...+

วันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

รัฐวิสาหกิจฝีแตก

โดย สุวิชชา เพียราษฎร์    
       รัฐวิสาหกิจหลายแห่งวันนี้ไม่ต่างจากอาการของคนกำลังฝีจะแตก!
      
        จากฝีกลัดหนอง เชื้อหมักหมมบ่มได้ที่จนหัวหนองบวมเบ่ง เผยให้เห็นความเน่าในอันเกิดจากการบริหารงานและการเข้าแทรกแซงจากฝ่ายการเมื องรัฐวิสาหกิจอย่างน่าขยะแขยง
      
        ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ซึ่งได้ระบุไว้ในรายงานกรอบและงบประมาณของรัฐวิสาหกิจ ประจำปีงบประมาณ 2552 เมื่อไม่นานมานี้ อธิบายเรื่องนี้ได้ดี
      
        ตามข้อมูลของสภาพัฒน์ บอกว่า รัฐวิสาหกิจบางแห่งขาดทุนอย่างหนัก อาทิ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ที่คาดว่า ในปี 2552 ทั้ง 4 แห่ง จะขาดทุนจากผลประกอบการไม่ต่ำกว่า 27,000 ล้านบาท
      
        ที่น่าสนใจสภาพัฒน์ ระบุว่าบางแห่งเริ่มขาดทุนรวมกว่าแสนล้าน!
      
        ขณะที่มองไปที่ฐานะการเงินแต่ละแห่งยิ่งเห็นถึงปัญหาที่สะสมเป็นดินพอกหางหม ู โดยรวมๆ บรรดารัฐวิสาหกิจทั้งหมด 47 แห่งมีหนี้สินทั้งหมดอยู่ที่ 2.79 ล้านล้านบาท แต่มีสินทรัพย์รวมกันเพียง 3.91ล้านล้านบาท บางแห่งที่แย่ๆ ถึงกับพบว่ามีหนี้สินใกล้จะล้นพ้นตัวเข้าไปทุกที
      
        ปีนี้ชัดเจนยิ่งกว่าเศรษฐกิจโลกถดถอย เศรษฐกิจไทยยังมองไม่เห็นก้นเหว การบริหารธุรกิจเอกชนแทบทุกที่อยู่ในภาวะดิ้นรนต่อสู้อย่างหนักเพื่อความอยู ่รอด แต่อย่างไรก็ตาม องค์กรธุรกิจเหล่านั้นก็ยังดีที่มีเป้าหมายและพอมองเห็นอนาคต แต่สำหรับองค์กรรัฐวิสาหกิจเหล่านี้แค่จะฟื้นคืนชีพกลับคืนมาอย่างไรน่าจะยา กเย็นแสนเข็ญ และน่าหดหู่กว่านั้น ก็คือ ภาระรับผิดชอบเต็มๆ ที่จะตกลงมาบนบ่าของประชาชน
      
        เนื่องเพราะรัฐวิสาหกิจทั้งหลายถือหุ้นใหญ่โดยรัฐบาล และเงินงบประมาณที่เก็บมาจากภาษีของประชาชนก็ถูกนำไปอุ้มบรรดารัฐวิสาหกิจทั ้งหลายให้ผู้บริหารเอาไปปู้ยี้ปู้ยำ ให้นักการเมืองและพวกเข้ามาสูบเงินออกไป
      
        ที่ผ่านมาคนไทยไหนต้องแบกรับทั้งความไม่เอาไหนในการบริการที่แสนห่วย เมื่อองค์กรพวกนี้มีปัญหาก็ยังต้องควักเงินเอาภาษีที่จ่ายไปทุกๆ ปีไปอุ้มเอาไปอุดความเน่าเฟะของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ อย่างไม่ยินยอมพร้อมใจเสมอ คิดดูว่าน่ารันทดมากชีวิต
      
        จริงอยู่รัฐวิสาหกิจบางแห่งก็น่าเห็นใจ เพราะไม่ว่าจะบริหารดีอย่างไร แต่เนื่องจากเป็นบริการสาธารณะไม่มีวันที่จะได้ผลกำไร หรือแสวงหากำไร การขาดทุน หรือ ไม่ได้พัฒนาไปไหนอยู่ในวิสัยที่พอให้อภัยได้
      
