โดย ว.ร.ฤทธาคนี
หากวิเคราะห์เชิงปรัชญาแห่งจริยศึกษา (Ethical Study) แล้วพบว่า กลุ่มคนส่วนหนึ่งหมดความจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมืองแล้ว และทำไมจึงตั้งประเด็นนี้ก็เพราะว่าเหตุการณ์อันเกิดจากพฤติกรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แกนนำความคิดล้างผลาญกำลังสร้างปัญหาให้ชาติบ้านเมืองอย่างมากมาย เมื่อเทียบกับอดีตนักการเมืองที่ประสบเคราะห์กรรมตามวิถีทางกรรมการเมืองของ ตัวท่านเอง เช่น
ท่านปรีดี พนมยงค์ อดีตรัฐบุรุษ นักปฏิวัติ นักการศึกษา นักกฎหมาย นักการเมือง นักเศรษฐศาสตร์ และนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย ที่ยอมเสียสละความสุขส่วนตัว รวมทั้งยอมลบอดีตและอนาคตของตัวเองลี้ภัยการเมืองไปพำนักอยู่ที่ประเทศ ฝรั่งเศส จนถึงอสัญกรรมที่นั่น เพราะเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้นละเอียดอ่อนมาก เพราะหากว่าต้องมาให้การในศาลกรณีสวรรคต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 นั้น คงจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง และอาจจะควบคุมไม่ได้นำสู่สงครามกลางเมืองได้ เพราะว่าตัวท่านเองก็เป็นที่เคารพนับถือของนักปฏิวัติ นักประชาธิปไตย และกลุ่มเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่น รวมทั้งกลุ่มผู้ฝักใฝ่ในลัทธิสังคมนิยมทั้งเข้มและไม่เข้มและกลุ่มนิยมลัทธิ คอมมิวนิสต์
แต่เมื่อวิเคราะห์กลุ่มที่ท่านอาจจะคิดว่าเป็นปัญหาควบคุมไม่ได้คือ กลุ่มอนาธิปไตยที่เรียกว่า ซ้ายในซ้าย ก็ได้อาจจะก่อการไม่สงบด้วยวิธีรุนแรงเช่นที่เกิดขึ้นในหลายประเทศช่วงนั้น ท่านจึงยอมสละทั้งอดีตและอนาคตในประเทศไทย เพราะมิฉะนั้นแล้วฝ่ายขวาจัดก็จะออกมาประหัตประหารกันกับกลุ่มซ้ายจัด และไม่ซ้ายจัดหรือกลางๆ ก็อาจจะโดนลูกหลงไปด้วยทำให้สถานการณ์ซับซ้อนขึ้น
อีกท่านหนึ่งที่เอ่ยได้ว่าเสียสละคือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ต้องยอมพ่ายแพ้ต่อลูกน้องตัวเอง เพราะความขัดแย้งของลูกน้องตัวเองซึ่งหากท่านเลือกข้างโดยปลดจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อน และสนับสนุน พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ผลที่ตามมาคือ สงครามกลางเมืองระหว่างกองทัพกับกองทัพ และกองทัพกับตำรวจ เพราะถ้าถึงตอนนั้นแล้วประเทศไทยคงเกิดสงครามพินาศฉิบหาย และยังมีผลพวงอื่นๆ แทรกเข้ามาอีกมากมาย จอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงต้องหนีไปด้วยความทุกข์ และหวาดเกรงภัยจะเกิดกับชาติบ้านเมือง จึงมีผู้เล่าว่าท่านหันมองไปทางกรุงเทพมหานคร กอดปืนกลมือไว้แน่นก่อนออกเดินทางเข้าลี้ภัยเขมรด้วยเรือยนต์ฝ่าคลื่นลมยาม ราตรี แต่ในที่สุดท่านก็ลบอดีตและอนาคตเมื่อได้บวชเป็นพระภิกษุที่พุทธคยา
การเสียสละของท่านทั้งสองนับว่าคนไทยจะต้องยอมรับนับถือในสปิริตนี้ และวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลด้วยความรู้จากการค้นคว้า และวิเคราะห์เหตุการณ์อย่างเป็นธรรม แต่อย่างน้อยคนสองคนนี้เป็นเพื่อนกัน ร่วมตายมาด้วยกันเสี่ยงด้วยกัน แต่ในที่สุดก็ต้องยอมต่อความจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมืองคือ ต้องไม่ให้ชาติพินาศฉิบหาย แม้ว่าตัวจะต้องตายทั้งเป็นในต่างประเทศ และต้องลบอดีตและอนาคตของตัวเอง ทั้งๆ ที่สามารถหลีกเลี่ยงได้
ความจงรักภักดีคืออะไร คำตอบคือความศรัทธา ความรักบูชาอย่างผูกพันต่อบุคคลหรืออุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่ง และตามนัยสำคัญนี้ความจงรักภักดีเป็นส่วนหนึ่งของจริยธรรม ซึ่งพลาโตนักปราชญ์กรีกเมื่อ 425 ปีก่อนคริสตกาลได้พูดไว้ว่า “คนจะเป็นคนได้ต้องมีความจงรักภักดี และความจงรักภักดีเป็นเงื่อนไขสำคัญของวิถีชีวิตที่อิ่มเอิบด้วยปัญญา” และที่ว่าความจงรักภักดีเป็นส่วนหนึ่งของจริยธรรมก็เพราะว่ามันเป็นหลัก ปรัชญาที่ว่าด้วยการนำพาชีวิตให้ดำเนินด้วยการประพฤติธรรมประพฤติชอบ และการใช้ชีวิตที่ดีที่ชอบสามารถแยกแยะชั่วดีได้ ซึ่งปราชญ์กรีกคนแรกคือ โซเครติส (Socrates) ให้หลักการลักษณะไว้เมื่อ 470 ปีก่อนคริสตกาลที่ชี้นำปัญญาชน และสามัญชนให้ประพฤติชอบด้วยปัญญาของตัวเองว่าอะไรถูกอะไรผิด
