...+

วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2552

จิตแพทย์แนะเติมความเข้มแข็งสุขภาพใจ ฝ่าพิษเศรษฐกิจ ชี้วัยรุ่นควรมองปัญหาเดียวกับผู้ใหญ่ให้เป็น

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    

จากภาวะเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว ทำให้เกิดภาวะ การว่างงานถึง 2 ล้านอัตรา ก่อให้เกิดปัญหาด้านการเงิน สร้างความตึงเครียดให้กับคนไทยจำนวนมาก
      
       แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย ภายใต้การสนับสนุน จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรมสุขภาพจิต จึงเล็งเห็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมากับภาวะเศรษฐกิจ เช่น ความเครียด จากการตกงาน การปิดกิจการ ปัญหาภาระหนี้สิน และรายได้ที่ลดลงจากเดิม ส่งผลกระทบกับภาวะจิตใจของพ่อแม่วัยทำงาน และ บุตรหลานวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยเรียน เหล่านักเรียนนิสิตนักศึกษา
      
       นายแพทย์ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และ ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย กล่าวว่า ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่ทุกคนต้องรัดเข็มขัดเช่นนี้ว่า ความเข้มแข็งทางใจ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่บุคคลทุกคนควรมี
      
       " วิธีการที่ทุกคนสามารถสร้างความเข้มแข็งทางใจได้ง่ายๆมี4 ข้อหลัก คือ 1. การสร้างความรู้สึกดีกับตัวเอง เป็นการมองโลกในแง่ดี รู้จักตัวเอง พอใจในสิ่งที่ตนมี อดทนกับความยากลำบากโดยไม่มองอุปสรรค์ว่าเป็นความทุกข์อันใหญ่หลวง แต่มองว่าอุปสรรคทุกชนิดย่อมจะผ่านพ้นไปได้ 2. จัดการชีวิตได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อบุคคลมีทักษะการจัดการอารมณ์และแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี สะสมประสบการณ์ในการจัดการปัญหาต่างๆจนเกิดเป็นความเชื่อมั่นภายในใจว่า
      
       ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเราสามารถจัดการสิ่งต่างๆ เหล่านั้นได้เสมอ โดยมีหลักอยู่ว่า ยิ่งฝึกมาก ก็ยิ่งเข้าใจมาก และยิ่งเชื่อมั่นมาก 3.การมีสายสัมพันธ์เกื้อหนุน เกิดขึ้นเมื่อเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง ยอมรับ ใส่ใจ เป็นกำลังใจให้กันและกัน เราสามารถเติมความเข้มแข็งทางใจ
      
       โดยมีสายสัมพันธ์เกื้อหนุนได้ด้วยการฝึกทักษะสัมพันธ์ที่ดี รู้จักวิธีจัดการความขัดแย้งอย่างเหมาะสม และเกิดความตระหนักเสมอว่าความรัก ความเข้าใจ และสายสัมพันธ์ที่ดีคือสิ่งที่มีค่าคุณค่าที่สุดในชีวิต 4.มีจุดหมายในชีวิต เป็นการรู้ว่าตนเองต้องการอะไรในชีวิต แยกแยะออกมาได้ว่า สิ่งใดสำคัญมาก สิ่งใดสำคัญน้อย และสิ่งใดไม่ใช่เรื่องสำคัญ เราต้องการให้ปลายทางชีวิตเป็นแบบไหน การมีจุดหมายในชีวิตจึงเปรียบเสมือนการเดินทางที่มีเข็มทิศแน่ชัด ว่าเรากำลังจะไปทางไหน ไปเพื่ออะไร จะไม่หลงทางไปกับสิ่งยั่วยุที่อาจทำให้เราออกนอกเส้นทางที่ต้องการได้"
      
       จากที่กล่าวมาทั้งสี่ข้อนี้สามารถนำไปใช้กับบุคคลวัยทำงานที่อาจประส บปัญหา และวัยรุ่นวัยเรียนที่อาจได้รับผลกระทบ จากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ปี2552 นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสังคมไทยให้ความสำคัญกับเงินและวัตถุมากขึ้นกว่าใน อดีตเป็นอย่างมาก คนส่วนใหญ่มีทัศนคติเกี่ยวกับเงินว่าเป็นสิ่งที่บันดาลความสุข
      
       " มีผู้กล่าวว่า คนไทยยกย่องคนมีเงิน มากกว่าคนมีคุณธรรม แต่จากการวิจัยเรื่องเงินและความสุข พบว่า ในช่วงที่คนเรายังมีปัจจัยสี่ไม่ครบถ้วน เงินที่เพิ่มขึ้นจะช่วยเพิ่มความสุขให้ชีวิตจริง แต่เมื่อไรก็ตาม ที่เรามีปัจจัยสี่ครบถ้วนแก่การดำเนินชีวิตขั้นพื้นฐานแล้ว เงินที่เพิ่มมากขึ้น จะเพิ่มความสุขได้ไม่มากอย่างที่เชื่อกัน และในบางกรณี หากให้ความสำคัญกับเงินมากเกินไป แม้จะได้เงินเพิ่มมากขึ้นก็อาจทำให้ความสุขลดน้อยลงได้ เช่น กรณีหาเงินจนไม่มีเวลาดูแลสุขภาพ หรือทำให้ความสัมพันธ์ในบ้านเสียไป"
      
