โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
ลีลาการตีโพนจากแชมป์โพนถ้วยพระราชทาน ปี 51
ตึง...ตึง...ตึง... นี่เป็นเสียงของเครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง เรียกว่า "โพน" จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับ "กลอง"
โพนเป็นภาษาท้องถิ่นของภาคใต้ใช้เรียกเครื่องดนตรีพื้นบ้าน เสียงของมันมีความดังก้องกังวาน ที่แสดงถึงพลังอำนาจ ความยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะโพนที่จังหวัดพัทลุงนั้นได้รับการยอมรับว่า ยอดเยี่ยมไม่เป็นรองใคร
ทำความรู้จัก "โพน" เมืองพัทลุง
ไม่ว่าต้นกำเนิดของโพนจะมาจากที่ใดก็ตาม แต่ที่แน่นอนที่สุดคือ "โพน" อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนพัทลุงหรือคนเมืองลุงมายาวนาน วิธีการทำโพน และลีลาท่าทางการตีโพนของคนเมืองพัทลุงก็จะไม่เหมือนกับเมืองอื่นๆ คือมีทั้งความสวยงามและความแข็งแรงเข้มแข็งอยู่ในที
กลองโพนแห่งหมู่บ้านทำโพน
สำหรับอดีตของโพนนั้น ในอดีตจะนำมาตีเพื่อให้สัญญาณเวลาฉันท์อาหาร ใช้ตีบอกเหตุร้ายในเวลากลางคืน หรือตีโพนเพื่อเป็นสัญญาณการเรียกประชุม นอกจากนั้นยังใช้โพนเพื่อให้จังหวะการลากพระสร้างความสนุกสนานให้กับขบวนลาก พระ การลากพระ(ชักพระ)เป็นประเพณีที่สืบทอดมาแต่โบราณของชาวใต้จัดขึ้นในวันออก พรรษา
เรียนรู้วิธีการทำโพน จากภูมิปัญญา
ปัจจุบันการทำโพนกลายเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดพัทลุงไปแล้ว โดยเฉพาะที่หมู่บ้านทำโพน ม. 3 ต.ปรางหมู่ อ.เมือง จ.พัทลุง ถือเป็นหมู่บ้านที่ขึ้นชื่อลือชาในการทำโพนมาแต่ช้านาน ช่างทำโพนหมู่บ้านนี้ถ่ายทอดเคล็ดลับวิธีการทำโพนสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยในปัจจบันมีการมีการประยุกต์ นำเทคนิคและคิดค้นวิธีการเพื่อให้ได้โพนที่มีเสียงไพเราะมากยิ่งขึ้น
หอโพนมงคลเมืองพัทลุง
ขั้นตอนการทำโพนนั้น ช่างจะเริ่มจากการการคัดเลือกไม้ที่จะนำมาทำ ไม้ที่นิยมนำมาทำจะเป็นไม้เนื้อแข็งได้แก่ ไม้ตลาดโตนด ไม้จำปาปีก ไม้ขนุนป่า ทั้งต้นมาตัดให้มีความสมส่วนกับเส้นผ่าศูนย์กลางของไม้ที่นำมาทำ โดยมีสัดส่วนความกว้างของหน้าโพนยาวเท่ากับความยาวของหน่วยโพน ตั้งแต่ช่วงระหว่างลูกสักของหน้าโพนทั้งสองหน้า
หลังจากนั้นเจาะให้มีลักษณะกลมกลวงเป็นอกไก่ โดยใช้ ขวาน สิ่ว ปิ้ง ขวานถาก สิ่งกระทุ้ง เมื่อขุดเจาะไม้เป็นหน่วยโพนตามความต้องการแล้ว นำหน่วยโพนมาวางบนหมอนรองโพนซึ่งมีความกว้างกว่าหน้าโพน อาจเป็นแผ่นไม้หรือตีไม้เป็นกากบาทวางอยู่ในตำแหน่งตรงกลางของลานแม่ไฟ ซึ่งเป็นแผงหรือผังไม้สี่เหลี่ยมจัตุรัสใช้ยึดคันเบ็ดในการดึงรั้งการขึง หนัง
