...+

วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2552

นโยบายพลังงานผิดพลาด “ใครรับผิดชอบ”

โดย ประสาท มีแต้ม   
       เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 กระทรวงพลังงานในฐานะผู้รับผิดชอบหรือจะเรียกว่าผู้จัดทำแผนผลิตไฟฟ้าเองได้ จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อปรับปรุง “แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า” ในช่วงปี 2551 ถึง 2564 ซึ่งเป็นแผนที่ได้จัดทำไว้ก่อนปี 2551 ในการรับฟังครั้งนี้ก็เพื่อจะได้ปรับปรุงเป็นครั้งที่ 2 สาเหตุที่ต้องปรับปรุงก็เพราะปัญหาเศรษฐกิจถดถอยทั้งในระดับโลกและในระดับ ประเทศไทยด้วย
      
        นักวิชาการอิสระด้านพลังงานที่ไม่ใช่ข้าราชการของกระทรวงพลังงานก็ได้ออกมา แสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจหลายอย่าง ขณะเดียวกันกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าก็ได้ตั้งคำถามพร้อม แผ่นผ้าด้วยข้อความสั้นๆ แต่เข้าใจง่ายว่า “นโยบายพลังงานผิดพลาด “ใครรับผิดชอบ”” (ภาพจากประชาไท) ผมจึงขอนำข้อความในแผ่นผ้านี้มาเป็นชื่อบทความเสียเลย

       ถ้าจะแบ่งคู่ความขัดแย้งทางความคิดนี้ออกเป็นสองฝ่ายก็ได้แก่ ฝ่ายกระทรวงพลังงานที่มีปลัดกระทรวงเป็นหัวหน้า กับอีกฝ่ายหนึ่งคือกลุ่มชาวบ้านและนักวิชาการอิสระ ข่าวไม่ได้บอกว่ามีกลุ่มผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการจ่ายค่าไฟฟ้า เป็นประจำได้เข้าร่วมหรือไม่ เพราะแผนหรือนโยบายพลังงานไฟฟ้าต้องมีผลกระทบต่อการกำหนดค่าไฟฟ้าอย่างแน่ นอน
      
        ในสภาพปัจจุบันของประเทศไทย เจ้าของโรงไฟฟ้าไม่ต้องกังวลใจใดๆ เลยว่า ไฟฟ้าที่ตนผลิตได้จะ “ล้นตลาด” เหมือนสินค้าเกษตรหรือไม่ เพราะในสัญญาการก่อสร้างจะเป็น แบบไม่ซื้อก็ต้องจ่าย ทั้งนั้น กล่าวคือ แม้ความต้องการไฟฟ้าจะลดลง แต่เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าจะต้องผลิตเท่าเดิม ผู้ที่จะต้องลดการผลิตลงก็คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ เมื่อรัฐได้ลงทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าไปแล้ว แต่ไม่ได้ผลิตไฟฟ้า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจึงตกกับเจ้าของรัฐซึ่งก็คือประชาชนนั่นเอง
      
        อนึ่ง กลุ่มนักวิชาการอิสระดังกล่าว ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปลัดกระทรวงพลังงาน (ดร.พรชัย รุจิประภา) คนเดียวมี 3 ตำแหน่ง คือ (หนึ่ง) ปลัดกระทรวงซึ่งมีหน้าที่ดูแลแผนพลังงานทั้งหมดของประเทศ (สอง) ประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ(สาม) ตำแหน่งประธานคณะกรรมการ บริษัทผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กฟผ. ด้วย
      
        เมื่อมือข้างหนึ่งเป็นผู้จัดทำแผน แต่มืออีกข้างหนึ่งก็รับแผนมาผลิตให้ได้ตามแผน โดยที่สองมือนี้เป็นของคนคนเดียวกัน ปัญหาก็เกิดขึ้นกับแผนพลังงานของประเทศโดยไม่ต้องสงสัย
      
        ประเด็นนี้เป็นหลักการสำคัญและใหญ่โตมากที่จะต้องแก้ไขและประชาชนผู้บริโภค เองก็ต้องรีบทำความเข้าใจ ในแต่ละปีคนที่อาศัยอยู่ในประเทศต้องเสียค่าไฟฟ้ารวมกันประมาณ 4 แสนล้านบาท ดังนั้น หากเกิดความผิดพลาดในแผนไปสัก 10-20% ความเสียหายก้อนโตก็เกิดขึ้นกับผู้บริโภค
      
