...+

วันศุกร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2551

หนึ่งหมูกับสี่เสือในวงล้อม นปช.

โดย ปราโมทย์ นาครทรรพ 23 ตุลาคม 2551 04:47 น.



ผมรับเชิญไปพูดเรื่อง “การเมืองใหม่ให้อะไรฯ” ที่สโมสรทหารบกเมื่อบ่ายวันจันทร์ที่ผ่านมา มีผู้ร่วมอภิปราย เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง และม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล รวมทั้งผู้ดำเนินการ คือ ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ผู้หวังดีต่างร้อง ไฮ้ นี่ นปช.จัดฉากจะเอาผมไปถล่มชัดๆ นี่
      
       ผู้ออกบัตรเชิญ คือสุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสภา ซึ่งถูกเปลี่ยนชื่อโดยฝ่ายที่ชังบ่อยๆว่า สุ
      
       ผมตอบรับโดยไม่ลังเลใจ ผมเคยบอกอยู่เสมอว่าผมรับเชิญพันธมิตรฯ ไปพูด ผมก็จะรับเชิญ นปช.เช่นเดียวกัน มีเงื่อนไขว่า ผู้จัดต้องรับรองว่าปลอดภัยและมีบรรยากาศเป็นมิตร
      
       การไปพูดที่สโมสรทหารบกวันนั้น มีการถ่ายทอดวิทยุ และออกทีวี NBT สดๆ ตลอดสองชั่วโมง แสดงว่าผู้จัดมีอิทธิพลมาก ซ้ำคงมีสัมพันธ์อันดีกับกองทัพบก มีการกระจายข่าวในเวลาต่อมาว่า ผมถูกต้อนและโห่เสียย่ำแย่ สมน้ำหน้าเตือนแล้วไม่ฟัง
      
       ไม่จริงสิ้นเชิง การอภิปรายในวันนั้นราบรื่นมาก ผมไม่รู้สึกว่ามีบรรยากาศความรังเกียจเดียดฉันท์เลย ทั้งๆ ที่ผู้ฟังใส่เสื้อแดงกันมาก ในขณะที่ผมพูดมีเสียงบ่นเหมือนหมีกินผึ้ง 2-3 ครั้ง ไม่ใช่โห่ฮาป่าหรือประท้วงเลยสักนิด นอกจากผู้ชายคนตีหน้ายักษ์ 2-3 คน แม้ขาประจำ วรัญชัย โชคชนะ ก็อ่อนน้อมเป็นสุภาพบุรุษ
      
       คนที่เอ่ยนามมาทั้งหมดล้วนแต่เป็นคนที่ผมรักใคร่เมตตา คอยอวยชัยให้พรและสนับสนุนเมื่อเขาก้าวหน้า ยกเว้นหม่อมปลื้มพบกันครั้งแรก แต่ก็เป็นลูกของคุณชายอุ๋ย เพื่อนรุ่นน้องที่คบหากันมานานจนกระทั่งทุกวันนี้ ผมเคยดูรายการหม่อมปลื้มอย่างฉาบฉวย เห็นมีหน่วยก้านและวี่แววดี เขาเหล่านี้กับผมหาได้แตกกันคนละฝ่ายไม่ เพียงแต่ว่า เราเลือกเดินกันคนละทางเท่านั้น เขาไปเชียงใหม่ ผมไปนครศรีธรรมราช ถนนของเขาอาจเรียกว่าถนนสายทักษิณ ซึ่งอาจมีลาภ ยศ ฐานันดรคอยอยู่ ของผมเป็นถนนสายปัญญา ซึ่งหอมหวานด้วยอิสรภาพ และโอกาสที่จะพบทางแห่งความจริงหรือสัจธรรมเป็นรางวัล ผมไม่อาจเดินบนทางสายทักษิณได้เพราะผมเชื่อว่ามันเป็นเส้นทางแห่งความเท็จ เป็นอกุศลมูล คนอื่นไม่เชื่อก็เรื่องของเขา
      
