...+

วันเสาร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2552

ดันกม.ป้องกันทารุณสัตว์ ภารกิจเพื่อชีวิตเพื่อนร่วมโลก

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

       คำ พูดที่ว่า “ทำอะไรให้นึกถึงใจเขาใจเรา…” คงเป็นประโยคที่คนเมืองพุทธอย่างประเทศไทยคงต้องให้ความสำคัญ ซึ่งไม่ได้หมายถึงการนึกถึงใจของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘สัตว์’ นั้นก็ต้องไม่ถูกละเลยเช่นกัน
      
       หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันเชื่อว่าหลายๆ คนคงปฏิเสธไม่ได้ว่าในประเทศของเรายังมีการล่วงละเมิดสิทธิของสัตว์ในรูปแบบ กระบวนการการทารุณกรรมสัตว์อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ณ วันนี้องค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำงานเกี่ยวกับสวัสดิภาพของสัตว์ทั้งใน และต่างประเทศหลายร้อยองค์กร ต่างยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า มาตราการที่จะแก้ไขและยับยั้งการทารุณกรรมสัตว์และการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพได้นั้น คือการผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.... อย่างเป็นระบบขึ้นในประเทศไทย
      
       ** ‘ทารุณกรรม’ ไม่เพียงแค่ทุบ ตี
      
       แต่ก่อนจะไปถึงรายละเอียดในเรื่อง พ.ร.บ. ลองมาดูสถานการณ์การทารุณกรรมสัตว์ในไทยก่อนว่ามีทิศทางและยังมีการดำเนินการอย่างไร
      
       สำหรับเรื่องนี้ สวรรค์ แสงบัลลังค์ เลขาธิการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า หลังจากที่หลายฝ่ายออกมารณรงค์เพื่อลดการทารุณกรรมสัตว์แต่ก็ยังไม่เห็นว่า จะลดลงแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นสัตว์บ้าน สัตว์เลี้ยง สัตว์เศรษฐกิจ (ปศุสัตว์) ก็ยังมีให้เห็นและเป็นข่าวอยู่ตลอด

การชนวัว
       การทารุณสัตว์ที่เกิดขึ้นนั้น สามารถแบ่งได้เป็นสัตว์บ้านหรือสัตว์เลี้ยงที่คนนิยมอย่างสุนัข แมว ซึ่งการทารุณนั้นไม่ได้มองแค่ว่าเป็นการกระทำให้สัตว์เกิดการบาดเจ็บ โดยการทุบตีเพียงอย่างเดียว แต่การลี้ยงสัตว์โดยไม่ให้การดูแลก็ถือเป็นการทารุณเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นบ่อยมากกับคนในสังคมเมืองที่เจ้าของเลี้ยงดูอย่างไม่ ถูกต้อง เช่น สุนัขมีขนาดใหญ่แต่กักขังอยู่ในกรงแคบๆ ตั้งกรงตากแดด ตากฝนไม่มีอะไรป้องกัน สัตว์จึงเกิดการเจ็บป่วยจากสิ่งแวดล้อมขึ้น อีกทั้งการไม่ให้ความสนใจในเรื่องของการทำวัคซีนเพื่อป้องกันโรคอย่างถูก ต้อง สิ่งเหล่านี้อาจดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่นั่นคือการทารุณสัตว์อย่างไม่รู้ตัว
      
       “จะ เห็นได้ว่าตามพื้นที่ต่างจังหวัดเวลามีงานที่ต้องล้มวัว ล้มหมู ก็มีการฆ่าที่ผิดหลัก ความจริงคือต้องทำอย่างไรที่จะฆ่าให้สัตว์ตายได้ในครั้งแรกเพื่อไม่ให้มัน ทรมาน แต่ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เมื่อจะล้มวัวสักตัวบ้างแห่งใช้เชือกผูกไว้กับ ต้นไม้แล้วนำค้อน นำไม้มาทุบหัวจนกว่าจะตาย ก็อยากให้ลองคิดสภาพดูว่ากว่าสัตว์จะตายมันจะทรมานขนาดไหน”สวรรค์ให้ภาพ
      
       ในส่วนการเลี้ยงสัตว์ใช้งาน และการปศุสัตว์ก็จะเห็นการทารุณสัตว์ในอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกันซึ่ง เลขาฯ TSPCA บอกอีกว่า การเลี้ยงสัตว์เพื่ออุตสาหกรรม อย่าง การเลี้ยงไก่ในที่แคบๆ ไก่ต้องแออัด ทับกัน จิกกัน อีกทั้งการที่ไก่ต้องโพล่หัวออกมารับอาหารจากช่องเล็กนั้นๆ จะเห็นได้เลยว่านานๆ เข้า บริเวณคอไก่ขนจะหลุด เป็นแผล และการส่งขายที่ตามกำหนดจริงน่าจะอยู่ที่ 5-6 เดือน แต่ทุกวันนี้แค่ 3 เดือนก็ส่งขายได้ ทั้งนี้เกิดจากการใช้สารเร่งการเจริญเติบโตทั้งวันทั้งคืน จึงเกิดการสะสมไขมัน และยังมีสารปนเปื้อนตกค้าง ในต่างประเทศเองจะมองว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย บางครั้งคนไทยมองเห็นเป็นเรื่องธรรมดา หรือการใช้งานสัตว์เชิงพาณิชย์ เชิงท่องเที่ยวเช่น ม้า ที่มีขนาดตัวเล็กแต่ต้องให้คนที่มีน้ำหนักมากขึ้นขี่จนม้าหลังแอ่น และเจ้าของไม่ใส่เกือกม้าให้ เมื่อม้าต้องเดินมากทำให้เท้าของม้าเน่าได้

