องมีการปลูกทดแทน ปี 2522 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
(ออป.)ได้เข้ามาทำสวนป่ายูคาลิปตัส
ตามนโยบายการปลูกป่าทดแทนในระบบหมู่บ้านป่าไม้ ในพื้นที่ 1,527 ไร่
แต่การปลูกยูคาลิปตัสที่ต้องการน้ำในปริมาณมากเป็นพื้นที่กว้างเป็นเวลา
เกือบ 20 ปี ส่งผลให้ชุมชนขาดแหล่งอาหาร ผักและเห็ดป่า แมลง
สัตว์ป่าลดจำนวนลง ขาดแคลนแหล่งยาสมุนไพร รวมทั้งแหล่งไม้ใช้สอย
นอกจากนั้นยังไม่สามารถนำสัตว์เลี้ยงเช่น วัว ควาย มาหากินในป่าได้อีก
เกิดความแห้งแล้งไปทั่วบริเวณ น้ำใต้ดินก็แห้ง
บ่อบาดาลต้องขุดลึกลงมากขึ้น
เมื่อความอุดมสมบูรณ์ลดลงชาวบ้านจึงต้องเข้าเมืองและทำงานในระบบ
อุตสาหกรรม แล้วจึงส่งเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวในพื้นที่
วิถีชีวิตความเป็นชุมชน
และสังคมพอเพียงดั้งเดิมของชุมชนรอบป่าหนองเยาะสูญหายไป
ในปี 2528ชุมชนรอบป่าหนองเยาะได้รวมตัวกันเป็น
องค์กรชาวบ้านรอบป่าหนองเยาะ
เข้าร่วมกับชุมชนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากสวนป่ายูคาลิปตัสเสนอข้อเรียก
ร้องเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแลป่า หลังจากนั้น 12 ปี เมื่อวันที่ 11
กุมภาพันธ์ 2540คณะรัฐมนตรีในสมัยนั้น
ได้มีมติให้ยกเลิกการทำสวนป่ายูคาลิปตัส และส่งมอบพื้นที่ 1,527
ไร่นี้ให้กรมป่าไม้ ชุมชนจึงเข้ามาดำเนินการฟื้นฟูป่าในลักษณะป่าชุมชน
จัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนหนองเยาะ มีภารกิจหลัก ดังนี้
1. อนุรักษ์เฝ้าระวังไม่ให้เกิดการทำลายป่า จากการเข้าไปตัดไม้
หรือเก็บผลผลิตอย่างไม่ถูกวิธี พัฒนากฎระเบียบในการดูแลป่า
2. ทำแนวกั้นไฟ แนวเขตป่า เฝ้าระวังไฟป่า
3. ปลูกกล้าไม้เสริม
4. สำรวจพันธุ์ไม้ เพื่อติดตามดูความสมบูรณ์ของป่า
ป่าชุมชนหนองเยาะ แหล่งปัจจัย 4 ให้ชุมชนมีอยู่ มีกินอย่างพอเพียง
การทำงานที่เข้มแข็งของกลุ่มชาวบ้านและกลุ่มเยาวชน
ที่ได้ร่วมมือกันฟื้นฟูป่าให้กลับมาสมบูรณ์ ตลอด 10 กว่าปีมานี้
ส่งผลให้พื้นที่ป่า 1,527 ไร่ของป่าชุมชนหนองเยาะ ได้รับการฟื้นฟูแล้วถึง
50 เปอร์เซ็นต์ และกลับมาเป็นที่พึ่งให้ 7
ชุมชนรอบป่าได้ใช้หาอยู่หากินอีกครั้ง
ปัจจุบัน
ป่าชุมชนหนองเยาะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจระดับครัวเรือน
เป็นแหล่งปัจจัย 4โดยเฉพาะด้านอาหารและยารักษาโรค
ป่าชุมชนหนองเยาะจึงมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนรอบป่า
โดยเฉพาะคนในชุมชนที่มีฐานะยากจน ไม่มีรายได้ประจำ
ก็สามารถยังชีพอยู่ได้เพราะมีป่าชุมชนเป็นแหล่งปัจจัย 4 ดังนี้
- เป็นที่หาอาหาร มีผัก เห็ด สัตว์น้อยใหญ่ และของป่าต่างๆ
ให้เก็บกินตามฤดูกาล
- เป็นแหล่งยารักษาโรค สมุนไพรจากป่า
ทำให้คนในชุมชนรักษาตัวเองได้ยามเจ็บป่วย
- เป็นแหล่งจุนเจือที่อยู่อาศัย
ไม้จากป่าสามารถนำมาซ่อมแซมบ้านเรือน สร้างคอกล้อมสัตว์เลี้ยง
- เป็นวัตถุดิบผลิตเครื่องนุ่งห่ม ส่วนต่างๆของต้นไม้
สามารถนำมาย้อมผ้าให้สีสันสวยงาม
ผลผลิตจากป่า ยังนำมาทำเป็นสินค้าชุมชนขายได้
ทำให้คนอยู่กินพอเพียง ยั่งยืน พึ่งตนเองได้ มีความมั่นคงในชีวิต