สำหรับหนังที่ใช้หุ้มโพนนิยมใช้หนังควายแก่ และผอมเนื่องจากมีไขมันติดน้อย มีความทนทาน ถ้าหากเป็นควายที่มีการใช้งานยิ่งดีเพราะว่าหนังจะมีความเหนียว และทนทานสามารถใช้งานได้นาน หนังที่จะใช้ต้องเป็นหนังสด นำมาหุ้มหน้าโพนด้วยการแทงไม้กลัดกับชายหนังเพื่อเกี่ยวหูชองแช่เกลือ นำมาขึงแผงตากให้แห้งแล้วนำมาฆ่า (ฆ่าหนังคือการตีหนัง) โดยนำมาแช่น้ำที่ผสมกับหยวกกล้วย ลูกมะเฟืองเหลี่ยม ตะไคร้แช่หมักไว้หนึ่งคืน แล้วนำมาฆ่าด้วยการตีด้วยค้อนไม้ที่ทำด้วยไม้กระถินณรงค์ด้ามหวายตีจนหนัง ยึดตัวเต็มที่แล้วนำไปหุ้มโพน (การตีฆ่าหนังต่อตีไปเรื่อยๆจนหนังตึงและดังดี)
ช่างทำโพนกำลังแทงไม้กลัดชายหนังเพื่อเกี่ยวหูชองอย่างแข็งขัน
หลังจากนั้นนำเนื้อมะพร้าวกะทิมาชโลมหนัง เพื่อให้น้ำกะทิกัดหนังทำให้หนังเป็นมันใสและสีผิวหนังลอกออกจะเป็นสีขาวสวย ขณะที่ตีหนังจะต้องชโลมมะพร้าวกะทิลงบนหนังทิ้งไว้ทั้งคืน จนกว่าจะได้หน้าโพนที่เสียงดี และมีข้อควรระวังคือ เวลาตากหนังต้องระวังไม่ให้มดแดงขึ้น เพราะหนังที่มดแดงปัสสาวะใส่จะทำให้หนังหมดสภาพ
และก่อนที่จะหุ้มหน้าโพนจะต้องเจาะรูลูกสักให้ห่างจากขอบลงมาเล็ก น้อย เจาะให้รอบหน่วยโพนทั้ง 2 ด้าน ลูกสักแต่ละลูกจะห่างกันไม่เกิน 2 เซนติเมตร โพน 1 ลูกจะใช้ลูกสักประมาณ 80-150 ลูก ดึงหนังให้ตึงใช้ไม้กลัดที่เหลาจากไม้ไผ่ให้แหลมมาแทงชายหนัง เพื่อใช้เป็นที่ยึดจับหูชองให้รอบผืนหนัง เกี่ยวหูชองด้วยเชือกที่มีความแข็งแรงรอบหน่วยโพนแล้วใช้ไม้คันเบ็ดที่มี ความแข็งแรงทนทานในการรับน้ำหนักแรงดึงสอดใส่ในหูชอง ปลายไม้คันเบ็ดด้านหนึ่งเลยเข้าไปสอดขัดกับหมอนรองโพน ส่วนปลายไม้คันเบ็ดอีกด้านหนึ่งใช้เชือกผูกดึงไว้กับไม้ลานแม่ไฟ แล้วตีหนังให้ยึดตึงสลับกับดึงคันเบ็ดลงมาเรื่อง ๆ จนหนังตึงและได้เสียงที่ต้องการ
ใช้คันเบ็ดดึงหนังหุ้มโพน
เมื่อได้หนังที่เสียงไพเราะแล้วนำลูกสักที่เหลาด้วยไม้เป็นเดือยแหลม หัวมนด้วยไม้เนื้อแข็ง ตอกยึดหนังกับหน่วยโพนตามรูที่เจ้าไว้โดยรอบหน่วยโพน แล้วใช้หวายมาขัดเป็นปลอกลายหางเลนรัดหนังกับหน่วยโพนใต้แนวลูกสักทั้ง 2 ด้าน ก็จะเสร็จสิ้นการหุ้มโพน จากนั้นนำโพนลงจากหมอนรองโพนแล้วนำมาใส่ขาไม้ยึดโพนให้ตั้งได้อย่างมั่นคง
เคล็ดลับ ที่ (ไม่) ลับกับการตีโพน
เสกสรร อ่อนทอง แชมป์โพนขนาดกลาง เล่าให้ฟังว่า "เริ่มเล่นโพนมาตั้งแต่อายุ 16 ปี โดยเริ่มเล่นกันในหมู่บ้าน จะมีนักเรียน นักศึกษา มาซ้อมตีกัน โดยจะฝึกซ้อมทุกวัน ตั้งแต่ 5 โมงเย็นถึง 3 ทุ่ม ปีนี้เป็นแรกที่ผมได้รางวัลถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ หลักสำคัญในการตีโพนคือต้องตีให้ดังๆใส่แรงเต็มที่ คนที่ตัวใหญ่ได้เปรียบเพราะมีแรงเยอะ โพนที่ใช้แข่งชื่อว่า สุวรรณโณ เหตุผลที่ใช้ชื่อโพนสุวรรณโณเพราะว่าเป็นฉายาทางธรรมที่พระอุปัชฌาย์ตั้ง ให้"
เสกสรร ยังบอกอีกว่า เทคนิคการตีโพนที่ดี ผู้ตีต้องมีร่างกายแข็งแรงและมีพละกำลังมากเพราะต้องตีให้ครบตามเวลาที่ กำหนด ผู้ตีโพนต้องมีลูกเล่นและไหวพริบยั่วเย้าให้คู่แข่งหลงทาง โพนเสียงทุ้มจะเป็นเสียงที่ต้องให้ตีสม่ำเสมอ ส่วนโพนเสียงแหลมจะต้องตีขัดให้กรรมการได้ยิน โดยรวบรวมพลังที่มีแล้วทิ้งลงไปที่จุดกลางโพน ความแรงและพละกำลังในการตีโพนต้องสม่ำเสมอ
