...+
▼
วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2552
มน.เจ๋ง! วิจัยสมุนไพร “พรมมิ” ช่วยบำรุงความจำ-กันอัลไซเมอร์
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
มหาวิทยาลัย นเรศวรเจ๋ง! วิจัย สมุนไพร “พรมมิ” ช่วยบำรุงความจำ ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ เทียบเท่า “แปะก๊วย-โสม” จดอนุสิทธิบัตรแล้ว รอเอกชนสนใจรับไปผลิตเชิงพาณิชย์ ช่วยลดการนำเข้าสมุนไพรต่างระเทศ
วันที่ 19 มีนาคม ที่โรงแรมมิราเคิล ในการอภิปรายเรื่อง เส้นทางพัฒนาสมุนไพรไทยสู่ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ รศ.ดร.กรกนก อิงคนินันท์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ได้ทำการศึกษาพัฒนา “พรมมิ” เพื่อใช้เป็นสมุนไพรบำรุงความจำ โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนงบประมาณในการทำวิจัยเป็นระยะเวลา 3 ปี ประมาณ 14 ล้านบาท ตั้งแต่พัฒนาการปลูก การศึกษาทางเคมี การสกัด การพัฒนาวิธีการสังเคราะห์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรพรมมิ การศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดพรมมิในทางเภสัชวิทยาทั้งในระดับหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง การศึกษาพิษวิทยา รวมถึงการทดลองทางคลินิก ซึ่งผลการศึกษา พบว่า สารสกัดที่ได้จากต้นพรมมิมีสารซาโปนิน (saponins) สามารถชะลอการเสื่อมของเซลล์สมอง มีผลกระตุ้นความจำและการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังพบว่ามีฤทธิ์ในการป้องกันการถูกทำลายของเซลล์ประสาท ซึ่งสามารถช่วยป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วย
รศ.ดร.กรกนก กล่าวต่อว่า ล่าสุด คณะผู้วิจัยได้ศึกษาผลของพรมมิในอาสาสมัครที่ร่างกายปกติ อายุ 55-70 ปี จำนวน 60 คน โดยศึกษาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้ยาหลอกและได้สารสัดพรมมิขนาด 300 และ 600 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 3 เดือน พบว่า สารสกัด พรมมิ ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุ โดยเพิ่มประสิทธิภาพการทรงตัว เพิ่มการตื่นตัวต่อสิ่งเร้า มีสมาธิมากขึ้น เพิ่มความสามารถในการเรียนรู้และความจำ คลายอาการซึมเศร้า ไม่พบอาการพิษและภาวะข้างเคียงใดๆในอาสาสมัคร
รศ.ดร.กรกนก กล่าวอีกว่า โดยก่อนหน้านี้ ได้ทำการทดลองกับหนูเป็นเวลา 14 วัน พบว่า หนูมีการเรียนรู้และความจำที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ได้ทดลองในหนูที่เกิดการเหนี่ยวนำให้มีสภาวะความจำบกพร่องและความจำเสื่อมพบ ว่า เมื่อให้สารสกัดพรมมิติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ก่อนสมองถูกทำให้บกพร่อง พบว่า พรมมิสามารถป้องกันความสูญเสียความทรงจำได้ ส่วนการศึกษาทางพิษวิทยาพบว่าสารสกัดพรมมิมีความปลอดภัยไม่พบมีผลข้างเคียง ใดๆ
“ขณะนี้ได้มีการจดอนุสิทธิบัตรแล้ว ซึ่งคณะผู้วิจัยได้ผลิตยาเม็ดขนาด 300 มิลลิกรัม เป็นยาต้นแบบที่มีคุณสมบัติทางกายภาพที่เหมาะสมและมีความคงตัวดี และทราบว่าขณะนี้มีบริษัทเอกชนหลายรายให้ความสนใจติดต่อมายัง วช.เพื่อให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ในส่วนการต่อยอดโครงการการวิจัยนั้น วางแผนที่จะขอสนับสนุนงบประมาณในการศึกษาการใช้สารสกัดดังกล่าวในเด็กที่มี ปัญหาสมาธิสั้น รวมถึงการศึกษาด้านพิษวิทยาในระยะยาวด้วย” รศ.ดร.กรกนก กล่าว
รศ.ดร.กรกนก กล่าวอีกว่า สำหรับการรับประมาณอาหารเสริมพรมมิ ควรรับประทาน 300 มิลลิกรัมต่อวัน เมื่อรับประทานเพียง 2 เดือน ก็จะเห็นผลได้ชัดเจน ซึ่งนอกจากผู้สูงอายุแล้ว อาหารเสริมดังกล่าวอาจเป็นประโยชน์ในกลุ่มเด็กนักเรียน วัยทำงาน เพื่อเป็นการบำรุงเซลล์สมอง แต่ไม่แนะนำให้เด็กต่ำกว่า 12 ปี หรือสตรีมีครรภ์รับประทาน ที่ถือเป็นกลุ่มที่อ่อนไหว เปราะบางเนื่องจากยังไม่มีการทดลองในเด็ก จึงยังไม่มีผลวิจัยด้านความปลอดภัยชัดเจน
ทั้งนี้ สารซาโปนิน ที่พบในพรมมิเป็นสารชนิดเดียวกับที่พบในโสม หรือ แปะก๊วย (ginkgo) ซึ่งพรมมิเป็นสมุนไพรของอินเดียในศาสตร์อายุรเวช แต่เป็นพืชล้มลุกที่สามารถกระเพาะปลูกและขยายพันธุ์ได้ง่ายในประเทศไทย ดังนั้น หากมีการนำพรมมิมาใช้ก็จะถือเป็นการลดการนำเข้าสมุนไพรอย่างโสม หรือ แปะก๊วย ที่เป็นสมุนไพรที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000031712
ขอบคุณค่ะขอบมูลน่าสนใจ
ตอบลบ