...+

วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2552

เวทีนโยบาย:ดุลยภาพการชุมนุมและสลายการชุมนุม


โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ


‘เสรีภาพของประชาชนในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ’ ประดุจกระจกสะท้อนความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทยบานใหญ่ ด้วยเมื่อใดเสรีภาพด้านนี้ถูกก้าวล่วงลิดรอนนับแต่เบาๆ ยับยั้งการรวมตัวจัดตั้งจนกระทั่งถึงขั้นหยุดยั้งอย่างรุนแรงจากการสลายการ ชุมนุมด้วยอาวุธสงครามผิดหลักสากล เมื่อนั้นพัฒนาการประชาธิปไตยก็จะสะดุดหยุดลงทั้งระยะสั้นและยาว

ต้องหัวใจกร้าวแกร่งหลอมรวมกันเท่านั้นจึงจะก้าวข้ามการสลายการ ชุมนุมเหี้ยมโหดไปได้ ดังสายธารประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 16 6 ตุลา 19 พฤษภา 35 ถึงพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ในขวบปีที่ผ่านมา ที่ท้ายสุดผู้ถูกสลายการชุมนุมไม่ได้พ่ายแพ้อาชญากรรมรัฐแต่อย่างใด อย่างน้อยสุดก็ด้านจิตวิญญาณที่วิวัฒน์ธำรงสาธารณประโยชน์มากขึ้น

กระนั้น ขณะรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 คุ้มครองเสรีภาพการชุมนุมของประชาชนไว้ในมาตรา 44 และ 63 ตามลำดับ ทว่าคราปฏิบัติการจริงแล้วลายลักษณ์อักษรสวยหรูก็เป็นแค่อักขระขีดเขียนที่ ถูกลบล้างด้วยกระบอง ลูกปืน และระเบิดแก๊สน้ำตาเสมอๆ!

ถึงแม้นเสรีภาพการชุมนุม (Freedom of assembly) ไม่ได้หมายความว่าจะกระทำการสิ่งใดก็ได้โดยไร้อุปสรรคขัดขวาง หากการนำกฎหมายที่มิได้ตราขึ้นโดยเฉพาะเพื่อควบคุมกำจัดสิทธิการชุมนุมมา จำกัดเสรีภาพการชุมนุมของประชาชน เฉกเช่น พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 ก็ขัดเจตนารมณ์กฎหมายสูงสุดของประเทศแล้ว

ยังมิพักจะเอ่ยว่าการนำระเบียบปฏิบัติภายในของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และทหาร เช่น แผนกรกฎ ปฐพี ไพรีพินาศมาเป็นมาตรการรับมือกับการชุมนุมสาธารณะของประชาชนจักทำลายสิทธิ มนุษยชนขั้นพื้นฐานของปัจเจกบุคคลจนย่อยยับ เพราะบ่อยครั้งยังไม่ทันที่การชุมนุมนั้นๆ จะจลาจลวุ่นวายก็เร่งรีบเข้าสลายบนฐาน ‘ดุลพินิจแบบเห็นว่า’ ของเจ้าหน้าที่รัฐ อันนำไปสู่การจับกุมดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อีกทั้งแผนสลายการชุมนุมเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยเหล่านั้นยังขาดการพัฒนา ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วย

การชุมนุมที่ขัดคำสั่งหรือแค่ขัดหูขัดตาเจ้าหน้าที่รัฐจึงสุ่มเสี่ยงเรื่องทางอาญาทั้งหมด

นั่นทำให้ผู้ชุมนุมต้องตามแก้ข้อกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่รัฐที่มักแฝง อคติตั้งแต่ขั้นตอนสอบสวน จับกุม จนถึงสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแท้จริงในชั้นศาล ดังแกนนำ พธม.เผชิญอยู่ขณะนี้ที่เคยโดนกล่าวหาร้ายแรงขนาดเป็นกบฏมาแล้ว หรือถ้าไม่ใช้กระบวนการทางอาญาก็ใช้คำสั่งทางปกครองผ่านกฎหมายไม่เกี่ยวข้อง เข้าคุกคาม ดังการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลของชาวปากมูนที่ถูกสลายด้วย พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ทำนองเดียวกับ พธม.ที่ถูก พ.ร.บ.ทางหลวงฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ พยายามจำกัดเสรีภาพเรื่อยมา

เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่คุ้มครองเสรีภาพการชุมนุมของประชาชนจึงถูกท้าทายเสมอมา

การหาจุดดุลยภาพระหว่างการชุมนุมสาธารณะโดยสงบและปราศจากอาวุธกับการ สลายการชุมนุมผ่านตัวบทกฎหมายจึงเร่งด่วนยิ่งยวด เพราะนอกจากปัจจุบันไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมโดยตรงแล้ว สัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างอำนาจอธิปไตยและสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ของประชาชนกับการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองโดยเจ้าหน้าที่รัฐยัง เสียสมดุลตลอดมา แม้จะบัญญัติการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ในรัฐธรรมนูญชัดเจนว่าต้องเป็นไป เพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก

มากกว่านั้น ความสลับซับซ้อนของสิทธิเสรีภาพการชุมนุมยังทวีคูณขึ้นมากจากการที่ประชาชน บางส่วนรวมตัวกันชุมนุมและกระทำตัวเป็น ‘กลไกรัฐ’ สลายการชุมนุมกลุ่มตรงข้ามด้วยข้ออ้างความเป็นเจ้าของพื้นที่ คืนความยุติธรรมบุคคล จนถึงเพื่อปกปักรักษาระบอบประชาธิปไตย

ทั้งๆ ประชาธิปไตยไม่อนุญาตให้จำกัดสิทธิเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ของขั้วที่ตนเองอุปโลกน์เป็นปรปักษ์ด้วยการเคลื่อนพลเข้าไปปะทะประทุษร้าย ตายเจ็บ เพราะจะกู่ก้องการต่อกรนั้นว่าเพื่อประชาธิปไตยได้อย่างไรในเมื่อยังกำจัดคน คิดต่างเห็นแย้ง?

ทั้งนี้ การจำกัดสิทธิเสรีภาพดังกล่าวจะเข้มข้นขึ้นตามปริมาณและคุณภาพการชุมนุม ยิ่งรวมตัวกันเหนียวแน่นยิ่งเผชิญบททดสอบท้าทาย ทั้งจากการลุอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐและการตีความบิดเบือนเพื่อลิดรอนสิทธิ พลเมืองและสิทธิทางการเมือง เวลาเท่านั้นจะพิสูจน์ของจริง

ยิ่งกว่านั้น ‘ภาวะผู้นำ’ ยังเป็นปัจจัยชี้ขาดความแตกต่างระหว่างการชุมนุม ผู้นำการชุมนุมด้วยกันเอง จนถึงผู้นำสลายการชุมนุม ที่ไม่ใช่แค่ระดับผู้ปฏิบัติการ หากสูงระดับบังคับบัญชาสั่งนโยบาย เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐสลายการชุมนุมตามสายพานคำสั่งจากหัวถึงหาง การปัดปฏิเสธความรับผิดชอบ (Blame avoidance) ของหัวหน้าแล้วโยนความผิดให้ลูกน้องจึงขลาดเขลายิ่งนัก ทั้งๆ ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ได้สรุปรายชื่อบุคคลที่ต้องรับผิดชอบ กรณีสลายการชุมนุมหฤโหด 7 ตุลาคม 2551 ไว้แจ่มแจ้งแล้วว่าทำผิดทั้งหลักการสิทธิมนุษยชนและกฎหมาย

การ ยืดอกรับข้อกล่าวหาของผู้นำการชุมนุม ไม่หลบลี้หนีคดีหรือหลุบหลบชักใยเบื้องหลังจึงนำมวลมหาประชาชนได้ทั้งในยาม กำชัยชนะหรือพ่ายแพ้ด้วยกุมหัวใจพวกเขาไว้แม่นมั่นแล้ว

ถึงถ้อยวาจาว่ากล่าวขนาดหมิ่นประมาทหรือสาดโคลนใส่ร้ายป้ายสีเพื่อ เติมเชื้อไฟให้การชุมนุมลุกโชติช่วงชัชวาลจักจำเป็นแง่ยุทธวิธี หากแต่ระยะยาวแล้วกลับกร่อนกัดเนื้อใน กระทั่งพลังร่อยหรอลงจากการลาขาดของมวลมหาประชาชนรู้เท่าทัน ยิ่งบวกยุทธศาสตร์การชุมนุมเอื้อประโยชน์ปัจเจกแต่เบียดบังผลประโยชน์ชาติ ด้วยแล้วก็เสื่อมทรุดรวดเร็วยิ่ง

