โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ
ห้วงยามวิกฤต เวลาและข้อมูลข่าวสารเป็นอุปสรรคสำคัญสุดในการคลี่คลายสถานการณ์ ยิ่งเป็นภาวะวิกฤตที่ก่อเกิดจากการชุมนุมและเดินขบวนของประชาชนจำนวนมหาศาล ด้วยแล้ว รัฐยิ่งไม่อาจรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่ต้องการได้ครบถ้วนในเวลาจำกัดท่ามกลาง สภาวการณ์การชุมนุมที่มีพลวัตสูงทั้งข้อเรียกร้อง ปริมาณคน กลยุทธ์จรยุทธ์รุกรับจนถึงความชอบธรรม
ต่อให้รัฐสลายการชุมนุมตามกฎกติกาสากลเคร่งครัด ทว่าท้ายสุดก็ยังถูกโต้แย้งได้เสมอๆ โดยกลุ่มผู้ชุมนุมและสนับสนุน
กระนั้นถ้ารัฐตัดสินใจสลายการชุมนุมบนฐานข้อมูลเชื่อถือได้ คัดกรองเรื่องไร้สาระทิ้งไป ในขณะเดียวกันก็ร้อยเหตุปัจจัยต่างๆ อย่างสังเคราะห์เชื่อมโยง ก็จะทอนเสียงคับข้องครหาลงได้
ไม่เท่านั้นหากสามารถสื่อสารทั่วถึงถ้วนทั่ว โดยเฉพาะกับประชาชนผ่านแผนการสื่อสาร (Communication plan) ที่ออกแบบอย่างรัดกุมตั้งแต่ขั้นวางแผนรวบรวมข้อเท็จจริงจนถึงการกำหนดตัว โฆษกที่แน่นอนเพื่อพูดเป็น ‘เสียงเดียวกัน’ ก็จะเปลี่ยนสถานะจากตั้ง ‘รับ’ มา ‘รุก’ ได้ ด้วยในภาวะวิกฤตนั้นประชาชนทั้งเข้าร่วมและไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมจะรับ ทุกอย่างที่เข้ามา แม้กระทั่งข่าวลือและการคาดเดาเหตุการณ์แบบขาดข้อเท็จจริง อันเนื่องมาจากจะกระหายข้อมูลข่าวสารมากจนขาดการพิจารณาถึงที่มาที่ไปและใคร ได้ใครเสียในการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลนั้นๆ
นั่นเท่ากับเปิดโอกาสให้ข่าวลือ (Rumor) แพร่กระจาย (Diffusion) กว้างขวางผ่านความสนใจใคร่รู้ของผู้คนในสังคม จนกระทั่งท้ายสุดเหลือพื้นที่น้อยนิดให้กับข้อเท็จจริง และเมื่อข่าวลือถูกยกระดับขึ้นเป็นความจริงแทนข้อเท็จจริงเสียแล้ว ขอบเขตของภาวะวิกฤตก็ถ่างกว้างยากสมาน
การ สื่อสารข้อเท็จจริงที่มีอยู่ทั้งหมดต่อสาธารณชนเพื่อลดระดับข่าวลือและการ คาดเดาเหตุการณ์แบบขาดข้อเท็จจริงในช่วงที่สุญญากาศด้านข้อมูลข่าวสารขยาย เช่นนี้จึงเรียกร้องการบริหารจัดการของภาครัฐที่รวดเร็วทันเวลา เท่าๆ กับต้องตอบโต้ข่าวลือด้วยข้อเท็จจริงเท่านั้น
ครั้นจะทำเช่นนั้นได้ รัฐต้องปรับท่วงทำนองการบริหารชาติบ้านเมืองใหม่ แรกสุดก็ต้องเปลี่ยนท่าทีด้านบริหารจัดการเวลา (Time management) ที่เป็นทรัพยากรจำกัดสุดๆ สำหรับห้วงภาวะวิกฤตผ่านหลักจัดลำดับความสำคัญ (Prioritization) ที่มีความสมานฉันท์บนฐานรากความยุติธรรมเป็นเป้าหมาย โดยทอนความสำคัญลำดับรองลงไป ไม่ให้ความเครียดของการชุมนุมและเดินขบวนท่วมท้นจนจัดลำดับความสำคัญผิดพลาด เพียงเพื่อผ่านพ้นภาวะวิกฤตนั้นๆ
นอกจากนั้น การจัดการภาวะวิกฤตการชุมนุมไม่อาจรอจนถึงเวลาสลายการชุมนุมอันเป็นเป้าหมาย แรกเสร็จสิ้นก่อนจึงค่อยเริ่มต้นกระบวนการสร้างสรรค์สมานฉันท์ได้ ด้วยธรรมชาติของการชุมนุมนั้นยากจะหาจุดสุดสิ้นของภาวะวิกฤตได้ การทุ่มเทวางแผนปฏิบัติการ (Action plan) เข้มข้นแบบบัญชีสิ่งที่ต้องทำ (To-do List) เพื่อจะสามารถบรรลุเป้าหมายหลากหลาย (Multi-tasks) ได้ โดยรัฐไม่สูญเสียทรัพยากรเวลามีค่าไปกับกิจกรรมสำคัญน้อยกว่าจึงสำคัญยิ่ง
