...+

วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2552

เผย "บันได-ห้องน้ำ" จุดเสี่ยงผู้สูงอายุ ชี้ สถานที่สำคัญใน 4 เขต กทม.เอื้อต่อคนแก่-คนพิการ ไม่ถึง 30%

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์


ผลวิจัยชี้ "บันได-ห้องน้ำ"
สถานที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยสุดของผู้สูงอายุ เผยผลสำรวจสถานที่ใน 4 เขต
กทม.พบสำนักงานเขต สถานีตำรวจ ไปรษณีย์ สวนสาธารณะ โรงพยาบาล ห้าง ตลาดสด
สถานีขนส่ง มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อผู้สูงอายุ คนพิการไม่ถึง 30%


วันนี้ (29 เม.ย.) ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์
มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)
ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.)
และหน่วยวิจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมจัดงานเสวนา
"สังคมไทยกับการสร้างพื้นที่สำหรับผู้สูงอายุ" โดย นพ.บรรลุ ศิริพานิช
ประธาน มส.ผส.กล่าวว่า
ปัญหาผู้สูงอายุส่วนใหญ่นอกเหนือจากเรื่องของสุขภาพและภาวะเศรษฐกิจแล้ว
ปัญหาสังคมที่ฉกรรจ์ที่สุด คือ ความเหงา
ซึ่งเป็นสิ่งที่บั่นทอนสุขภาพกายและใจมากที่สุด
วิธีแก้ความเหงาในผู้สูงอายุคือ การทำงาน
ส่วนที่ทำงานไม่ไหวก็ต้องใช้วิธีการคุยกัน
โดยเฉพาะชุมชนควรจับกลุ่มหรือตั้งเป็นชมรมผู้สูงอายุทำกิจกรรมพบปะพูดคุยกัน

นอกจากนี้ ครอบครัวเป็นอีกส่วนสำคัญที่ต้องเอาใจใส่
รวมถึงพื้นที่ในบ้านที่ต้องเอื้ออำนวยความสะดวก ทั้งห้องน้ำ บันได
เช่นเดียวกับพื้นที่สาธารณะที่ผู้สูงอายุนิยมไปใช้บริการคือ ตลาด
สวนสาธารณะ วัด ต้องจัดพื้นที่ให้เอื้ออำนวยแก่ผู้สูงอายุด้วย

รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์
หัวหน้าหน่วยวิจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า
จากการศึกษาวิจัยถึงสภาพแวดล้อมที่จะช่วยลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับผู้
สูงอายุพบว่า บริเวณที่เกิดอุบัติเหตุเป็นประจำมี 2 จุดคือ
บันไดและห้องน้ำ นอก จากนี้ วัด ตลาด สวนสาธารณะ โรงพยาบาล
สถานที่ราชการต่างๆ คือ
เป้าหมายในการออกนอกบ้านในแต่ละครั้งของผู้สูงอายุ
แต่ในความเป็นจริงอาคารสถานที่สาธารณะในบ้านเราจำนวนมากยังไม่เอื้อต่อการ
ใช้งานของผู้สูงอายุ ซึ่งจากการวิจัยการสำรวจอาคารสถานที่ใน เขตจตุจักร
ราชเทวี บางแค และลาดกระบัง
เพื่อสำรวจสถานที่ที่ผู้สูงอายุใช้กันมากนั้นปลอดภัยหรือไม่ทั้งใน
สำนักงานเขตต่างๆ สถานีตำรวจนครบาล ที่ทำการไปรษณีย์ สวนสาธารณะ
โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ตลาดสด และสถานีขนส่งรูปแบบต่างๆ
โดยอาศัยข้อบังคับในกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการ
ผู้ทุพพลภาพ และผู้สูงอายุ พ.ศ.2548 เป็นเกณฑ์ในการวัด ปรากฏ ว่า
สถานที่ต่างๆ ดังกล่าวมีสิ่งอำนวยความสะดวกไม่ถึง 30%
สะท้อนให้เห็นว่าผู้สูงอายุต้องเผชิญกับปัญหาในการใช้สถานที่แทบทุกจุด
ตั้งแต่ภายในจนถึงภายนอกอาคาร

นอกจากนี้
ยังพบช่องว่างของกฎกระทรวงดังกล่าวมีผลบังคับใช้เฉพาะอาคารที่มีพื้นที่ที่
เปิดให้บริการแก่บุคคลทั่วไปเกิน 300
ตร.ม.สำหรับหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ และมีพื้นที่ให้บริการมากกว่า
2,000 ตร.ม.สำหรับอาคารเอกชน
ทำให้เกิดช่องว่างในอาคารที่มีพื้นที่น้อยกว่าที่ไม่ถูกกฎหมายบังคับ
ที่สำคัญไม่มีผลบังคับย้อนหลังและไม่มีบทลงโทษ
ทำให้อาคารจำนวนมากที่ปลูกสร้างก่อนกฎหมายกำหนด
โดยเฉพาะอาคารเก่าซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถานที่ราชการละเลยที่จะปรับปรุง

ทั้งนี้ ในงานได้มีพิธีมอบรางวัล
"อาคาร-สถานที่ที่เป็นมิตรสำหรับผู้สูงอายุ ประจำปี 2551" ให้กับวัด
สวนสาธารณะ และอาคารตลาดที่ผ่านเกณฑ์การประกวด
ซึ่งไม่มีสถานที่ใดได้รับรางวัลชนะเลิศ มีเพียงรางวัลชมเชย 7 แห่ง

ประเภทวัด ได้แก่ วัดปัญญานันทาราม จ.ปทุมธานี, วัดมงคลโกวิทาราม
จ.อุบลราชธานี, วัดปงคก องค์การบริหารส่วนตำบลหลวงใต้ จ.ลำปาง

ประเภทสวนสาธารณะ /ลานชุมชน ได้แก่ เทศบาลตำบลปากท่อ จ.ราชบุรี,
เทศบาลตำบลหนองตองพัฒนา จ.เชียงใหม่,
ศูนย์อเนกประสงค์สำหรับผู้สูงอายุในชุมชน เทศบาลเมืองสกลนคร

และประเภทตลาด ได้แก่
ตลาดศูนย์ผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยวนครชากังราว จ.กำแพงเพชร

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000048071

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น