...+

วันศุกร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2552

ปัญหาเรื่องงดขายเหล้าช่วงสงกรานต์ต้องแก้ที่สมอง...!!/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมา

ขณะที่กำลัง เขียนต้นฉบับ
ยังไม่ค่อยมั่นใจว่าท้ายสุดแล้วเรื่องการงดขายเหล้าในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะ
ลงเอยอย่างไร จะมีใครค้านอีกหรือไม่

แม้ข่าวล่าสุด นายมานิต นพอมรบดี
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
แถลงถึงมติที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใน
ช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยลงมติโหวตเสียงข้างมาก 8 ต่อ 2 จากทั้งหมด 10
เสียง มีมติให้สามารถขายเหล้าได้ในเทศกาลสงกรานต์

กระทรวงที่เห็นด้วยกับการงดขายเหล้าในช่วงเวลานั้น 2 กระทรวง คือ
กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงยุติธรรม

ส่วน 8 เสียงที่ไม่เห็นด้วยกับการห้ามขาย มาจาก พล.ต.สนั่น
ขจรประศาสน์, กระทรวงมหาดไทย,กระทรวงพัฒนาสังคมฯ, กระทรวงอุตสาหกรรม,
กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงการคลัง, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
และสำนักนายกรัฐมนตรี

และแน่นอนเสียงที่ทรงพลังที่สุดก็นำโดยเสียงของพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์

โดยมติที่ประชุมให้มีมาตรการรองรับ อาศัยอำนาจตาม
พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กำหนดสถานที่เดิม
เพิ่มเติมคือท้ายรถกระบะ โดยไม่เห็นด้วยที่จะห้ามขายตามริมถนนและฟุตบาท
เนื่องจากจะกระทบการท่องเที่ยว
เพราะมีสถานที่ท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่อยู่ริมถนน อาทิ ถนนข้าวสาร
เป็นต้น

พร้อมทั้งระบุให้กระทรวงสาธารณสุข
ร่วมกับตำรวจในการจัดสถานที่จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ทุกหมู่บ้าน จากเดิม
8,000 จุด ขยายเพิ่มให้เป็นหลายหมื่นจุดให้ครบทุกหมู่บ้าน โดยให้
อสม.ร่วมในทุกจุดตรวจ
และภายหลังเทศกาลสงกรานต์จะมีการประมวลผลการทำงานด้านต่างๆ
ในที่ประชุมคณะกรรมการฯ อีกครั้งหนึ่งว่าจะได้ผลหรือไม่

ถ้าให้ตรงประเด็นก็คือ ทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิม
เทศกาลสงกรานต์ก็สามารถขายเหล้าได้ตามปกติ
ส่วนประชาชนจะซื้อเหล้าช่วงไหนเวลาไหนก็เป็นเรื่องของคนๆ นั้น
ตำรวจตั้งจุดตรวจ และตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ปกติ
ประชาชนทั่วไปก็วัดดวงกันเอาเองว่าจะประสบภัยจากคนที่เมาแล้วขับอย่างไร
หรือจะเกิดอุบัติเหตุมากขนาดไหน ค่อยว่ากัน

ไม่เช่นนั้นการท่องเที่ยวบ้านเราคงแย่แน่...!!

จริงอยู่มาตรการห้ามขายเหล้าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็คงไม่เกิดผลหรือ
แก้ปัญหาได้ตรงจุดหรอก
เพราะบรรดาผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ก็ใช้วิธีซื้อไว้ก่อนได้
นักดื่มที่อยากดื่มก็สามารถหาทางดื่มจนได้แหละ

แต่ผู้ที่กระทบมากที่สุดต่อมาตรการดังกล่าว
ก็คือเจ้าของบริษัทเหล้าที่จะทำให้ช่วงเวลาทองของการทำเงินต้องยอดวูบลง
และบรรดาร้านอาหารร้านค้าที่ขายแอลกอฮอล์ดีในช่วงเวลานั้น ก็ต้องหงอยลง
และไม่พอใจต่อมาตรการนี้อย่างแน่นอน