อนึ่ง ถึงการชุมนุมและเดินขบวนจะเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและ แสดงออกที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและ สิทธิทางการเมือง (ICCPR) นานกว่าทศวรรษ และรัฐธรรมนูญก็ให้การคุ้มครองเสมอมา ทว่าการขาดกฎหมายโดยเฉพาะก็ทำให้การชุมนุมทั้งแบบจัดตั้งและมาพร้อมเพรียง กันโดยมิได้นัดหมายถูกสลายบนอารมณ์ความรู้สึกของเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง และประชาชนที่ทอนตนเองเป็นกลไกรัฐไปในที่สุด

องค์ความรู้การชุมนุมสาธารณะที่ถอดบทเรียนจากอารยประเทศอย่างเยอรมนี ที่มีรัฐบัญญัติว่าด้วยการชุมนุมและการเดินขบวน และละแวกเพื่อนบ้านเอเชีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ตลอดจนสกัดประวัติศาสตร์เลือดเนื้อจิตวิญญาณการชุมนุมและเดินขบวนของไทยนับ แต่ตุลามหาวิปโยคเป็นต้นมาน่าจะทำให้ ‘พ.ร.บ.ว่าด้วยการชุมนุมและเดินขบวน พ.ศ. ...’ เท่าทันพลวัตกับการชุมนุมดาษดื่นขณะนี้ ที่ใช่มีเพียงการชุมนุมทางการเมืองขับไล่และสนับสนุนรัฐบาล หากมีการชุมนุมเรียกร้องราคาพืชผล ต่อต้านเมกกะโปรเจกต์ทำลายสุขภาวะ กระทั่งเคลื่อนไหวประเด็นปลีกย่อยมากมายในหลายหลากสถานที่นับแต่ท้องถนน นิคมอุตสาหกรรม ถึงทำเนียบรัฐบาล

เหนืออื่นใด พ.ร.บ.ฉบับนี้น่าจะสามารถปรับเปลี่ยนมาตรการรับมือการชุมนุม เช่น แผนปฐพี ไพรีพินาศ และกรกฎ ให้เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ชุมนุมมากขึ้นได้ในรูปของแนวปฏิบัติ เทียบเคียงไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐลุอำนาจกระทำเกินกว่ากฎหมาย ภายในขณะเดียวกันก็เป็นคู่มือภาคประชาชนในการจัดการชุมนุมและเดินขบวนไม่ให้ ล้ำเส้นกฎหมาย ไม่ให้เสรีภาพพื้นฐานนี้กลายเป็นเครื่องมือแบบเป้าหมายอธิบายวิธีการ (End justifies the means) ดังคู่มือเข้าร่วมการชุมนุมมวลชน ‘กู้ชาติ 4 กุมภา’ ที่ครอบคลุมตั้งแต่เครื่องแต่งกาย โทรศัพท์มือถือ ถึงข้อห้ามธรรมดาอย่างห้ามพกพาอาวุธจนลุ่มลึกขนาดให้เชื่อถือการนำจากแกนนำ บนเวทีปราศรัยเท่านั้น

พ. ร.บ.ฉบับความหวังนี้น่าจะสร้างดุลยภาพการชุมนุมและสลายการชุมนุมได้ ด้วยจะเป็น ‘หลักการร่วมสำคัญ’ ในการจัดชุมนุมของภาคประชาชนและการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งยังเป็นแก่นเทียบเคียง ไม่ใช่ใช้ ‘ม็อบเทียบม็อบ’ แบบปัจจุบันที่หาข้อยุติไม่ได้ดุจเดียวกับการนำ ‘คนเทียบคน’ ที่โต้แย้งได้ตลอด แตกต่างจากการเอา ‘คนเทียบธรรม’ ที่สิ้นสุดเชิงเอกฉันท์ได้.

คอลัมน์เวทีนโยบายสาธารณะ มูลนิธิสาธารณะสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org


http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000026825

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น