       ผมทำใจไว้ล่วงหน้าแล้วว่าไปพูดครั้งนี้ ถึงอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ผมขอให้ผู้จัดแจกบทความของผม 2 เรื่องให้ผู้ฟัง คือ 1. คำสัมภาษณ์เรื่องผันวิกฤตเป็นโอกาสใต้ราชประชาสมาสัยที่ตีพิมพ์โดยวารสาร “เราคิดอะไร” และ 2. เรื่อง “ต่อให้สิบส.ส.ร. ก็ไม่เป็นประชาธิปไตย” ทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องที่ผมหักล้างความเป็นธรรม และข้ออ้างของระบอบทักษิณและนายสมชาย วงษ์สวัสดิ์
      
       ปรากฏว่า ผู้จัดก็ได้แจกจ่ายให้กับผู้มาเข้าฟังตามคำขอ
      
       อีกเรื่องหนึ่ง ไม่ว่าผู้อภิปรายอื่นๆ จะพูดอะไร ผมก็จะไม่โต้ตอบ ผมจะพูดกับผู้ฟังทางบ้านว่า การมาจากการเลือกตั้งมิใช่ข้ออ้างที่ระบอบทักษิณจะทำอะไรตามใจก็ได้โดยไม่คำ นึงถึงกฎหมายและความถูกต้อง ผมจะยกตัวอย่างที่ผู้มาจากการเลือกตั้งถูกประชาชนขับไล่ออกจากตำแหน่งเพราะป ระชาชนไม่ไว้ใจ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำความผิดอะไร ผมจะชี้แจงว่าการตั้ง ส.ส.ร.มิใช่การแก้วิกฤต และจะไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยได้ และผมจะพูดถึงพระราชอำนาจที่อาจแก้วิกฤตได้ในระบอบประชาธิปไตย
      
       ผมมีโอกาสได้ทำครบตามนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่สมบูรณ์ เพราะถูกจำกัดด้วยเวลาและผู้ดำเนินการอภิปราย ทั้งนี้ขอเรียนว่าไม่มีการครอบงำประท้วงหรือขัดขวางใดๆ ทั้งสิ้นจากผู้จัดและผู้เข้าร่วมฟัง
      
       จาตุรนต์เริ่มพูดก่อน และบ่นว่าถูกเบี้ยวเวลาไป 5 นาที แทนที่จะพูดได้ 15 นาที กลับได้แค่ 10 นาที ถึงคราวผม ผมเลยบอกว่า นอกจากถูกเบี้ยวเรื่องเวลาแล้ว ผมยังถูกเบี้ยวสัญญาว่าจะให้พูดก่อนอีกด้วย ซ้ำผู้จัดก็ยังเปลี่ยนหัวข้อเป็น “วิกฤตและโอกาสของประชาธิปไตยไทย” และมีผู้พูดเพิ่มมาอีก 2 ท่าน คือ คุณพนัส ทรรศนียานนท์ นักกฎหมายชั้นดี อดีต ส.ส.ร. 2540 และ อดีต ส.ว.รุ่นเดียวกับ ดร.วิบูลย์ แช่มชื่น ที่เข้ามาแจมด้วย
      
       ตกลงเลยมิใช่รายการเสือสี่ตัวรุมกินหมูตัวเดียว เพราะผมเชื่อว่าคุณพนัส เป็นมืออาชีพที่มิใช่แฟนของระบอบทักษิณ ส่วนดร.วิบูลย์นั้นคงต้องการวางตัวให้เข้าตากรรมการ จะได้เป็น ส.ส.ร.รุ่นต่อไป วิบูลย์ได้เตรียมตัวมาอย่างดี จึงพูดได้ดีน่าฟัง
      