        ประเด็นที่มีการโต้เถียงกันระหว่างคู่ขัดแย้งก็คือ
      
        เดิมทีเดียว (จากการปรับปรุงแผนครั้งที่ 1) กระทรวงพลังงานมีแผนจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมในช่วงปี 2551-2564 จำนวน 30,390 เมกะวัตต์ โดยใช้งบประมาณการก่อสร้าง 1.6 ล้านล้านบาท แต่เมื่อเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ (ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ระดับรางวัลโนเบลคนล่าสุดได้บอกว่า “ปัญหาได้ลุกลามจนเหนือการควบคุมไปแล้ว”) ทางกระทรวงพลังงานก็ขอเสนอปรับแผน หรือลดการลงทุนลง 6,000 เมกะวัตต์
      
        ทางนักวิชาการอิสระเสนอว่า ควรจะลดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าลงจำนวน 10,520 เมกะวัตต์ ไม่ใช่แค่หกพันเท่านั้น
      
        ถ้าเราเชื่อตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน เราก็สามารถลดการลงทุนที่ไม่จำเป็นลงประมาณ 3.1 แสนล้านบาท แต่ถ้าเราเชื่อตามนักวิชาการอิสระ เราจะประหยัดเงินลงไปได้ 5.5 แสนล้านบาท
      
        ต่างกันถึง 2.4 แสนล้านบาทเชียวนะ ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ เงินก้อนนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะปล่อยไปง่ายๆ ขอเรียนอีกครั้งว่า ผู้บริโภคไฟฟ้าควรจะต้องสนใจอย่างจริงจัง จะนั่งรอให้สหพันธ์ผู้บริโภค (กลุ่มของ ส.ว. รจนา โตสิตระกูล) หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งทำงานอย่างโดดเดี่ยวไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
      
        คำถามที่กลุ่มชาวบ้านตั้งขึ้นอย่างซื่อๆ ว่า นโยบายพลังงานผิดพลาด “ใครรับผิดชอบ” ยังไม่ใครตอบได้ ยังไม่มีใครรู้ว่าใครถูกใครผิดเพราะเป็นเรื่องของอนาคตที่ยังมาไม่ถึง
      
        เขียนมาถึงตรงนี้ก็นึกถึงวาทะเด็ดของ Niels Bohr นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล (ปี 1922) ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่งที่มีความเข้าใจทางสังคมอย่างลึกซึ้งว่า “มันเป็นการยากมากที่จะทำการพยากรณ์ได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันเป็นเรื่องของอนาคต (It is very difficult to make an accurate prediction, especially about the future.)”
      
        ถ้านึกถึงเรื่องโจ๊กหรือเรื่องล้อกันในวงการนักวิชาการว่า “เราสามารถแบ่งนักเศรษฐศาสตร์ได้ออกเป็นสองจำพวก คือพวกที่ทำนายอนาคตไม่ถูกกับพวกที่ไม่รู้ตัวเองว่าตนทำนายไม่ถูก”
      
        อย่างไรก็ตาม เราในฐานะผู้บริโภค เราสามารถย้อนกลับไปดูในอดีตก็พบว่า กระทรวงพลังงานหรือในนามของ “คณะอนุกรรมการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้า” ได้พยากรณ์เกินความจริงมาตลอด กล่าวเฉพาะเดือนมีนาคม 2551 ซึ่งภัยเศรษฐกิจยังลามมาไม่ถึง การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดได้สูงเกินจริงไปแล้วถึง 1,400 เมกะวัตต์ คิดเป็นตัวเงินก็มากโขอยู่
      
        ไม่ว่าจะเป็นคำพูดของนักฟิสิกส์รางวัลโนเบลหรือเรื่องโจ๊กของนักเศรษฐศาสตร์ นั้น ต่างตั้งอยู่บนสมมติฐานของความบริสุทธิ์ใจในการพยากรณ์ แล้วผลการพยากรณ์ก็เป็นเรื่อง “ยากมาก” ที่จะถูกต้อง แต่ถ้าการพยากรณ์นั้นตั้งอยู่บนสิ่งอื่นที่ไม่ตรงไปตรงมาด้วยแล้วยิ่งไปกัน ใหญ่
      
        ผู้อ่านหลายท่านอาจจะรู้สึกเห็นใจผู้ทำการพยากรณ์ ว่า “ผิดพลาดบ้าง” เป็นเรื่องธรรมดา แต่ข้อมูลในอดีตมันไม่ใช่แค่ “บ้าง” แต่มันเกินจริงทุกครั้ง และมีขนาดเป็นตัวเงินมากเสียด้วย
      
