โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
รพ. จุฬาฯ ผ่าตัดปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือดสำเร็จรายแรกของประเทศไทย ช่วยผู้ป่วยไตวายเรื้อรังมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ราคาแพงกว่าผ่าตัดปลูกถ่ายไต1เท่าแต่คุ้ม ไม่ต้องรอรับบริจาคไตนาน
วันที่ 13 มีนาคม ที่อาคารอานันทมหิดล รศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แถลงข่าว “ผลสำเร็จในการผ่าตัดปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือด” ว่า คณะแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ดำเนินการการผ่าตัดปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือดประสบความสำเร็จเป็นรายแรกของ ประเทศไทย ซึ่งวิธีการดังกล่าวมีการดำเนินการอย่างแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่นและได้รับ การยอมรับจากทั่วโลก คณะแพทย์จาก รพ.จุฬาฯ จึงได้ส่งทีมปลูกถ่ายไตไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น และสามารถนำกลับมาดำเนินการในประเทศไทยจนสำเร็จ ในอนาคต รพ.จุฬาฯ จะขยายผลการรักษาด้วยวิธีนี้ให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเร็วที่สุด ไม่ต้องรอรับการบริจาคไตเป็นเวลานาน
“การ ผ่าตัดปลูกถ่ายไตเป็นวิธีการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ทำให้ ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงคนปกติมากที่สุด โดยนับตั้งแต่ปี 2515 ที่ รพ.จุฬาฯได้ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไตสำเร็จเป็นรายแรกของประเทศไทย จนถึงปัจจุบันดำเนินการผ่าตัดไปแล้วมากกว่า 400 ราย แต่ในประเทศไทยประสบปัญหา จำนวนผู้บริจาคอวัยวะจากผู้ที่สมองตายและญาติไม่เพียงพอกับผู้รับบริจาค ซึ่งขณะนี้มีจำนวนผู้รอรับบริจาคไตเพื่อการผ่าตัดเปลี่ยนไตที่ศูนย์บริจาค อวัยวะ สภากาชาดไทย ประมาณ 2 พันราย ขณะที่มีผู้บริจาคเพียงปีละประมาณ 300 รายเท่านั้น”รศ.นพ.อดิศร กล่าว
ด้านรศ.นพ.ยิ่งยศ อวิหิงสานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาฯ กล่าวว่า อาสาสมัครที่เข้ารับการผ่าตัดรายนี้เป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม สัปดาห์ละ 2 ครั้งมาตลอดเป็นเวลา 5 เดือน ซึ่งการผ่าตัดครั้งนี้ผู้ป่วยรับบริจาคไตจากน้องชายที่มีหมู่เลือด เอ ขณะที่ผู้ป่วยมีหมู่เลือด โอ และเมื่อเดือน มิ.ย.2551 ทีมแพทย์และสหสาขาวิชาชีพได้ร่วมกันประเมินข้อมูลทั้งหมดของผู้ป่วยและน้อง ชายและอนุมัติให้ดำเนินการ โดยทำการผ่าตัดเมื่อวันที่ 23 ก.ย.2551 ผลการผ่าตัดดีมาก ผู้ป่วยมีปัสสาวะออกทันทีหลังการผ่าตัด แสดงว่า ไตมีการทำงานปกติ ไม่มีภาวะแทรกซ้อน และจนถึงขณะนี้มีการเฝ้าติดตามผู้ป่วยเป็นระยะเวลา 6 เดือนถือเป็นระยะปลอดภัย ที่แสดงว่าผลการผ่าตัดค่อนข้างสมบูรณ์แบบ ผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรงดี ไตใหม่เริ่มทำงานได้เป็นปกติ สามารถปฏิบัติงานในอาชีพพยาบาลได้
“การ ผ่าตัดปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือด ผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลก่อนการผ่าตัด 7 วัน เพื่อดำเนินการเอาแอนตี้บอดี้ของผู้ป่วยที่อาจจะต่อต้านการรับไตของผู้ให้ ที่มีหมู่เลือดต่างกันออกไปด้วยการฟอกไต จากนั้นจึงจะดำเนินการผ่าตัดเปลี่ยนไต ซึ่งวิธีการนี้ไม่ใช่การรักษาหลักที่แพทย์จะดำเนินการให้กับผู้ป่วยโรคไตวาย เรื้อรัง เป็นเพียงทางเลือกในการรักษาสำหรับในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับบริจาคไต จากพี่น้องที่มีหมู่เลือดตรงกันได้เท่านั้น และคณะกรรมการคัดกรองจะอนุญาตให้มีการผ่าตัดวิธีนี้ โดยพิจารณาจากผู้บริจาคไตที่บริจาคไตให้ผู้ป่วยด้วยความรักเป็นสำคัญ ไม่ใช่ได้ไตมาด้วยการซื้อขาย เพราะผิดกฎหมาย” รศ.นพ.ยิ่งยศ กล่าว
รศ.นพ.ยิ่งยศ กล่าวอีกว่า การผ่าตัดปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือดมีผลสำเร็จการทำงานของไตมากกว่า 90% และต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันตลอดชีวิตไม่ต่างจากการผ่าตัดแบบหมู่เลือด ตรงกัน เพียงแต่ต้องนอนโรงพยาบาลก่อนการผ่าตัด 7 วัน และหลังการผ่าตัดอีก 7 วัน รวมเป็น 14 วัน มากกว่าการผ่าตัดแบบหมู่เลือดตรงกันที่นอนโรงพยาบาลเพียง 5-7 วันเท่านั้น ส่วนค่าใช้จ่ายจากปกติอยู่ที่ 2.5 แสนบาท จะเพิ่มเป็น 5 แสนบาท ซึ่งส่วนต่าง 2.5 แสนบาทผู้ป่วยเป็นผู้รับภาระที่เหลือสามารถเบิกได้ตามสิทธิการรักษาพยาบาล ของผู้ป่วย ทั้งสิทธิข้าราชการ ประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง
ด้านนางอารีจิตร โพธะเลศ พยาบาล วัย 34 ปี ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือดรายแรกของประเทศไทย กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า ตั้งแต่วันแรกที่ทราบว่าป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ตกใจและเสียใจมาก ไม่คิดว่าตนเองจะเป็นโรคที่รุนแรงมาก จากนั้นก็ดำเนินการฟอกไตที่หน่วยไตเทียมรพ.ศรีสะเกษมาตลอด และลึกๆนึกใจหวังว่าสักวันจะได้รับการปลูกถ่ายไต แต่ความหวังครั้งแรกที่จะรับบริจาคไตจากพี่ชายต้องพังทลาย เพราะพี่ชายเป็นไวรัสตับอักเสบซี ส่วนความหวังครั้งที่ 2 ก็ต้องพังทลายเมื่อน้องชายมีหมู่เลือดเข้ากันไม่ได้ รู้สึกท้อแท้ และคิดว่า ทำไมช่วงเวลาที่คนเราโชคร้ายถึงได้โชคร้ายไปเสียทุกอย่าง จะไม่มีไชคดีบ้างเชียวหรือ
นางอารีจิตร กล่าวด้วยว่า หลังจากนั้น จึงได้ติดต่อหน่วยไตเทียม รพ.จุฬาฯ และคณะแพทย์ได้ติดต่อมาบอกว่ามีวิธีทางเลือกเป็นการปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือด ซึ่งหากตัดสินใจจะผ่าตัดจะเป็นรายแรกของประเทศไทย ตนและน้องชายศึกษาข้อมูลจากแพทย์และตัดสินใจผ่าตัด ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ 1.เป็นโอกาสเดียวที่จะได้รับไตในเวลาที่รวดเร็ว ไม่ต้องรอรับบริจาคไตเป็นปีๆ 2.เชื่อมั่นในทีมแพทย์ที่ทำการผ่าตัดว่าจะต้องดูแลให้มีความปลอดภัย และ 3.ด้วยวิชาชีพพยาบาล พร้อมยอมรับหากการผ่าตัดจะไม่ประสบผลสำเร็จก็จะถือว่าได้อุทิศตนให้วงการ แพทย์
“หลังผ่าตัดประสบผลสำเร็จดีใจมากที่สุดเหมือนได้ชีวิตใหม่กลับมา มีความสุข ความหวังและพลังทำทุกอย่างในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานในวิชาชีพพยาบาล จะดูแลผู้ป่วยให้ดีที่สุด และขอขอบคุณทีมแพทย์ที่ช่วยให้ตนกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นปกติ” นางอารีจิตร กล่าว
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000029103
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น