เมื่อเป้าหมาย (Task) เป็นจุดแรกเริ่มสำคัญของการจัดการเวลาที่มีประสิทธิผล ดังนั้นถ้ารัฐยังสับสนในเป้าหมายเสียเองแล้วก็ยากจะบริหารจัดการภาวะวิกฤต การชุมนุมได้สัมฤทธิผล
ในห้วงขณะการชุมนุมบนท้องถนนเงียบเสียงลงไป หากทว่าการชุมนุมในโลกเสมือนและสื่อสารมวลชนกลับโลดแล่นเร่งร้อนผ่านข่าวลือ ข่าวลือยิ่งแพร่สะพัด ปฏิบัติการสงครามใต้ดินยิ่งเข้มข้นขึ้นเท่านั้น ด้วยข่าวลือคือเชื้อไฟไหม้โหมให้สงครามใต้ดินโชติช่วงทั้งช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการชุมนุม โดยเฉพาะเมื่อมีการปวารณาว่าจะระเบิดสงครามใต้ดินหลังการชุมนุมบนท้องถนน พ่ายแพ้ ข่าวลือก็ยิ่งเป็นอาวุธสงครามทำลายล้าง (Weapon of mass destruction) ที่ขาดไม่ได้
สงคราม ไซเบอร์ครั้งนี้รัฐจึงต้องปฏิบัติการสื่อสารข้อเท็จจริงอย่างกว้างขวางตรงไป ตรงมาเพื่อตอบโต้ข่าวลือและการคาดเดาเหตุการณ์ต่างๆ นานาของสาธารณชนที่มีต่อการสลายการชุมนุม โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหวยิ่งอย่างการกล่าวอ้างจำนวนผู้ชุมนุมสูญเสียชีวิตที่ ถูกแกนนำคนเสื้อแดงทั้งภายในและนอกประเทศพยายามนำมาใช้ในลักษณะ ‘ตายสิบเกิดแสน’
การสื่อสารข้อเท็จจริงอย่างไม่ย่อท้อถดถอยจนกว่าวิกฤตจะคลี่คลายเข้า สู่ภาวะปกติจึงจำเป็นยิ่ง ยิ่งถ่ายทอดผ่านคนกลางต้นทุนสังคมสูงที่ไม่เพียงไม่มีส่วนได้เสียในการ ชุมนุม ทว่ายังมีจรรยาบรรณวิชาชีพกำกับเคร่งครัดเช่นแพทย์และสื่อมวลชนด้วยแล้วยิ่ง มากประสิทธิผล
ในปัจจุบันเมื่อทั้งสองวิชาชีพยังยืนยันข้อเท็จจริงตรงกันก็น่าจะ รับประกันว่าการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงช่วงเทศกาลสงกรานต์ไม่มีผู้เสีย ชีวิตมากตามกล่าวอ้าง ทั้งยังควรถือเป็นข้อยุติสำหรับทุกฟากฝั่งจนกว่าจะมีหลักฐานข้อมูลใหม่มาหัก ล้าง ทำนองเดียวกับคำพิพากษาของศาลสถิตยุติธรรมที่ตัดสินผ่านพยานหลักฐานก็ควร เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะเข้าสู่มิคสัญญีในที่สุดเพราะเชื่อข่าวลือมากกว่าข้อ เท็จจริง เอาความพอใจมากกว่าความถูกต้อง
กล่าวอีกนัยหนึ่ง เมื่อไม่อาจหาวัตถุพยาน (Evidence) ที่น่าเชื่อถือขนาดนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้โดยไม่ต้องรับสารภาพ ชันสูตรพลิกศพจนพบพฤติการณ์ที่ตายว่ามาจากเหตุสลายการชุมนุมกรณีมีศพ หรือปรากฏภาพข่าวสื่อมวลชนที่มีค่าแทนคำนับพันเสนอภาพรัฐซัดสาดอาวุธจนคน เสียชีวิตมากมาย (แม้นว่าบางคราวภาพข่าวกับคำอธิบายภาพ (Caption) และสคริปต์ข่าวจะไม่ตรงกัน กระทั่งถ้อยคำมีอำนาจเบี่ยงเบนผู้รับสารไปจากความจริงที่ภาพนั้นนำเสนอก็ตาม ที) แกนนำก็ไม่ควรเคลื่อนไหวโดยใช้ข่าวลือ ‘ศพประชาชน’ ปลุกปั่นอย่างขลาดเขลา