        ทว่า สำหรับพวกที่มีกำไร และเป็นรัฐวิสาหกิจที่เคยนำรายได้ส่งให้รัฐปีหนึ่งหลายหมื่นล้าน เรียกได้ว่า เป็นรัฐวิสาหกิจเกรดเอ อย่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่กำลังมีข่าวประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างหนัก ใครจะเชื่อว่า สายการบินแห่งชาติที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นความภาคภูมิใจของประเทศ เป็นตัวอย่างของรัฐวิสาหกิจยุคแรกๆ ที่แปรรูปด้วยเหตุผลเพื่อเพิ่มความคล่องตัวและยกระดับการบริหารแข่งขันกับสา ยการบินประเทศอื่นๆ วันนี้จะกู้เงินแบงก์เพื่อมาเสริมสภาพคล่องยังลำบาก สุดท้ายไม่แคล้วกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่คงต้องขวนขวายหาเงินให้เ ช่นเคย
      
        ทอท.หรือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ถูกผู้ถือหุ้นรายย่อยฟ้องต่อศาลปกครอง ประจานธรรมาภิบาลของผู้บริหารและบอร์ดที่ห่วงแต่เงินโบนัส ผลักดันคนของตัวเข้ามานั่งสืบทอดอำนาจเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง
      
       ใครจะเชื่อว่า องค์กรที่ดูแลบริหารสนามบินแห่งชาติที่ใหญ่โตโอ่อ่ามูลค่าหลายแสนล้าน ค่างานโครงการนับร้อยนับพัน แค่บริหารให้มีกำไรยังทำไม่ได้ กำไรที่เห็นกลับเป็นเงินรายได้ที่มาจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคนิค นโยบายบัญชี และเงินประกันของบริษัทเอกชนที่ริบมาจากการไกล่เกลี่ยของศาล แต่คนเหล่านั้นก็ไม่ได้นำพาที่จะเพิ่มโบนัสให้ตนเอง
      
        มันน่าตั้งคำถามอย่างยิ่งว่า รัฐบาลชุดนี้จะยอมให้เป็นเช่นนี้ต่อไปหรือ?
      
       ทั้งนี้อย่างที่รับทราบกันดีว่า รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งคือขุมทรัพย์อันโอชะของนักการเมืองมาช้านาน เพราะพวกเขารู้ว่า งบประมาณปีๆ หนึ่งที่จะตกมาถึงไม่ใช่น้อย ไม่นับรวมโครงการผูกพันเบี้ยบ้ายรายทางอีกพะเรอเกวียนที่เป็นคล้ายของหวานให ้พวกเขาทำมาหารับประทานอย่างเป็นล่ำเป็นสันไม่มีวันหมด
      
        กระบวนการในการทุจริตคอร์รัปชันก็ไม่ได้ซับซ้อนยุ่งยาก เพียงแต่ใครเข้ามามีอำนาจก็จะแต่งตั้งคนของตนเองเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการบริห ารของบริษัท เอาใครก็ได้มาเป็นบอร์ด คุณสมบัติแค่พอผ่านไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสม หรือใครจะวิจารณ์ก็ไม่ได้สะทกสะท้านอะไรเพราะมีอำนาจอยู่ในมือ
      
        ที่เลวร้ายที่สุดก็คือ ปัจจุบันตำแหน่งบอร์ดกลายเป็นตำแหน่งที่มีค่า มีการวิ่งเต้น และเอาเอกชนบุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจ-บริการของรัฐวิสาหกิจนั้นเข ้ามาเป็นบอร์ดโดยไม่ได้เกรงกลัวหรือละอายกัน
      
        เศรษฐกิจจะแย่ ประชาชนในประเทศจะยากจนข้นแค้นเพียงใด เราจะไม่เคยเห็นรัฐวิสาหกิจเหล่านี้จะยกเลิก ชะลอโครงการ หรือทบทวนโครงการลงทุนที่เกินเลยความจำเป็น
      
        ไม่อยากคิด และหวังว่า นักการเมือง ผู้บริหาร และบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่แย่ๆ เหล่านั้นจะมีคำว่า “พอเพียง” จะมีคำว่า “ธรรมาภิบาล” ในหัว แต่หากรัฐบาลไม่ลงมือทำอะไรเลยปล่อยเรื้อรังจากแผลฝีธรรมดาไม่นานหรอกคงกลาย เป็นมะเร็งร้ายที่ยากเกินรักษา...บทเรียนในอดีตก็มีแล้ว
      
        ค ุณอภิสิทธิ์ครับ คนเมื่อฝีแตก บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องดีอย่างน้อยก็โล่งเบาสบายตัว ทว่า สำหรับกับรัฐวิสาหกิจที่ฝีแตกคิดยังไงก็ไม่ใช่.
      
       ท่านผู้อ่านสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ที่ เอ็มบล็อก http://mblog.manager.co.th/suwitcha67 หรือ E-mail suwitcha@manager.co.th

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000012087

1 ความคิดเห็น: