...+

วันศุกร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2552

“อ่าน” สร้างชาติได้จริงหรือ/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

      เมื่อ สัปดาห์ที่ผ่านมามีงานเสวนาดีๆ เกิดขึ้น โดยมีวิทยากร 2 ท่าน ได้แก่ ดร.สายสุรี จุติกุล อดีตรองประธานกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการ และที่ปรึกษาด้านปฐมวัยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และแม่ชีศันสนีย์ แห่งเสถียรธรรมสถาน พูดคุยในหัวข้อเรื่อง “การอ่านสร้างชาติได้จริงหรือ” โดยมีคุณไชยวัฒน์ อนุตระกูลชัย เป็นผู้ดำเนินรายการ ที่สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (ทีเคปาร์ค) ในงานแถลงข่าว “ร้อยกิจกรรมวันหนังสือเด็กแห่งชาติ”

       เนื้อหาในการเสวนาเป็นประโยชน์ต่อคนเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กอย่างมาก ดิฉันขอคัดบางตอนมาฝากเพื่อนผู้อ่านที่มีหัวใจเดียวกัน และเชื่อมั่นในหัวข้อนี้เช่นกันว่า การอ่านสร้างลูกได้ และสร้างชาติได้จริง แต่ก็ต้องอยู่ที่สองมือของพ่อแม่เป็นผู้เริ่มก่อน
      
       เริ่มที่ แม่ชีศันสนีย์ ที่ตอกย้ำหัวข้อเสวนา ว่า การอ่านสร้างชาติได้จริง และชาตินี้ด้วย ไม่ต้องรอชาติหน้า
      
       “เด็กเขาอ่านตั้งแต่อยู่ในท้อง นี่เรื่องจริง เราส่งเสริมในงานของเรา โครงการจิตประภัสสร ให้พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง ตั้งแต่ในครรภ์ ให้เด็กรู้สึกถึงลมหายใจ คือแม่คิดอย่างไร เด็กก็คิดอย่างนั้น แม่มองว่าทุกเซลล์ของแม่ ทุกเซลล์ของพ่อมาเป็นของลูก มันเริ่มต้นด้วยกุศล การพลิกสถานการณ์ของโลก คือ พ่อแม่ ไม่ใช่พ่อแม่ของลูกแต่เป็นของโลก
      
       หนังสือ ทุกตัวอักษรบอกเรื่องชีวิต หนังสือคือชีวิต แม่ว่าใช่ ถ้าเราทำให้ชีวิตหนึ่งชีวิตสมบูรณ์ อย่างคนที่รู้ตื่น และเบิกบาน เด็กหนึ่งคนจะเป็นเด็กที่ทำให้โลกมีสังคมอริยะ แม่คิดว่าหนังสือสร้างสังคมอริยะได้
      
       แม่คิดว่าถ้ามีทั้งหนังสือเล่มในและเล่มนอก การเป็นอริยะต้องมีสองเล่ม เล่มในคือใจของเรา เล่มนอกคือหนังสือที่เราอ่าน
      
       การเลือกหนังสือเป็นขั้นหนึ่ง แต่มันต้องเริ่มตั้งแต่คนทำหนังสือแล้ว เป็นขั้นตอนแรกที่จะทำให้เรามีหนังสือดีๆ เป็นตัวเลือกที่มาก อย่าปล่อยให้หนังสือลามกครองเมือง เราต้องมีพื้นที่สำหรับหนังสือดี แม่อยากให้ทุกภาคส่วนของชาติ ทั้งนักธุรกิจ นักการเมือง นักการศึกษา ปู่ย่าตายาย หรือแม้แต่สถานปฏิบัติธรรม ต้องผลิตสิ่งที่ดีที่สุดที่จะเป็นเครื่องมือ เพราะหนังสือเป็นเครื่องมือรักษาวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี
      
       และแม้แต่วิธีการคิดที่เป็นสัมมาทิฐิ
      
       การบ่มเพาะเป็นเรื่องสำคัญมากของครอบครัว เช่น บ้านนี้มีรสนิยมกินง่าย สะอาด ประหยัด สุขง่ายใช้น้อย เป็นสุขเมื่อสร้าง ไม่ใช่สุขเมื่อเสพ แม้ว่าเด็กจะตัดสินใจเลือกเอง แต่พื้นฐานคือเด็กมีสัมมาทิฐิหรือเปล่า พ่อแม่ทำให้เห็นหรือเปล่า พ่อแม่เป็นครูอ่านหนังสือเล่มแรกหรือเปล่า ทำให้เด็กมีทุนของชีวิต มีจิตที่ไม่ขุ่นมัว ถ้าจะเลือกก็เลือกด้วยจิตใจที่หยั่งรู้ จิตมันรู้ถูกรู้ผิดนะ แต่หยุดไม่ได้ แสดงว่าจิตไม่มีกำลัง
      