       ในช่วงที่สังคมยังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องเงินมากจนเกินไป คนไทยยังสามารถทำให้ชีวิตมีความสุขได้ง่ายกว่าในปัจจุบัน ค่านิยมเรื่องเงินจึงกลายเป็นตัวสร้างความทุกข์ให้โดยไม่รู้ตัว ซึ่งเรื่องนี้จะรุนแรงมากขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม หากเราใช้ช่วงวิกฤตการเงินมาทบทวนความเข้าใจเรื่องเงินกับความสุขกันเสียใหม ่ วิกฤตเศรษฐกิจก็จะกลายเป็นโอกาสให้เราเรียนรู้ที่จะมีความสุขได้ง่ายขึ้น เป็นความสุขที่ไม่ต้องพึ่งเงินหรือวัตถุจากภายนอกมากเกินไป เป็นความสุขจากความพอเพียงและความสุขภายในใจ
      
       "การปรับตัวให้เป็นคนมองโลกในแง่ดี มองปัญหาที่เกิดขึ้นกับชีวิตว่าเป็นเรื่องที่จะผ่านพ้นไปได้ ไม่ตำหนิตัวเองให้รู้สึกท้อแท้ ให้เวลาดูแลชีวิตด้านต่าง ๆ ให้ดี โดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์ภายในครอบครัว จะทำให้มีความหวัง และผ่านพ้นวิกฤตไปได้ง่ายขึ้น ตรงกันข้ามกับการมองโลกแง่ร้าย ที่จะมองปัญหาว่าจะอยู่กับเราตลอดไป โทษตัวเองให้รู้สึกผิด ปล่อยปัญหาการเงินให้กระทบด้านอื่นของชีวิตจนรู้สึกว่าชีวิตมีแต่ปัญหา ย่อมจะรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวังในที่สุด
      
       ดังนั้นจึงขยายว่าผู้ที่ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ ควรที่จะต้องเปลี่ยนทัศนคติในการมองโลก และทบทวนให้เข้าใจถึงสิ่งสำคัญในชีวิตให้ถ่องแท้ จะได้มีโอกาสฝ่าฟันปัญหาได้ด้วยดี"
      
       สำหรับผู้ตกงาน “จ ะพบกับสิ่งบั่นทอนจิตใจอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ นั่นคือ ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองอาจลดน้อยลง เพราะงานคือสิ่งสร้างความภูมิใจ สร้างรายได้ สร้างความมั่นคงให้กับชีวิต เมื่อต้องตกงาน อยู่ว่าง ๆ โดยไม่มีอะไรทำ จะยิ่งคิดและยิ่งเครียด จึงมีข้อแนะนำว่า หากตกงานและไม่มีรายได้ อย่างน้อยก็อย่าอยู่เฉย ๆ ควรหาอะไรทำ โดยใช้เวลาทำสิ่งที่เป็นการสร้างประโยชน์ ถ้าเป็นการสร้างรายได้ก็ยิ่งดี แต่หากไม่เกิดเป็นรายได้ อย่างน้อย การหาอะไรทำให้เป็นประโยชน์ ก็ยังช่วยรักษาใจไม่ให้เกิดความรู้สึกแย่กับตัวเอง”
      
       สำหรับครอบครัวที่มีลูกวัยรุ่นทั้งตอนต้นและตอนปลาย ผู้เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรเปิดโอกาสให้เขามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา
      
       “ วัยรุ่นเองก็ควรที่จะมองเห็นปัญหาเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ให้เขามีโอกาสได้ร่วมในการแก้ไขปัญหาด้วย อย่าทำให้พวกเขามองเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับเขาและค รอบครัว แต่ต้องทำให้พวกเขาตระหนักว่า เขาสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ไขปัญหากับผู้ใหญ่ได้ เช่น ช่วยกันประหยัด หรือช่วยกันหารายได้ ทั้งนี้เพื่อสร้างความภูมิใจ และให้เขาเห็นคุณค่าและศักยภาพของตนเองที่จะมาร่วมกันแก้ปัญหาให้ผ่านพ้นไปด ้วยดี สิ่งเหล่านี้จะเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาสังคมอันมีสาเหตุมาจากภาวะ เศรษฐกิจตกต่ำที่ทุกคนมิอาจหลีกเลี่ยงได้”
      
       ยิ่งปัญหามีมากขึ้น และ แนวโน้มของปัญหาอาจจะมีเพิ่มขึ้น จึงอยากให้ทุกคนตระหนักนึกเอาไว้ในตัวเองว่า “ไม่มีปัญหาใดที่ไม่มีทางออก....ถ้าบุคคลนั้นมีความเข้มแข็งทางใจ ” แล้วปัญหาที่ว่าใหญ่จะไม่ใหญ่ในชีวิตของเราอีกต่อไป
       .......................................
 

http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9520000013892

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น