หนังสัตว์ที่ใช้ในการทำโพน
ย้อนอดีตประเพณีแข่งโพน
ประเพณีแข่งโพน เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวปักษ์ใต้ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆกับประเพณีลากพระ เนื่องจากวัดส่วนมากจะอยู่ในละแวกเดียวกัน เสียงโพนที่ดังกึกก้องนั้นทำให้ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าดังมาจากวัดไหน จึงเป็นที่มาของการแข่งโพน จังหวัดพัทลุงมีงานแข่งขันโพนที่ยิ่งใหญ่และสนุกสนานกว่าเมืองอื่นๆและจัดใน วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ตรงกับวันออกพรรษา ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี จึงมีคำพูดจากปากของผู้ที่ได้ชมการแข่งโพน "จะร้อยพันแม้นหมื่นเสียงตะโกน ฤาจะสู้เสียงแข่งโพนที่เมืองลุง" กลายเป็นคำกล่าวที่สะท้อนให้เห็นความยิ่งใหญ่และความมีชื่อเสียงของกลองโพน ที่จังหวัดพัทลุง จนเป็นที่กล่าวขานกันว่า "จะแลแข่งโพนให้หรอยและหนุกต้องแข่งโพนเมืองลุง"
ลักษณะของการแข่งโพนสามารถแบ่งได้ 2 ประเภทด้วยกันคือ การแข่งขันมือ (ตีทน) การแข่งขันมือไม่ค่อยได้รับความนิยมเนื่องจากต้องใช้เวลาตีนาน เพราะต้องแข่งขันกันจนกว่าผู้ตีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะหมดแรง หรือมืออ่อนลงไปเองจึงตัดสินรู้แพ้รู้ชนะได้ อีกประเภทหนึ่งคือการแข่งขันจันเสียง การแข่งขันจันสียงนี้จะได้รับความนิยมมากในปัจจุบันเพราะสามารถตัดสินผู้ชนะ ได้ง่ายและใช้เวลาเพียงนิดเดียว
โพนดี โพนดัง ต้องโพนเมืองพัทลุง
การแข่งขันตีโพน มักจะเริ่มขึ้นในช่วงปลายเดือน 10 และสิ้นสุดในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งตรงกับวันออกพรรษาพอดี สถานที่ทำการแข่งขันจะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการผู้จัดว่าจะจัดขึ้นที่ใด ส่วนมากนิยมแข่งขันกันในช่วงกลางคืนตั้งแต่เวลา 21.00 น. เป็นต้นไป ถ้าหากมีผู้เข้าแข่งขันตีโพนจำนวนมากอาจจะแบ่งประเภทของกลองโพนโดยวัดจาก เส้นผ่านศูนย์กลางได้เป็น ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่
การตีโพนเป็นศิลปะที่เปรียบเหมือนสัญลักษณ์ของจังหวัดพัทลุง ถ้าลูกหลานไม่ช่วยกันอนุรักษ์ไว้หรือช่วยกันเผยแพร่ศิลปะที่ดีงามนี้ให้คน ทั่วไปได้รู้จัก โพนจะกลายเป็นเครื่องประดับชิ้นหนึ่งที่ประดับไว้ในบ้านเพื่อความสวยงามเท่า นั้น และเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลกับชีวิต อยากเชิญชวนให้มาชมการแข่งขันตีโพนและร่วมตีโพนสำคัญๆที่หอโพนทั้ง 9 จุดในจังหวัดพัทลุง และถ้ามาที่จังหวัดพัทลุงแล้วไม่ได้มาตีโพนทั้ง 9 ลูก ก็เหมือนมาไม่ถึงจังหวัดพัทลุงโดยสมบูรณ์
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9520000017832
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น