       เราต้องปลูกฝังให้เด็กมีสติที่จะเลือก

   
       การอ่านเป็นเรื่องของปัจเจกในตอนแรก ถ้าเป็นเรื่องของใจ อ่านเล่มใน อ่านใจตนเองเป็นการเริ่มต้น แต่พ่อแม่ครอบครัวต้องเป็นกัลยาณมิตร แล้วสำนักพิมพ์ต้องส่งเครื่องมือที่เป็นสติปัญญา เวลาเรารู้ใจตน รู้สุข รู้ทุกข์ คือ เรารู้ทันใจเรา
      
       กรณีที่เด็กไปแผงหนังสือ สังเกตสิ เด็กเลือกอ่านอะไร ต้องไปยืนดู เวลาที่เราพบว่าหน้าปกเป็นยังไง ทำให้หยิบก่อนหรือเปล่า ทำยังไงจะเป็นการสร้าง การเชิญชวนให้คนรู้จักการเลือกชีวิต แล้วเดินไปตามทางที่ตัวเองเลือก แล้วเคารพโอกาสนั้นแทนคนร่วมโลกที่ไม่มีโอกาสเลือกเหมือนเรา ขอชมคนที่ทำหนังสือสวย น่ารัก น่าจับ แต่เราก็ต้องทำให้เด็กมีข้อมูลให้เขาเลือก มันอยู่ที่วัยของลูกด้วย แต่การทำหนังสือให้คนแต่ละวัยเลือกอ่านก็ต้องช่วยกัน
      
       จังหวะนี้ดีมากที่เรารณรงค์เรื่องการอ่าน แม่เชื่อว่าอานิสงค์จากการลงทุนของพวกเราในวันนี้จะส่งผลดี แล้วแม่เชื่อว่าหากรัฐบาล ซึ่งจะต้องมีการสนับสนุน มีการส่งเสริมการอ่าน จะต้องมีเวทีที่จะมีการสร้างกลไกให้เกิดการอ่านหนังสือเล่มนอกและเล่มใน
      
       การพัฒนาให้คนกลายเป็นมนุษย์ จะต้องใช้หนังสือ
      
       ไม่ว่าหนังสือนั้นจะพูดเรื่องชีวิตทั้งที่งามหรือไม่งามก็ทำให้เกิด การคิดได้ แม่เชื่อว่าการที่เราทำเวทีให้เกิดการอ่านโดยเฉพาะการอ่านชีวิตให้เป็น แม่คิดว่ามันเป็นการสร้างสังคมอารยะ ที่มีทั้งเอกชน รัฐบาล นักคิดนักเขียน หรือแม้แต่คนทำหนังสือทำมือ แม่เชื่อว่าเป็นการทำด้วยหัวใจ ที่เกิดจากความกตัญญูรู้คุณแผ่นดิน เป็นการทำงานถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เราต้องเป็นมหาชนที่เป็นสุข ก็หวังว่างานนี้จะเป็นงานที่พิสูจน์ว่าเราจะเป็นเครดิตของพระองค์ท่านที่ทำ งานอย่างหนักให้ประชาชนเป็นสุข ก็ต้องขอบคุณการร้อยกิจกรรมวันหนังสือเด็กแห่งชาติก็เป็นอีกหนึ่งทำให้เรามี ความสุขในวันนี้และเป็นงานที่เราควรทำยิ่งๆ ขึ้นไป”
      
       ทางด้าน อาจารย์สายสุรี กล่าวว่า การ รักการอ่านเป็นการสร้างชาติ แต่ต้องมีข้อแม้ว่า ต้องเป็นประเภทหนังสือที่ถูกต้อง ถ้าท่านให้หนังสือที่ไม่ถูกต้องให้กับลูก ไม่ใช่สร้างชาตินะคะ ทำลายชาติ
      
       “การสร้างคนเพื่อไปสร้างชาติเนี่ย มันก็เหมือนการสร้างตึก ฐานรากต้องแข็งแรง ยิ่งถ้าสร้างตึกสูงเท่าไร ฐานรากต้องลึกและแข็งแรงเท่านั้น มนุษย์ก็เหมือนกัน ต้องมีฐานรากที่แข็งแรง เพราะฉะนั้นในระยะเริ่มต้นของชีวิต พ่อแม่ครูบาอาจารย์เป็นผู้สำคัญที่จะสร้างฐานรากฝังลึกในจิตสำนึกของเขา พอเขาโตขึ้นมา แรกๆ เราเลือกให้เขาได้ แต่โตมาเลือกให้ไม่ได้นะคะ พอเขาคิดได้เอง เลือกได้เอง ก็ซื้อหนังสือเอง
      
       เราต้องสร้างภูมิคุ้มกันลงรากลึกไว้ ว่าอะไรคือสิ่งที่ชอบ อะไรคือสิ่งที่ไม่ชอบ

       การอ่านแท้ที่จริงเป็นการแสวงหาข้อมูล เวลาที่เราอ่านแล้วสงสัยอะไร เราก็ไปค้นคว้าต่อ คือการอ่านไม่ใช่อ่านแล้วเบรอๆ แต่อ่านแล้วเข้าใจ แล้วก็ไม่เข้าใจอะไรอีกเยอะ แล้วก็ต้องไปแสวงหาข้อมูล แล้วก็อ่านต่อ
      
       ดิฉัน ว่าปัญหาของบ้านเมืองเราเวลานี้ก็คือ การมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและไม่ครบถ้วน การที่ฟังแล้วเชื่อเลย เพราะว่าเราอ่านไม่พอ อีกประการคือข้อมูลไม่พอ ไม่แสวงหาข้อมูล ฟังแล้วเชื่อทันที การอ่านต้องบวก ไม่ใช่เข้าใจ แต่ต้องวิเคราะห์ได้ อ่านไปสอนไปได้ เด็กโดยธรรมชาติจะขี้สงสัยมาก เขาจะถาม
      
       สมมติเด็กคนหนึ่งถามว่า สอนเรื่องพระอาทิตย์ขึ้นและตก เด็กก็ตอบว่าขึ้นก็ขึ้น แล้วเวลาตก ตกไปไหน เรานึกถึงจักรวาลนึกถึงโลก จะตอบอย่างไร ความสงสัยนี่แม่ต้องทัน
      
       การอ่านต้องอ่านหลากหลาย อย่าอ่านเรื่องเดียว ด้านเดียว ดิฉันเองมีลูกสาวที่ชอบเรื่องดารา ก็ยังตามลูกสาวไปอ่านเรื่องดารา ซึ่งความชอบมันก็เป็นไปตามวัย แต่ว่าให้มันหลากหลายได้
      
       คนไทยอ่านหนังสือน้อยมาก ดิฉันจำได้ว่าเมื่อสิบปีที่แล้วยูเนสโกทำสำรวจพบว่าคนไทยอ่านหนังสือปีละ 4 หน
      
       ดิฉันคิดว่าเป็นข้อมูลที่แย่แล้ว จะสร้างชาติได้ไง สี่หน้าต่อปี ไม่นับหนังสือเรียนนะคะ ตอนดิฉันสอนจุฬา บังคับให้นิสิตอ่าน เอาหนังสือออกมาตั้งไว้ แล้วบอกว่าถ้าจะสอบผ่านให้อ่านนะ ครูเบิกมาไว้แล้ว ผ่านไปสองอาทิตย์ยังอยู่ที่เดิม ดิฉันก็บอกว่า จะออกข้อสอบบทที่สิบถึงสิบห้า เท่านั้นล่ะ หนังสือดำเชียว
      
       ดิฉันก็อยากจะให้กำลังใจทุกท่านที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาเด็ก เรื่องหนังสือ เรื่องการสร้างเด็ก การสร้างผู้ใหญ่ที่จะเอื้อให้เด็กได้พัฒนา รวมถึงสื่อมวลชนทุกภาคส่วน มาช่วยกันเถอะ หนังสือไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน มันจะอยู่อีกนาน มันมีงานวิจัยว่าอินเตอร์เน็ตจะทำให้หนังสือหายไป
      
       ดิฉันเพิ่งอ่านเจอว่าหนังสือจะคงอยู่ตลอดไป ไม่มีวันหายไปจากโลกนี้ ดิฉันขอให้ทุกท่านทำต่อไป อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อไป”
      
       หวังว่าสิ่งที่วิทยากรทั้งสองท่านฝากมาถึงเรื่องการอ่าน จะส่งถึงผู้ใหญ่ให้เห็นความสำคัญในเรื่องการอ่านอย่างจริงจังเสียที ที่ผ่านมา เรามักจะบอกว่าเด็กๆ สมัยนี้ ไม่รักการอ่าน คำถามก็คือ แล้วเราเป็นผู้ใหญ่ที่รักการอ่านหรือไม่
      
       เด็กเชื่อให้สิ่งที่เห็นมากกว่าสิ่งที่ฟังค่ะ


http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000033642

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น