ไม่ย้ายถิ่นฐาน แม้กระทั่งคนจนเมืองที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน
เมื่อกลับมาอยู่ที่บ้านก็ยังได้พึ่งพาป่าชุมชน
///////////////////////////////////////
ชุมชนรอบป่าหนองเยาะ
ป่าชุมชนหนองเยาะตั้งอยู่ในเขตต.พระแก้วและต.ตาคง อ.สังขะ
จ.สุรินทร์ รายล้อมด้วยหมู่บ้านทั้งหมด 7 หมู่บ้าน ได้แก่
บ้านขนุนส่างพอก บ้านหนองคู บ้านพรมสะอาด(ต.พระแก้ว) บ้านเถกิง บ้านกะปู
บ้านหนองเยาะ บ้านโคกชัย(ต.ตาคง) สภาพการตั้งถิ่นฐานของชุมชน
มีทั้งชุมชนดั้งเดิมและชุมชนตั้งใหม่ ซึ่งอพยพมาจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น
บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อ.บัวเชด จ.สุรินทร์
เข้ามาทำงานชักลากไม้และเป็นลูกจ้างขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
รวมทั้งแสวงหาที่ทำกินแห่งใหม่
เนื่องจากที่ทำกินเดิมมีไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของครอบครัว
อีกทั้งสภาพพื้นที่รอบป่าหนองเยาะในอดีตมีความเหมาะสมต่อการทำการเกษตร
ทำไร่ ทำนา เนื่องจากสภาพดินที่อุดมสมบูรณ์ มีป่าไม้หนาแน่น
และอุดมไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด
การย้ายเข้ามาอยู่ของคนจากต่างถิ่นทำให้ชุมชนหนองเยาะมีความหลากหลาย
ทางชาติพันธุ์ ประกอบด้วยเขมร ลาว ส่วย (หรือกวย/กูย) ทั้ง 3
ชาติพันธุ์มีภาษาและมีประเพณีดั้งเดิมที่แตกต่างกัน
แต่เมื่อได้มาอยู่รวมกัน พิธีกรรมเหล่านั้นก็หลอมรวม
ผสมผสานเป็นหนึ่งเดียว มีเพียงรายและเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันเล็กน้อย
โดยพิธีกรรมหลักสำคัญที่ทั้ง 3 ชาติพันธุ์ทำร่วมกันมี 2 พิธีกรรม ได้แก่
การรำแม่มดหรือรำผีฟ้าเพื่อปัดเป่าอาการเจ็บป่วยทางร่างกาย
และการเซ่นไหว้ศาลปู่ตาเพื่อความอยู่ดีมีสุข (ปู่ตา
คือผีบรรพบุรุษที่ปกป้องคุ้มครองหมู่บ้าน
การเซ่นไหว้จะมีเฒ่าจ้ำหรือผู้ชายในชุมชนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม
ได้รับความเชื่อถือเป็นผู้นำทางพิธีกรรม)
ปัจจุบัน
ชาวบ้านรอบป่าชุมชนหนองเยาะยังคงสืบทอดความเชื่อเรื่องผีปู่ตา
โดยมีผีบรรพบุรุษ 2 ท่านที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างยิ่งคือ
ปู่ตาแสงและหลวงปู่ดำ
ปู่ตาแสงหรือเจ้าพ่อหลวงแสงเป็นบรรพบุรุษที่อัญเชิญมาจากศาลปู่ตาของสมัชชา
ชาวนาชาวไร่อีสาน ที่ตั้งอยู่ อ.ปากช่อง ส่วนหลวงปู่ดำ ในอดีต
เป็นพระที่จำพรรษาอยู่บริเวณหนองไฮ
ซึ่งเป็นหนองที่อยู่กลางป่าชุมชนหนองเยาะ โดยมีตำนานเล่าต่อๆ กันมาว่า
ในสมัยโบราณ บริเวณรอบหนองไฮเคยเป็นหมู่บ้าน
และเคยมีวัดที่มีหลวงปู่ดำเป็นเจ้าอาวาส
ทั้งนี้ หากใครที่ทำผิดต่อเทพเหล่านี้ก็อาจทำให้เกิดอาเพศ ไม่สบาย
เจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งจะทำการปัดเป่าด้วยพิธีกรรมรำแม่มด หรือผีฟ้า
ปัจจุบันนี้ พิธีกรรมรำแม่มดก็ยังคงปฏิบัติกันอยู่
โดยมีผู้หญิงในหมู่บ้านหลายคนเป็นร่างทรง
http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9520000058326
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น