       ในรอบแรกจาตุรนต์พูดถึงแต่หลักการประชาธิปไตยที่ต้องมีการเลือกตั้ง มีระบบรัฐสภา มีหลักนิติธรรม ศาลจะต้องมีมาตรฐานและไม่เลือกปฏิบัติ พร้อมทั้งวิจารณ์การกระทำของ ผบ.ทบ.และผบ.เหล่าทัพที่ออกมาบีบรัฐบาลไม่ถูกต้อง ถ้ารัฐบาลยอมก็จะนำไปสู่เผด็จการและเกิดความเสียหายไม่มีที่สิ้นสุด
      
       จาตุรนต์พูดถูกทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องบทบาทของกองทัพ ผมควรจะพูดแต่ก็ไม่ได้พูดว่าที่จาตุรนต์พูดว่าอะไรถูกอะไรควรนั้น ปรากฏว่าระบอบทักษิณกระทำตรงกันข้ามทุกอย่าง
      
       ผมอธิบายต่อผู้ฟังว่ามีบ่อยครั้งที่รัฐบาลพลเรือนมาจากการเลือกตั้งก ลายเป็นเผด็จการ จาตุรนต์อาจจะไม่ว่า หากปราศจากกองทัพที่รู้บทบาทของตนเอง และเข้ามาขับไล่รัฐบาล เช่น กองทัพโปรตุเกส กองทัพกรีก กองทัพตุรกี ป่านนี้ยุโรปทั้งยุโรปก็จะยังไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่อาจเอาชนะระบบคอมมิวนิสต์โซเวียตได้ เพราะฉะนั้น ผู้ปูทางประชาธิปไตยให้โปรตุเกส และตุรกีนั้น ปูทางให้ยุโรปด้วย นั่นก็คือกองทัพที่เข้าใจประชาธิปไตยสามารถออกมาเป่านกหวีดเป็นกรรมการ และเป็นหลักประกันการเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้
      
       ผมอภิปรายว่า ผมไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลทักษิณมาแต่ต้น เพราะการซุกหุ้นเป็นการกระทำผิดกฎหมายและผิดจริยธรรม และต่อมาทักษิณก็กระทำผิดหรือถูกกล่าวหาว่า คดโกงคอร์รัปชันถึง 40 กว่าโครงการ เรื่องฆ่าตัดตอน ละเมิดกฎหมาย ละเมิดรัฐธรรมนูญ ละเมิดในหลวง แล้วทักษิณไม่ยอมรับการตรวจสอบของสื่อ ของผู้ชุมนุม ของฝ่ายค้าน ของสภาฯ อ้างว่าผู้จะบอกว่าตนผิดได้ก็คือประชาชนที่มาลงคะแนนเลือกตั้งเท่านั้น อย่างนี้มันเผด็จการชัดๆ ปรากฏว่าผู้ฟังเงียบกริบ
      
       ผมพูดต่อว่าถึงแม้การเลือกตั้งขาดไม่ได้สำหรับประชาธิปไตย แต่ก็ต้องเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม เสรีและมีความรู้ เผด็จการ เช่น โซเวียต จีน คิวบา ก็มีเลือกตั้งทั้งนั้น ฮิตเลอร์หรือมาร์กอส ก็มาจากการเลือกตั้ง
      
       ถึงจะเลือกมาอย่างเป็นประชาธิปไตย ก็จะเอาเลือกตั้งมาบังหน้า ไม่ยอมหนีเมื่อมีคนไล่ไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดีนิกสันที่ชนะเลือกตั้งท่วมท้น และผู้ว่าเกรย์ เดวิส ของอเมริกา หรือแม้กระทั่งแธตเชอร์และแบลร์ของอังกฤษที่พาลูกพรรคชนะเลือกตั้งอย่างล้นห ลาม แต่เมื่อมามีเหตุทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ลูกพรรคเขาก็จัดการให้ออกกันเอง สมัคร ทักษิณ สมชาย ไม่ควรเอาเลือกตั้งมาอ้าง
      
