...+

วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2552

“จามจุรีเปื้อนดิน” ทิ้งกลิ่นไฮโซ ชี้ช่องธุรกิจสร้างอาชีพสู่ชุมชน

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    

ถ้าหากพูดถึง จ.น่าน หลายคนคงนึกถึงเมืองปิดที่สมัยก่อนเคยมีเส้นทางเข้าออกเพียงทางเดียวโดยผ่าน จ.แพร่ ขาดการเชื่อมต่อทางการค้ากับภายนอก ผนวกกับเหตุการณ์สู้รบต่อเนื่องรุนแรง ระหว่างทหารรัฐบาล กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ในป่า ทำให้เมืองน่าน ดูอึมครึมในสายตาของนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น
      
       ปัจจุบันชาวน่านทำอาชีพเกษตรกรรม โดยมีข้าวโพดเป็นพืชเศรษฐกิจ ทำให้ข้าว โพดเป็นที่นิยมปลูกกันมาก จนถึงจุดวิกฤต เมื่อข้าวโพดล้นตลาด ชาวไร่ชาวนาขาดทุน และขาดรายได้ ก็ได้ก่อให้เกิด “ม็อบข้าวโพด” ปรากฏให้เห็นเป็นระยะๆ ขณะเดียวกัน การปลูกข้าวโพดยังทำให้หน้าดินพังทลาย เกิดการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อใช้เป็นแหล่งเพาะปลูก รวมถึงปนเปื้อนสารเคมี นอกจากนี้ยังมีวิกฤติด้านอาหารที่ต้องนำเข้าเนื้อสัตว์เพื่อการบริโภคปีละหล ายร้อยล้านบาท ทำให้ทางจังหวัดต้องส่งเสริมการเลี้ยงแพะในการแก้ไขวิกฤตดังกล่าว
      
       นี่คือ ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดน่าน ที่ทางคณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชีแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล็งเห็นความสำคัญ ประจวบเหมาะกับการมีศูนย์เรียนรู้ และบริการวิชาการเครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ.น่าน ทางคณะจึงจัดโครงการ “จุฬาฯเปื้อนฝุ่น” ปีที่ 2 ขึ้น โดยส่งเสริมการเลี้ยงแพะ ซึ่งแตกต่างจากปีที่แล้วที่เน้นยุทธศาสตร์การค้าชายแดนที่มีผลตอบรับจากส่วน ราชการของจังหวัด จนบางโครงการถูกเลือกเพื่อใช้พัฒนาเมืองน่านได้เป็นอย่างดี
      
       สำหรับในปีนี้ ได้ให้นิสิตปริญญาโท 78 คน ลงพื้นที่ ศึกษาโอกาส และความเป็นไปของตลาดผ่านรูปแบบของแผนธุรกิจเชิงสังคมจำนวน 10 โครงการ เป็นเวลา 1 สัปดาห์เพื่อสร้างอุปสงค์ (ความต้องการ) ส่งเสริมการเลี้ยงแพะอย่างแพร่หลาย สร้างช่องทางทำกิน และเลี้ยงชีพด้วยเกษตรขนาดย่อม จนนำไปสู่การพึ่งตนเองตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
      
       ทั้งนี้ แผนธุรกิจดังกล่าว ประกอบด้วย 1.แผนธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์จากซังข้าวโพด 2.แผนธุรกิจนมแพะ 3.แผนธุรกิจผลิตภัณฑ์ไอศกรีมจากนมแพะ 4.แผนธุรกิจผลิตภัณฑ์เนยแข็งจากนมแพะ 5.แผนธุรกิจกาแฟทรีอินวันผสมนมแพะแห้ง 6.แผนธุรกิจเพื่อส่งเสริมการผลิต และจำหน่ายเนื้อแพะ 7.แผนธุรกิจร้านอาหารผลิตภัณฑ์จากเนื้อแพะ 8.แผนธุรกิจ Skincare จากน้ำนมแพะ 9.แผนธุรกิจผลิตภัณฑ์สบู่นมแพะอินทรีย์ และ 10.แผนธุรกิจกระเป๋าสานจากหนังแพะเมืองน่าน
      
       รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ บอกว่า ต้องการลบภาพของนิสิตจุฬาฯ ที่คนภายนอกมองว่า รสนิยมสูง ไฮโซ หรือภาพของคุณหนูลง และใส่ภาพของนิสิตที่เห็นความสำคัญของชุมชน ด้วยการลงพื้นที่ คลุกฝุ่น เปื้อนดินกับชาวบ้าน รวมพลัง ช่วยกันคิดแผนธุรกิจเชิงสังคมเพื่อการพัฒนา ชี้ช่องทางทำกินให้กับคนน่าน โดยเฉพาะการเลี้ยงแพะ ที่ยังขาดองค์ความรู้เรื่องการดูแล การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ รวมถึงความเชื่อมั่นทางการตลาด
      
       นอกจากนี้ อาจารย์ยังบอกต่อว่า แผนธุรกิจทั้ง 10 โครงการ เป็นแผนที่นิสิตจุฬาฯได้ดำเนินการสัมภาษณ์ และเก็บข้อมูลอย่างเจาะลึก ครอบคลุมทั้งการบริหาร การเงิน การดำเนินงาน และผลกระทบทางสังคม รวมถึงการแสวงหาตลาดสำหรับแพะ และผลิตภัณฑ์จากแพะ ภาครัฐ เอกชน หรือชุมชน สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ตามแผนที่วางไว้ได้ทันที
      
