โดย เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,ศุภกิจ นันทะวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ
ปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลโดยตรงต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในปัจจุบัน และจะส่งผลกระทบต่อความจำเป็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ตามแผนพัฒนากำลัง ผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2551 - 2564 (แผน PDP2007) ทำให้โรงไฟฟ้าใหม่หลายสิบโครงการที่กำหนดไว้ในแผน ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซ ถ่านหิน เขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน และนิวเคลียร์ ควรจะต้องเลื่อนออกไป
ปัญหาการพยากรณ์ความต้องการเกินความเป็นจริง เป็นปัญหาเรื้อรังของระบบไฟฟ้าไทย ในช่วงระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าได้เกินจากความเป็นจริงมาโดยตลอด ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2551 ที่ผ่านมา (ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจยังไม่เกิดในช่วงเวลาดังกล่าว) การพยากรณ์ความต้องการในแผน PDP2007 เกินจากความต้องการไฟฟ้าสูงสุดที่เกิดขึ้นถึง 1,389 เมกะวัตต์ (คิดเป็นเงินลงทุนส่วนเกินกว่า 40,000 ล้านบาท)
ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นแล้ว ความต้องการใช้ไฟฟ้ายิ่งลดลงอย่างชัดเจน ภาพที่ 1 แสดงให้เห็นว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในเดือนสิงหาคมเป็นต้นมาตกลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนธันวาคม 2551 ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม เวลา 18.30 น. มีค่าเท่ากับ 18,394.10 เมกะวัตต์ ลดลงจากเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาร้อยละ 8.94 และเป็นความต้องการใช้ไฟฟ้าที่น้อยกว่าปีพ.ศ. 2549 และปีพ.ศ. 2550 เสียอีก ที่สำคัญที่สุด ความต้องการใช้ไฟฟ้าในเดือนธันวาคมต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ในเดือนเดียวกัน ถึง 3,000 เมกะวัตต์
ดังนั้น เราจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปรับค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าเสีย ใหม่ มิฉะนั้น เราก็จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าโดยไม่มีความจำเป็นไปอีกเรื่อยๆ
ข้อกำหนดพื้นฐานในการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าครั้งใหม่ ควรประกอบด้วย
* ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในปี 2552 = 22,681 เมกะวัตต์ (เพิ่มขึ้น 0.5% จากความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในปี 2551)
* อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว = 4.8 %
* ความยืดหยุ่นในการใช้ไฟฟ้าต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ = 1 : 1
ผลจากการวิเคราะห์เพื่อปรับค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ให้สอด คล้องกับภาวะเศรษฐกิจ พบว่า ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในปีพ.ศ. 2565 ลดลงจากที่ประมาณการไว้เดิมถึง 9,148 เมกะวัตต์ (ภาพที่ 2) ทำให้สามารถลดความจำเป็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในอนาคตลงได้ถึง 10,520 เมกะวัตต์ (เนื่องจากต้องมีการสำรองไฟฟ้าไว้อีกร้อยละ 15 ของความต้องการสูงสุด)
ดังนั้น หากจะยังมีการลงทุนตามแผนที่กำหนดขึ้น กำลังการผลิตสำรองของระบบไฟฟ้าจะพุ่งสูงกว่าร้อยละ 40 ในแต่ละปี (ภาพที่ 3) ซึ่งจะสร้างการลงทุนล้นเกินและกลายเป็นภาระทางเศรษฐกิจมากกว่า 400,000 ล้านบาทในช่วงระยะเวลา 15 ปี
เมื่อเป็นเช่นนี้ โครงการโรงไฟฟ้าใหม่ๆ หลายโครงการ ไม่ว่า โครงการโรงไฟฟ้าของเอกชนหรือ IPP โรงไฟฟ้าถ่านหิน ของกฟผ. และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (ตามภาพที่ 4) สามารถยกเลิกหรือเลื่อนออกจากแผนได้ เนื่องจากความจำเป็นเพื่อตอบสนองความต้องการไฟฟ้าสูงสุดลดลง โดยจะเห็นว่า เมื่อเลื่อนโครงการเหล่านี้ ร้อยละของกำลังการผลิตสำรองของระบบ ยังคงสูงกว่าร้อยละ 15 ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้อยู่ดี
ทั้งนี้ การวิเคราะห์ความ (ไม่) จำเป็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าครั้งนี้ ยังมิได้นับรวมศักยภาพด้านการจัดการความต้องการไฟฟ้า (หรือ DSM) และศักยภาพพลังงานหมุนเวียน พลังงานขนาดเล็ก (ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก SPP และ VSPP)
ดังนั้น หากเศรษฐกิจเกิดฟื้นตัวเร็วมากๆ ดังที่บางฝ่ายกังวลใจ ระบบไฟฟ้าของเราก็ยังมีแนวทางในการรองรับได้ ไม่ว่าจะเป็นศักยภาพด้าน DSM 2,200 MW ภายในปี 2554 และศักยภาพพลังงานหมุนเวียนที่คุ้มค่าทางการเงิน 2,900 MW ภายในปี 2554 (จากการคำนวณของ Peter du Pont, 2005) ล่าสุดพบว่า มีผู้ผลิตรายเล็กและรายเล็กมาก ยื่นข้อเสนอเพื่อขายไฟฟ้าเข้าระบบอีกหลายพันเมกะวัตต์ เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องกังวลใจไปว่า เราจะมีไฟฟ้าไม่เพียงพอสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต
เพราะฉะนั้น โดยสรุปแล้ว
• โครงการเหล่านี้สามารถยกเลิกหรือเลื่อนออกจากแผน PDP ได้ และหากไม่ปรับแผน PDP โครงการลงทุนเหล่านี้ก็จะกลายเป็นภาระทางเศรษฐกิจของประเทศ
• กระทรวงพลังงานควรปรับค่าพยากรณ์และปรับแผน PDP ภายในปีพ.ศ. 2552 และไม่ควรดำเนินการใดๆ ที่จะเป็นการผูกมัด หรือเอื้อประโยชน์แก่ผู้ลงทุนก่อนที่จะสรุปแผน PDP ใหม่
• ในการปรับค่าพยากรณ์และในกระบวนการปรับแผน PDP ครั้งใหม่ ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
• รัฐบาลและองค์กรอิสระควรสอบสวนสาเหตุการเร่งการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าใน โครงการโรงไฟฟ้า IPP 3 โครงการ ทั้งที่เอกชนไม่สามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอนที่กำหนด และไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้า
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000015911
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น