การปล่อยปละละเลยเป็นการทารุณกรรมสัตว์อีกรูปแบบหนึ่ง
       นอกจากนี้ การใช้สัตว์มาเพื่อเดิมพัน แข่งขันอย่าง การกัดปลา ไก่ชน วัวชน อาจจะมองว่าเป็นวัฒนธรรมแต่ก็ลืมไปเช่นกันว่า นี่คือการทารุณสัตว์อีกหนึ่งรูปแบบ ซึ่งหลายฝ่ายที่ออกมาคัดค้านไม่ได้ห้าม แต่ขอให้มีกติกาในการแข่งขัน ต้องให้การแข่งขันเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่สัตว์จะแพ้ก็โด๊ปยา และให้สัตว์ตีกันจนตายกันไปข้างหนึ่ง
      
       ** หนุนร่าง พ.ร.บ.เพื่อเพื่อนร่วมโลก
      
       ถึงตรงนี้กับสภาพการทารุณกรรมสัตว์ที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องใน ไทยทำให้มีการถือกำเนิดของร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ..... ขึ้น ในส่วนรายละเอียดนั้น เลขาฯ TSPCA อธิบายว่า กฎหมายฉบับนี้มีการคำนึงถึงการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจะให้อำนาจขององค์กรเอกชน เอ็นจีโอ หรือหน่วยงานที่ควบคุมดูแลด้านดังกล่าวทำหน้าที่ในการตรวจสอบ ให้สิทธิ์ที่จะดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ที่กระทำความผิดได้ทันที ซึ่งทุกวันนี้อำนาจหน้าที่จะตกอยู่ในภาระของตำรวจทั้งหมด ทำให้การบังคับใช้มีอย่างจำกัด และยังมีการกระจายอำนาจการบังคับใช้กฎหมายไปยังการปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ที่ให้สิทธิดำเนินการตามกฎหมายได้เช่นกัน
      
       ภาย ในร่างกฎหมายจะมีรายละเอียดถึงนิยามของคำว่า ทารุณกรรมสัตว์อย่างชัดเจนและครอบครุมทุกแง่มุม ด้านบทลงโทษของกฎหมายฉบับนี้หากพบผู้กระทำผิดมีโทษจำคุก 6 เดือน ถึง 5 ปี และปรับ 10,000-100,000 บาท โดยหากเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกันอย่าง มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง เกาหลี ญี่ปุ่น จีน ก็ยังถือว่าน้อยไปด้วยซ้ำ

สวรรค์ แสงบัลลังค์
       “กฎหมายฉบับนี้ได้กว่า 60 องค์กรที่ทำงานด้านสัตว์ทั้งในและนอกประเทศช่วยกันร่าง ซึ่งใช้เวลาในทุกขั้นตอนกระบวนการจนได้มาซึ่งร่างกฎหมายอันสมบูรณ์กว่า 4 ปี โดยก่อนหน้านี้เคยนำเข้าสภามาแล้วครั้งหนึ่งในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงหลัง ร่างฉบับดังกล่าวจึงวางนิ่งอยู่ แต่ ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนสามารถเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาได้แต่ต้องมีการลง ชื่อสนับสนุน 1 หมื่นรายชื่อ จึงมีการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันลงชื่อผลักดันร่างกฎหมาย เสร็จแล้วจะนำเสนอประธานรัฐสภา โดยมีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษากฎหมาย จากนั้นนำเข้าสภาผ่าน 3 วาระ จากสภาล่าง ผ่านต่อไปยังสภาสูงอีก 3 วาระแล้วผ่านเป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้ได้ทันที” เลขาฯ TSPCA ให้รายละเอียด
      
       แต่ก่อนจะถึงตรงนั้น เลขาฯ TSPCA ฝากทิ้งท้ายว่า เสียงสนับสนุนของประชาชนทุกคนสามารถบันดาลให้เกิดกฎหมายเพื่อเพื่อนร่วมโลก ของเราได้ โดยหากเราเรียกร้องในสิทธิ สวัสดิภาพของตัวเอง เราก็ต้องยื่นมือมาเป็นปากเป็นเสียงให้แก่บรรดาสัตว์ทั้งหลายที่ต่างก็อยาก มีซึ่งสิทธิ สวัสดิภาพทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ที่ไม่ต่างกับเราเช่นกัน
      
       สำหรับ ผู้ที่ต้องการจะร่วมลงชื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ..... สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaispca.org หรือโทร.0-2236-2176

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000040681

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น