อย่างไรก็ดี เมื่อข่าวลือในภาวะวิกฤตเป็นส่วนหนึ่งของโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ที่ประดิษฐ์สร้างอย่างพิถีพิถันตามกลยุทธ์การสื่อสารทางการเมือง (Political communication strategy) ที่มุ่งเผยแพร่ภาพและเรื่องเล่า ‘เขาว่ากันว่า…’ ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับสร้างข่าวลือทางการเมือง ไม่งอนง้อข้อเท็จจริง จนกระทั่งสามารถกระจายข้อมูลผิดๆ (Misinformation) ที่บรรจงสร้างสู่สื่อกระแสหลักวิทยุโทรทัศน์หนังสือพิมพ์ในรายการต่างๆ นับแต่เล่าข่าวถึงสกู๊ปข่าว ความพังพินาศจลาจลมาเยือนสังคมไทยแน่แท้
ปรากฏการณ์ เช่นนี้ชี้ชัดว่าการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหลังภาวะวิกฤตใช่เกิดเฉพาะฝั่งรัฐ หากฟากผู้ชุมนุมตลอดจนสื่อมวลชนก็กระทำไม่ต่างกันนัก
รัฐจึงต้องรับมือสื่อมวลชนที่ได้รับข้อมูลผิดพลาดหรือมีอคติกับ รัฐบาลด้วยการวางกรอบ (Framing) การรับรู้แก่ประชาชนผ่านการสื่อสารข้อเท็จจริงอย่างทันท่วงทีและต่อเนื่อง มิเช่นนั้นประชาชนก็จะวางกรอบตามข่าวลือที่รับรู้มาหรือที่สื่อสร้างขึ้น รวมถึงยอมรับข้อผิดพลาดเพื่อหลีกเลี่ยงการผิดพลาดในอนาคต ขณะเดียวกันสื่อมวลชนก็ต้องดำรงตนเป็นผู้เฝ้าประตู (Gate-keeper) สกัดข่าวลือออกจากข่าวจริงเพื่อไม่สุมไฟวิกฤต เฉกเช่นเดียวกับองค์กรต่างๆ ก็ต้องรอบคอบในประเด็นสูญเสียทรัพย์สินชีวิตหลังการชุมนุม
ฉะนั้น การร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการชุมนุมและเดินขบวนนอกจากธำรงเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญว่าด้วยการ คุ้มครองเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นสำคัญแล้ว ยังต้องเสริมสร้างกลไก เครื่องมือ หรือระบบในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารหลังภาวะวิกฤตการชุมนุมควบคู่ด้วย เพราะรูปธรรมมีแล้วเมื่ออดีตผู้นำรัฐนาวาไทยได้บิดเบือนว่า 6 ตุลา 19 มีคนตายแค่คนเดียว ทั้งๆ ประวัติศาสตร์สังหารหมู่หฤโหดนั้นถูกบันทึกภาพไว้ไม่น้อย
มากกว่านั้นระยะยาวสุขภาวะประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมจะถูกทำลาย เพราะต่างฝ่ายต่างบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอย่างเสรี โดยเฉพาะจำนวนผู้สูญเสียให้เข้าทางตนเอง จนท้ายสุดดุลยภาพระหว่างสิทธิเสรีภาพการชุมนุมของประชาชนกับอำนาจสลายการ ชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐชี้ขาดที่ปริมาณการบาดเจ็บล้มตายมากกว่าความถูกต้อง ชอบธรรมของการเคลื่อนไหว ในขณะเดียวกันปรากฏการณ์ปัดความผิดพลาดในการนำและสลายการชุมนุมก็จะเกิดสม่ำ เสมอ
การ จัดการข้อมูลข่าวสารด้วยการเผยแพร่ข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่ไม่ขึ้นกับ บุคคล เวลา และสถานที่อย่างต่อเนื่องจึงเป็นกลไกในการจัดการภาวะวิกฤตหลังการชุมนุมที่ ดีที่สุด ด้วยนอกจากจะสยบข่าวลือลงแล้ว ยังประสานภาคส่วนสังคมเข้ามาร่วมกันสลายความแตกแยกที่มีเชื้อไฟจากข่าวลือ ได้ด้วย.-
เวทีนโยบายสาธารณะ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000044231
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น