       สอดรับการมีส่วนร่วมของ หลัก สัมพันธารักษ์ หรือ “พี่หลัก” ประธานรุ่นนิสิตหลัก สูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA) จุฬาฯ ที่เล่าเสริมให้ฟังว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ท้าทาย และเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตที่ครั้งหนึ่งได้ทำประโยชน์ให้กับชุมชน เป็นการเริ่มโครงการที่ปลายน้ำ สร้างอุปสงค์ หรือความต้องการในอนาคต เพื่อให้ชาวบ้านเล็งเห็นช่องทางการค้าหรือการตลาดที่เพิ่มมากขึ้น ภายใต้ผลิตภัณฑ์จากแพะ แล้วย้อนกลับมาสู่ต้นน้ำ นั่นคือ ส่งเสริมการเลี้ยงแพะต่อไป
      
       “คะแนนเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่ผมทำกับเพื่อน มีเป้าเพื่อต้องพัฒนาเมืองน่านให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ชุมชนสามารถสร้างงาน ลดหนี้ และพึ่งพาตัวเองได้ โดยแผนธุรกิจผลิตที่ทำ จะชี้ให้ชุมชนเห็นช่องทางทำกิน เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ ลดการนำเข้าเนื้อสัตว์จากนอกเมือง” พี่หลักเล่า
      
       อย่างไรก็ตาม พี่หลัก บอกต่อว่า การลงพื้นที่คลุกฝุ่นร่วมกับชุมชน และชาวบ้านครั้งนี้ ทำให้มีความรู้ และความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น การเรียนแค่ในห้องสี่เหลี่ยม หรือภายในรั้วมหาวิทยาลัย เป็นเพียงความรู้ด้านวิชาการ แต่การได้ลงพื้นที่ และนำเอาทฤษฎีการบริหารจัดการมาสร้างแผนงานจริง คือ การเรียนรู้ที่ครบองค์รวม ตัวเราได้ ชุมชนได้ เรียกได้ว่า เป็นการศึกษาสู่ชุมชนอย่างสมบูรณ์
      
       ด้านสาวสวยคนเก่งอย่าง จารุวดี ใจนพเก้า หรือ “จ๋า” อายุ 26 ปี นิสิต MBA จุฬาฯ เจ้าของแผนธุรกิจ Skincare จากน้ำนมแพะ เล่าว่า จากความคิดเห็นของกลุ่ม ได้เลือกแผนนี้เพราะเห็นคุณค่าของนมแพะ เพราะจากการศึกษาพบว่า นมแพะมีโปรตีน และไขมันที่มีขนาดเล็กกว่านมวัวถึง 5 เท่า สามารถซึมซับสู่ผิวได้ง่าย ต้นทุนต่ำ ขณะเดียวกัน ยังเป็นทางเลือกเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะของเกษตรกร
      
       “ปัญหาตอนนี้ คือ จะทำอย่างไรให้เกษตรกรน่านหันมาเลี้ยงแพะมากขึ้น เพราะเท่าที่เห็นคนน่านจะปลูกแต่พืช ขาดการผลิตเนื้อ ทำให้ต้องนำเข้าเนื้อสัตว์จากภายนอก โครงการนี้จึงตอบโจทย์ด้วยการเขียนแผนธุรกิจสร้างความต้องการในอนาคตเกี่ยวก ับการแปรรูปผลิต ภัณฑ์จากแพะ เพื่อชี้ช่องทางให้เห็นความเป็นไปได้ของตลาดแพะ” จ๋ามองปัญหา
      
       จ๋า เล่าประสบการณ์การลงพื้นที่คลุกฝุ่นร่วมกับเพื่อน และชาวบ้านว่า เป็นกิจกรรมที่สนุก แถมได้ช่วยชุมชน ลดความยากจน รวมถึงได้ความรู้จากปราชญ์ท้องถิ่นรวมทั้งยังฝากถึงภาครัฐ เอกชน ให้เข้าใจ และเข้าถึงชุมชนให้มากขึ้น โดยให้ความรู้ สร้างความเข้าใจในการทำเกษตร อย่าปล่อยให้ชุมชนที่รอความหวัง ต้องลุกล้มเพียงลำพังโดยขาดคนให้ความหวัง ไม่ใช่ให้ช่วยทั้งหมด แต่พวกเขาต้องการเพียงองค์ความรู้เท่านั้น
      
       การลงพื้นที่เปื้อนดิน เปื้อนฝุ่นของนิสิต จุฬาฯ เสมือนเป็นการสร้างพลัง นำศาสตร์ และวิทยาการความรู้ ฝังรากแก้วให้กับชุมชน และชาวบ้านจ.น่านได้นำมาปรับใช้ เพื่อเกิดกำลังใจ และเห็นช่องทางทำกิน สามารถเลี้ยงชีพ และพัฒนาตนองได้ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากชาวบ้าน
      
       ตรงนี้รับประกันได้จาก “สุกัญญา เตชะนันท์” ชาวบ้านศูนย์พัฒนาชีวิตชาวชนบท ในมูลนิธิสงเคราะห์ชาวไทย จ.น่าน ที่เผยถึงความรู้สึกว่า เป็นโครงการที่ดี ช่วยให้ชุมชน และชาวบ้านมีความรู้ด้านวิทยาการสมัยใหม่มากขึ้น มีการนำศาสตร์ทางด้านวิชาการมาประยุกต์ และเสริมทักษะให้เกิดการบริการ และจัดการที่ดีภายในชุน รวมถึงดีใจที่เยาวชนสมัยนี้ หันมาสนใจ ทุ่มเท เอาจริงเอาจังกับการพัฒนาชุมชน เสมือนเป็นพลัง ต่อเติมสิ่งที่ขาด แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชน ในการส่งเสริมการเลี้ยงแพะ และแปรรูปผลิตภัณฑ์จากแพะ

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000013523

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น