        ในช่วงเศรษฐกิจปี 2540 เราพบว่าในปี 2544 เรามีโรงไฟฟ้าสำรองมากเกินจริงถึง 4 แสนล้านบาท การใช้ไฟฟ้าในช่วงนั้นได้ลดลงอย่างต่อเนื่องติดต่อกันถึง 32 เดือน (กรกฎาคม 2540 ถึง กุมภาพันธ์ 2543)
      
        คราวนี้ ผมได้เข้าไปดูข้อมูลของกระทรวงพลังงาน ล่าสุดพบว่าการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยได้เริ่มลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนตั้งแต่ เดือนกันยายน 2551 โดยมีอัตราการลดลง 0.1% แต่พอมาถึงเดือนธันวาคม กลับลดลงถึง 10.3% ไม่มีใครทราบได้ว่ามันจะลากยาวไปสั้นกว่าหรือนานกว่า 32 เดือน ในกรณีโรคต้มยำกุ้ง
      
        สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญยิ่งในการพยากรณ์ของบ้านเราก็คือ การคิดถึงความต้องการในอนาคตบนพื้นฐานร้อยละของปัจจุบัน เมื่อปัจจุบันมันลดลง การพยากรณ์ในอนาคตยิ่งผิดพลาดมากขึ้น กล่าวให้ชัดเชิงตัวเลขก็คือ ถ้าเราเชื่อว่าอัตราการเติมโตปีละ 5% ถ้าฐานเดิมลดลงจาก 1,000 หน่วยมาอยู่ที่ 900 หน่วย อีก 15 ปีผ่านไป ความแตกต่างจะสูง 208 หน่วย
      
        ปัจจุบันเรามีโรงไฟฟ้าอยู่เกือบ 3 หมื่นเมกะวัตต์ ดังนั้นความแตกต่างของผลการพยากรณ์กับความเป็นจริงจะสูงมาก
      
        นี่คือปัญหาใหญ่
      
        แล้วเราควรจะพยากรณ์อย่างไรดี?
      
        การตั้งคำถามนี้อาจจะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทั้งหมด
      
        ความจริงทั้งหมดก็คือ ยังมีโรงไฟฟ้าอีกประเภทหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องวางแผนระยะยาว แต่รัฐบาลและกระทรวงพลังงานไม่สนใจ นั่นคือโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น โรงไฟฟ้าจากกังหันลม โรงไฟฟ้าชีวมวล (จากขี้หมูของเสียจากโรงงาน) เป็นต้น
      
        โรงไฟฟ้าประเภทดังกล่าวใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 1 ปีเท่านั้น โดยไม่ต้องเสี่ยงกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ในขณะที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เช่น โรงไฟฟ้าจากถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ต้องใช้เวลานานถึง 5-7 ปีในการก่อสร้างและการสร้างการยอมรับจากชุมชน หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อาจใช้เวลานานถึง 12 ปีซึ่งเสี่ยงมากที่จะเกิดการผันผวน
      
        ระยะเวลาในอนาคต 5-12 ปีเป็นเรื่องยากที่จะพยากรณ์ได้ถูกต้อง แต่ถ้าสั้นลงมาเพียง 1 ปีก็เป็นเรื่องไม่ยากที่จะพยากรณ์และวางแผน
      
        ท่านผู้อ่านที่รับข้อมูลด้านเดียวจากกระทรวงพลังงานและจากกลุ่มพ่อค้า พลังงานมาตลอด อาจจะคิดว่า “เมืองไทยไม่มีลมแรงพอจะผลิตไฟฟ้า ไม่เหมือนประเทศในยุโรป ต้นทุนกังหันยังแพงมาก” ต่างๆ นานา
      
       แต่ผลการศึกษาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ตลอดจนของกระทรวงพลังงานเองก็สรุปว่ามีความเป็นไปได้ แต่ผลการศึกษานี้ก็ถูกเผยแพร่ในวงจำกัด ไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ
      
       ผมอยากจะจบบทความนี้ด้วยข้อสรุปของนักเคลื่อนไหวด้านพลังงานหมุนเวียนว่า
      
       “ความ เป็นไปได้ของพลังงานลม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเร็วลม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี และไม่ได้ขึ้นอยู่กับต้นทุนการผลิต แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลเท่านั้น”
      
       เมื่อผู้วางนโยบายตลอดจนผู้วางแผนพลังงาน ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใดๆ เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น ภาระที่ไม่จำเป็นก็ตกเป็นของประชาชนอยู่ร่ำไป
      
       “ได้ยินบ่ พี่น้อง ได้ยินบ่” เสียงเพลงของน้าหงา คาราวาน ผ่านเข้ามาในสมองของผมโดยไม่ได้ตั้งใจครับ.
      
       (prasart.m@psu.ac.th)

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000023493

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น