       หม่อมปลื้มกับจาตุรนต์โจมตีสนธิกับพันธมิตรฯ อย่างสาดเสียเทเสีย ด้วยข้อมูลที่บิดเบือนว่าพันธมิตรฯ จะไม่เอาเลือกตั้ง หรือเอาแค่ 50-50 หรือ 70-30 ซึ่งพันธมิตรฯ แค่เสนอเป็นตุ๊กตาเก่าให้คิด เพราะระบบเลือกตั้งระบบปัจจุบันถูกครอบงำโดยพรรคนายทุนที่สามารถซื้อเสียงซื ้อพรรคไปค้าอำนาจและกำไรต่ออย่างมหาศาล
      
       ผมเล่าว่า ผมไปร่วมประชุมการเมืองใหม่ 2 ครั้ง ที่ประชุมตกลงอย่างไม่มีโต้แย้งอยู่เรื่องเดียว คือ การเมืองใหม่ต้องเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยประชาชนต้องมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันทุกภาคส่วน และจะต้องมีพระราชอำนาจตามจารีตประชาธิปไตยใกล้เคียงกับของพระราชินีอังกฤษ ในหลวงของเราถูกลิดรอนอำนาจพิเศษ (Prerogative) และ (Reserved Power) เช่น อำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีต่างกับความเห็นของสภาฯ อำนาจที่จะไม่แต่งตั้งรัฐมนตรีหรือตำแหน่งระดับสูงตามคำขอของรัฐบาล อำนาจที่จะไม่ยุบสภาฯ ตามคำขอ ฯลฯ
      
       ผมถามที่ประชุมว่า นปช.จะเอาประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเหมือนกับพันธมิตรฯ หรือไม่มีเสียงขานรับหนักแน่น นอกจากหมอเหวงและพวกแนวหน้าที่นั่งอยู่ในที่ประชุม
      
       ที่ประชุมเชิญให้ พ.อ.สมคิด ศรีสังคม และหมอเหวงขึ้นพูดด้วย ผมได้ฟังแต่ พ.อ.สมคิด ซึ่งขออย่าให้เอาการเมืองใหม่ที่ล้มเลิกระบบรัฐสภา แล้วประณามการเลือกตั้งสกปรกซื้อเสียงขายเสียงอันเป็นลักษณะของการเมืองเก่า
      
       ทั้งผู้นำและสมาชิก นปช.ที่มาร่วมฟังมีข้อมูล ความคิดและจริตที่ค่อนข้างจะแน่วแน่และลำเอียงเข้าข้างระบอบทักษิณ ฝ่ายผู้นำน่าจะรู้เห็นเป็นใจกับการกล่าวร้ายทำลายสถาบันกษัตริย์ ในขณะที่ผู้ตามทั่วไปอาจจะไร้เดียงสา แต่ถูกดูดดึงเข้าไปด้วยการบูชาบุคคล หรือหัวหน้าคนอื่นๆ ที่มีบารมีหรือความเด่น เช่น จาตุรนต์หรือหม่อมปลื้มอาจมีแฟนคลับที่มีลักษณะเป็นแม่ยกเหมือนกับดาราบางคน ของพันธมิตรฯ หรือไม่ก็ด้วยอามิสสินจ้างซึ่งต่างกับพันธมิตรฯ พันธุ์แท้ทั่วประเทศ
      
       แต่ที่สำคัญที่สุด ก็คือหัวโจก นปช.ที่ทำตัวเป็นไอ้โม่ง ปากว่าตาขยิบอยู่ ได้แก่ รัฐบาลตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงมาถึง ส.ส. และข้าราชการตำรวจ ทหาร ฯลฯ พวกนี้ยังผูกพันมั่นคงกับระบอบทักษิณอยู่ จึงสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมทั้งเปิดเผยและปิดลับของ นปช.ซึ่งมีผลในการทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
      
       ขณะนี้อำนาจรัฐอยู่ในมือของระบอบทักษิณ และนปช. บ้านเมืองจึงตกอยู่ใต้อันตราย
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น