เรื่องความจงรักภักดีนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับความจงรักภักดีไว้ในหลักราชการ 10 ประการที่ทรงกล่าวถึงคุณลักษณะอันสำคัญของผู้เป็นข้าราชการที่ดี โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์แจกข้าราชการทั่วไปในวันสงกรานต์ปี 2475 เมื่อ 85 ปีมาแล้ว แต่ยังมีความร่วมสมัยเป็นสากล
พระองค์ทรงเน้นเรื่องความจงรักภักดีไว้ดังนี้ “ความจงรักภักดีแปลว่า ความยอมสละตนเพื่อหาประโยชน์แห่งท่านคือ ถึงแม้ว่าตนจะต้องได้รับความเดือดร้อนรำคาญ ตกระกำลำบากหรือจนถึงต้องสิ้นชีวิตเป็นที่สุดก็ยอมได้ทั้งนั้น เพื่อมุ่งประโยชน์อันแท้จริงให้มีแก่ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์”
ดังนั้น เมื่อขยายความหมายของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์แล้วพบว่า ชาติคือ รัฐชาติ ที่ประกอบด้วยอำนาจอธิปไตย บูรณภาพแห่งชาติ ชนในชาติ และรัฐบาล ส่วนศาสนาได้แก่ ความเชื่อที่มีคุณูปการกับชนในชาติให้คำมั่นอยู่บนคุณธรรมที่มุ่งมั่นดำรง สันติสุขตามคำสั่งสอนของศาสนาแห่งศาสนาต่างๆ ที่ได้สถาปนาในชาตินั้นๆ อย่างสมดุลเสมอภาค
และประการสุดท้าย พระมหากษัตริย์เป็นองค์ประมุขของชาติที่มีนิติประเพณีในการปกครองประเทศชาติ มาช้านาน และด้วยลัทธิธรรมราชาทำให้รัฐชาติมีความอยู่รอดปลอดภัย ราษฎรมีความผาสุกตามอัตภาพ จึงควรถวายความจงรักภักดี เพราะพระมหากษัตริย์ทรงเป็นปัจเจกบุคคลที่เป็นองค์ประกอบแห่งจุดรวมใจที่ สำคัญในสถาบันชาติที่สานความผูกพันทุกเชื้อชาติ และศาสนา
ในปรัชญานี้ผู้ที่จะต้องยึดถือหลักความจงรักภักดีอย่างเข้มข้นนั้น ต้องเป็นทหารเพราะทหารได้ประกาศไว้ในคำสาบานตัวต่อธงไชยเฉลิมพล อันเป็นตัวแทนของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ที่ถือว่าเป็นหลักชัยสูงสุดของทหารในหลักความจงรักภักดีที่ต้องปฏิเสธไม่ แสดงความนับถือต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ไร้ซึ่งความจงรักภักดีต่อชาติกำเนิด ของตัวเอง ต่อศาสนาของตัวเอง และต่อพระมหากษัตริย์ที่ทรงดำรงไว้ซึ่งธรรมราชาปฏิบัติ
ข้อโต้แย้งเรื่องความจงรักภักดีอยู่ที่การจงรักภักดีต่อบุคคลหรือต่อ อุดมการณ์ ถ้าบุคคลที่ควรให้ความจงรักภักดีมีความจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมืองแล้ว บุคคลนั้นย่อมได้รับความเคารพนับถือศรัทธา และได้รับความจงรักภักดี แต่หากว่าบุคคลนั้นมองเห็นความพินาศฉิบหายของชาติเป็นเรื่องเล็ก เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ของตัวเองแล้ว จะจงรักภักดีไปทำไม
เงื่อนไขของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคพวกไม่มีอะไรเลยนอกจากผลประโยชน์ของตัวเอง ไม่เคยคิดที่จะยอมเสียสละเพื่อชาติบ้านเมืองเลยแม้แต่วินาทีใดวินาทีหนึ่ง ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทุกกระบวนความคิดมีแต่ประโยชน์ของตัวเอง ทั้งสิ้น ทั้งรูปธรรม และนามธรรม เช่น มีอัตตานิยมสูงในเชิงนามธรรม และขายหุ้นไม่ยอมเสียภาษีแม้แต่บาทเดียวเพื่อพัฒนาประเทศชาติ ทั้งๆ ที่กำไรนั้นได้มาจากเงินคนไทย ไม่ใช่คนสิงคโปร์หรือคนชาติใดชาติหนึ่งเลย
การ คิดที่จะป่วนการประชุมสุดยอดอาเซียนนั้น เป็นเรื่องเดิมพันของ พ.ต.ท.ทักษิณเพราะความคิดอ่าน ประสบการณ์ และสติปัญญาของเขาเมื่อเทียบกับ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ แล้วคนละชั้น และไม่มีเหตุผลใดที่กลุ่มประเทศอาเซียนอีก 9 ประเทศจะเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นบุคคลที่ควรเคารพนับถือ นอกจากจะเป็นคนเห็นแก่ตัวเท่านั้น เพื่อความแน่ใจขอได้ค้นคว้าประวัติความสามารถของ ดร.สุรินทร์ และเปรียบเทียบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นธรรมดานี่เอง
(nidd.riddhagni@gmail.com)
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000022499
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น