ตอน แรกที่ดิฉันเห็นข่าวคราวของบรรดาเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์และ
หน่วยงานที่เห็นด้วย
พยายามผลักดันให้มาตราการงดขายเหล้าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้ได้
แม้เพียงสักวันเดียวก็ยังดี ก็พอเข้าใจได้ และเข้าใจเจตนารมณ์

แต่ทุกอย่างก็ไม่เหนือความคาดหมาย เพราะท้ายสุด
ฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ทำงานทางด้านสังคม
ต่างก็รู้ดีว่าเมื่อผ่านกระบวนการประชุมฝ่ายการเมืองเมื่อไร
ผลจะลงเอยอย่างไร

เพราะมุมของการมองสังคมโดยรวม ใช้มาตรวัดคนละด้าน มองปัญหาคนละมุม

และใช้สมองคนละส่วน...!!

โจทย์เรื่องสังคมกับผลประโยชน์ก็เลยไปด้วยกันไม่ค่อยได้...

ดิฉัน ไม่ได้เชื่อว่าการงดขายเหล้าจะทำให้แก้ปัญหาได้
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสามารถช่วยลดปัญหาได้ในระดับหนึ่ง
ขอเพียงให้ภาครัฐมีความตั้งใจจริงและมองว่า "แอลกอฮอล์" เป็นปัญหา
และมีความพยายามจะแก้ไขปัญหาในระยะยาวอย่างแท้จริง
เพราะปัญหาเรื่องแอลกอฮอล์ในบ้านเราลงรากลึกเหลือเกิน

แอลกอฮอล์กลายเป็นเครื่องมือเฮฮาในทุกเทศกาลของบ้านเราไปซะแล้ว...!!

เราต้องยอมรับว่า เทศกาลสงกรานต์ของบ้านเราในช่วงที่ผ่านมา
ถูกแปรเปลี่ยนรูปแบบความสนุกสนานและวัฒนธรรมที่แสนงาม
ให้กลายเป็นเทศกาลแห่งความสนุกชนิดบ้าคลั่ง และรุนแรง
ประหนึ่งเล่นสงครามน้ำซะมากกว่า
ส่วนสำคัญก็เพราะมีแอลกอฮอล์เข้าไปมีส่วนด้วย

แอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้น และนำไปสู่ปัญหาเรื่องการลวนลามทางเพศ
ความรุนแรง และอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับ ก็ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ข่าวคราวช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็จะต้องมีท่วงทำนองรอลุ้นว่าผ่านไปอีก
วัน ตายไปอีกกี่ศพ และปัญหาการลวนลามทางเพศ
ที่ถูกเผยแพร่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกปี เหมือนเป็นภาพซ้ำๆ ที่พอจะคาดเดาได้
จนกลายเป็นเรื่องปกติ

ตราบ ใดสังคมไทย ยังปล่อยปละละเลย
และไม่ใส่ใจต่อเรื่องปัญหาเหล่านี้ โดยอ้างว่าเป็นการลิดรอนสิทธิ
หรือประชาชนคิดเองได้ หรือแม้แต่คำกล่าวอ้างว่าจะทำให้การท่องเที่ยวหดหาย
โดยไม่ได้มองมิติอื่นๆ
ที่จะช่วยให้แก้ปัญหาเชิงสังคมด้วยประชาชนก็ต้องเผชิญปัญหาแก้กันเอาเองนั่น
แหละ

แม้การงดขายเหล้าจะไม่ได้แก้ปัญหาได้ทั้งหมด
แต่สิ่งที่สะท้อนปัญหาอีกครั้งของคนกุมอำนาจก็คือ
การแก้ปัญหาในโจทย์เรื่องสังคมในบ้านเรา
ไม่ค่อยได้รับการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง อาจเป็นเพราะไม่เห็นเป็นรูปธรรม
ไม่เหมือนการแก้ปัญหาในเรื่องอื่น
หรือแม้อย่างเรื่องภาครัฐแจกเช็คช่วยชาติ 2000 บาท เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
ด้วยวิธีให้ผู้คนเอาเงินที่ได้ไปจับจ่ายใช้สอย
และคิดว่านั่นคือหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ
แม้หลายฝ่ายจะพยายามคัดค้าน แต่ทำไงได้
ก็เป็นวิธีที่เห็นเป็นรูปธรรมนี่หน่า

