โดย อุษณีย์ เอกอุษณีษ์
ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานทรงคุณค่าของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดปัจจุบัน ที่ความจริงจะต้องหมดอายุลงตั้งแต่ 13 กรกฎาคม 2550 แต่โชคดีที่ระหว่างยังรักษาการเพื่อรอการสรรหาคณะกรรมการสิทธิฯ ชุดใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2550 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ก็ได้ลงมือลงแรงสร้างความกระจ่างให้กับสังคม ในเหตุการณ์สลายการชุมนุม 7 ตุลาฯ
รายงานชิ้นนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากการทำหนังสือร้องเรียนของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นเป็นหนังสือคำร้องที่ 492 /2551 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2551 ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เข้าไปตรวจสอบเหตุกรณีสลายการชุมนุม วันที่ 7 ตุลาคม 2551 และหลังจากนั้นเพียง 10 วัน รายงานสรุปการสอบสวนก็ได้คลอดออกมาสู่สายตาประชาชน จำได้ว่าดิฉันยังมีโอกาสได้อ่านรายงานทั้งฉบับให้พ่อแม่พี่น้องได้ฟังบนเวที การชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล รายงาน 7 ตุลาเลือดนั้น มีคณะอนุกรรมการชุดของท่านสุรสีห์ โกศลนาวิน เป็นประธาน จัดทำและเผยแพร่หลังให้คณะกรรมการสิทธิฯ ชุดใหญ่เห็นชอบ เมื่อ 17 ตุลาคม 2551
12 ธันวาคม 2551 รายงานชิ้นสำคัญชิ้นนี้ ถูกส่งถึงมือ ป.ป.ช. โดยอาจารย์วิชา มหาคุณ หนึ่งในกรรมการ ป.ป.ช. ออกมาให้สัมภาษณ์ว่ารายงานกรรมการสิทธิฯ มีการสอบปากคำผู้เกี่ยวข้องมากถึง 99 ปาก และแม้จะเป็นการตรวจสอบในเชิงละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งมีหลักฐานต่างๆ ที่จะเอาผิดผู้อยู่เบื้องหลังของการสลายการชุมนุม แต่ไม่ได้ตรวจสอบเอาผิดใครอย่างชัดเจน แต่เมื่อสำนวนส่งมาถึง ป.ป.ช.ข้อมูลของคณะกรรมการสิทธิฯ ที่นำมาผนวกกับข้อมูลของ ป.ป.ช. เชื่อว่าจะสมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานเป็นซีดี วีซีดี เป็นจำนวนมากได้มาจากภาคเอกชนที่ถ่ายทำไว้ดีมาก ซึ่งจะถ่ายทุกขั้นตอนตั้งแต่กลุ่มพันธมิตรฯ เดินทางมาปิดล้อมบริเวณหน้ารัฐสภา จนถึงช่วงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผลการสอบของ ป.ป.ช.เป็นอย่างมาก
และเมื่อวานนี้เอง ที่อาจารย์วิชา มหาคุณ ออกมาให้ข้อมูลอีกครั้งว่า 23 กุมภาพันธ์นี้เราจะได้ทราบบทสรุปเบื้องต้นการสอบสวนของ ป.ป.ช.แล้ว เรียกว่าอีกไม่นานเกินรอ ต้องถือว่าโชคดีที่สังคมไม่ได้ฝากความหวังอะไรมากนัก กับคณะกรรมการอิสระฯ ชุดของท่านปรีชา พานิชวงศ์ ซึ่งรัฐบาลยุคของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ลงนามแต่งตั้ง เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว การออกมาประกาศขอยุติการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ ในที่ประชุมครม.ที่มีนายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะ เป็นประธาน เมื่อวันอังคาร คงจะทำให้พ่อแม่พี่น้องของเราหลายคนได้ตายฟรี และอีกหลายคนคงต้องเสียอวัยวะไปฟรีๆ
ว่าไปแล้ว สังคมก็ไม่ได้ยอมรับการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้มาตั้งแต่ต้น ไม่ใช่เพราะสังคมไม่เชื่อมั่นในตัวประธาน ท่านปรีชา พานิชวงศ์ แม้ตามข่าวจะระบุว่าท่านใกล้ชิดกับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหามือเปื้อนเลือดในเหตุการณ์ 7 ตุลาฯ แต่เพราะมันมีเงื่อนงำหลายประการ ที่ทำให้คณะกรรมการฯ ชุดนี้ไม่ได้รับความเชื่อถือจากสังคม เป็นต้นว่า
- รัฐบาลนายสมชายซึ่งตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในเหตุการณ์ 7 ตุลาฯ ไม่ควรมีสิทธิเป็นผู้ลงนามแต่งตั้งกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบการกระทำของตัว เอง
- การแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ มีขึ้นในวันที่ 17 ตุลาคมฯ หลังกรรมการสิทธิมนุษยชนออกรายงานชี้มูลความผิดรัฐบาลและตำรวจออกมาแล้ว คล้ายกับต้องการจะใช้คณะกรรมการอิสระชุดที่ตัวเองตั้งขึ้นเพื่อซื้อเวลา และลดกระแสกดดันจากสังคม
- (อดีต) รัฐบาลประกาศไม่ยอมกำหนดกรอบเวลาการทำงานของคณะกรรมการอิสระฯ เสร็จเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ทั้งที่รายงานการสอบสวนความผิด ควรต้องดำเนินการให้เสร็จโดยเร็ว ป้องกันหลักฐานพยานถูกทำลาย
- กรอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอิสระฯ ไม่มีข้อไหนระบุว่า ให้ชี้มูลผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้
- มีการตั้งข้อสังเกตว่า แม้นายปรีชา พานิชวงศ์ ประธานกรรมการอิสระจะเป็นถึงอดีตรองประธานศาลฎีกา และรัฐบาลให้สิทธิประธานฯ เลือกคณะกรรมการที่จะทำงานร่วมกันได้ แต่เมื่อนายปรีชาเลือกรายชื่อกรรมการหลายท่านเสนอ ครม. กลับถูกครม.ตัดบางรายชื่อทิ้ง โดยบางกระแสระบุว่า ชื่อของนายนาม ยิ้มแย้ม เป็นอีกชื่อที่ ครม.นายสมชายไม่ยินยอมให้เข้าร่วมดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการอิสระชุดนี้ ด้วยเท่ากับว่า คณะกรรมการอิสระชุดนี้ถูกแทรกแซงจากรัฐบาลสมชายตั้งแต่ต้น
- หลังการแต่งตั้งปรากฏมีปัญหาการทำงานของคณะกรรมการ ตั้งแต่การประกาศไขก๊อกของนายเจริญจิต ณ สงขลา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551โดยให้เหตุผลว่ามีปัญหาทางด้านสุขภาพ ขณะที่มีข่าวออกมาว่า ประธานคณะกรรมการฯ ก็เคยเปรยว่า ตนก็มีปัญหาสุขภาพเหมือนกัน โดยนั่งนานเกิน 3 ชั่วโมงไม่ได้ เพราะมีปัญหาบริเวณกระดูกสันหลัง พร้อมยืนยันว่า หากรัฐบาลเข้ามาแทรกแซงการทำงานก็พร้อมจะลาออก
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ามติของ ป.ป.ช. คงจะออกมาภายในมีนาคม หลังคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้ได้มีการล้อมวงคุยรอบสุดท้ายในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 ดิฉันเองมีความเชื่อมั่นว่า รายงานของ ป.ป.ช.ที่จะออกมา คงไม่ต่างกับรายงานของกรรมการสิทธิฯ มากนั้น โดยเฉพาะการชี้มูลผู้อยู่เบื้องหลังและต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ 7 ตุลาฯ ดังที่ตอนหนึ่งของรายงาน ระบุว่า
“ปัญหาว่า ผู้ใดจะต้องรับผิดชอบในการสลายการชุมนุมของประชาชนที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เห็นว่า การสลายการชุมนุมในครั้งนี้เกิดจากความต้องการของรัฐบาลในการแถลงนโยบายต่อ รัฐสภาให้ได้ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เท่านั้น หาได้มีการสลายการชุมนุมเพื่อดำเนินการตรวจค้นและจับกุมตามกระบวนการ ยุติธรรมแต่ประการใดไม่ จึงได้มีการประชุมทั้งในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อวางแผน เตรียมการ และสั่งการให้มีการสลายการชุมนุมมาตั้งแต่คืนวันที่ 6 ตุลาคม 2551 แล้ว ซึ่งในตอนเช้าของวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ใช้กำลังและอาวุธแก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุมตามแผนการ ที่ได้วางไว้
จึงเชื่อว่า การ กระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการใช้กำลังและอาวุธแก๊สน้ำตาเข้าสลายฝูงชนในวัน ที่ 7 ตุลาคม 2551 เกิดจากการสั่งการของรัฐบาลเพื่อให้การแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อที่ประชุม รัฐสภาสามารถดำเนินการไปได้ตามกำหนด ฉะนั้น เมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น รัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องรับผิดชอบต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้นใน ครั้งนี้”
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000019244
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น