สังคมไทยถามหาเรื่องปัญหาจริยธรรม คุณธรรมมาโดยตลอด
เพราะต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ปัญหาสังคมบ้านเรานับวันยิ่งทวีความรุนแรง
และปัญหาก็สลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัญหาที่นับวันยิ่งหนักหนาและลุกลาม คือ ปัญหาทางด้านจริยธรรม
และปัญหาเรื่องจริยธรรมที่เผชิญความเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ
ในทุกวันนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสมองเต็มๆ
และ...สมองส่วนจริยธรรมก็สามารถปลูกฝังได้ตั้งแต่เด็ก

สมองส่วนจริยธรรมอยู่ตรงไหน ?

สมองของคนเราหลักๆ มี 3 ส่วน

สมองส่วนแรกคือ ก้านสมอง เป็นสมองส่วนความต้องการของมนุษย์ คือ
การมีชีวิตรอด ตอบสนองตามสัญชาติญาณ
สมองส่วนนี้ควบคุมกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ให้เคลื่อนไหว เช่น
เด็กร้องเมื่อหิว แต่ถ้าหากพ่อแม่เลี้ยงดูด้วยการสะสมความอยากให้กับลูก
จะทำให้ก้านสมองเรียนรู้และสะสมความต้องการมากขึ้น เช่น
เดิมทีเด็กมีชีวิตเพื่ออยู่รอด ก็จะเริ่มอยากได้วัตถุ สิ่งของ
ที่เกินความจำเป็น

สมองส่วนที่สองคือ สมองส่วนกลาง ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ต่างๆ
ไม่ว่า รัก ชอบ เกลียด โกรธ ดังนั้น ลูกจะมีอารมณ์อย่างไร
จึงขึ้นอยู่กับการปลูกฝังอารมณ์ของพ่อแม่
จะเกี่ยวข้องกับสมองส่วนนี้โดยตรง

ในขณะที่สมองส่วนบน เป็นส่วนที่ดูแลเรื่องคุณธรรม จริยธรรม
สร้างกระบวนการคิดเชิงเหตุผล เพื่อให้เข้าใจสาเหตุต่างๆ
เป็นสมองที่พัฒนาตั้งแต่แรกเกิด แต่พัฒนาได้ค่อนข้างช้า
เพราะจำเป็นจะต้องอาศัยเวลาในการสะสมความรู้ ความเข้าใจ
และบ่มเพาะปลูกฝังในสิ่งดีงาม

การตอบสนองของพ่อแม่และผู้ใหญ่ มีผลต่อการทำงานของสมองทุกส่วน
พ่อแม่และผู้เกี่ยวข้องเด็กจำเป็นต้องช่วยกระตุ้นให้เด็กใช้สมองส่วนบนอย่าง
ถูกต้อง รู้จักวิธีคิด มีวิจารณญาณอย่างสมเหตุสมผล และเป็นคนดี

หลาย ต่อหลายปัญหาในวันนี้
ถ้าผู้ใหญ่ในบ้านเราไม่เริ่มต้นสร้างรากฐานคนในชาติตั้งแต่เด็กๆ
ไม่แน่ว่าถ้ายังปล่อยปัญหาอย่างทุกวันนี้ ในอนาคตเราอาจจะไม่ได้เห็นคำว่า
"จริยธรรม" ปรากฏอยู่ในพจนานุกรมในยุคหน้าก็ได้

ทำไงได้... ผู้ใหญ่บอกแอลกอฮอล์ไม่ดี
ก็หนูเห็นอยู่ว่าไปที่ไหนก็มีแอลกอฮอล์ที่นั่น

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000036605

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น