...+

วันอังคารที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2551

เรื่องของปืนไฟกับไทยสมัยโบราณ - ของเก่า เราลืม

ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์

            ผมเคยได้เข้าร่วมในสมาคมสุราบานของพี่ต่วยมาหลายครั้ง เมื่อครั้งยังรับราชการอยู่ในพื้นที่ใกล้ๆชายแดนไทยกับเขมร ได้คบค้าสมาคมกับพวกตำรวจและทหารทางชายแดนก็มากมายหลายเหล่า  ได้พบได้เห็นปืนแบบสมัยใหม่ๆก็หลายชนิดหลายอย่าง แต่ก็ไม่เคยที่จะได้สนอกสนใจที่จะไปสืบหาความเป็นมาของมันมากมายนัก เพราะมัวแต่วุ่นวายสบายใจอยู่กับหินและสุราเสียมากกว่า เรียกว่ายังไม่มีแรงบันดาลใจในทางนี้เลย ทั้งๆที่อยู่ใกล้ชิดกับมัน

            ต่อมาเมื่ออำนาจฟ้าผ่าจากเจ้านายต้นสังกัดให้ย้ายเข้ามารับราชการที่กรุงศรีอยุธยา ต้องมาศึกษาค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของชาวโปรตุเกส ฝรั่งยุโรปชาติแรกที่เข้ามามีบทบาทอยู่กับกรุงศรีอยุธยา จากการศึกษาเรื่องราวของชาวโปรตุเกสนี้ทำให้ต้องหันมาศึกษาเรื่องของปืนขึ้นมาบ้าง ไม่ใช่เพื่อที่จะเอามาใช้ เพราะเรื่องพรรณอย่างนี้ผมไม่ถนัดอยู่แล้ว

            ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ราวแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ฝรั่งชาติโปรตุเกสได้เข้ามาตีเอาเมืองมะละกาซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญของพวกแขกมุสลิมได้ และได้ส่งฑูตเข้ามาติดต่อทำสัมพันธไมตรีกับกรุงสยาม เพราะเห็นว่าชาติสยามเป็นชาติใหญ่ชาติหนึ่งในเอเชียและเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญแห่งหนึ้ง สินค้าที่จะนำเข้ามาค้าขายในกรุงสยาม ที่เป็นของแปลกและใหม่ก็คือ "ปืนไฟ" เพราะในสมัยนั้นนับว่าเป็นอาวุธสงครามที่ทันสมัยที่สุดในเอเชีย ไทยเราก็รับสัมพันธไมตรีกับประเทศนี้ด้วยดี เพราะที่รู้ๆแน่ก็คือ ได้เห็นพิษสงของมหาอำนาจชาตินี้แล้ว ในครั้งที่สามารถตีเอาเมืองมะละกาได้ ทั้งๆที่ไทยได้เคยพยายามที่จะไปตีมาแล้ว แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ

            เรื่องของการค้า เมื่อเสนอสินค้าให้กับลูกค้าแล้ว ก็ควรจะต้องมีการแนะนำการใช้ให้ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งก็เป็นการประจวบเหมาะ เพราะในช่วงต่อมา สมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราช ราว พ.ศ. ๒๐๘๑ พม่าข้าศึกได้มารุกรานเมืองเชียงกรานซึ่งอยู่ทางชายแดนไทยกับพม่า สมเด็จพระชัยราชาธิราช จึงกรีฑาทัพจากพระนครไปรบเพื่อป้องกันหรือแย่งชิงเมืองนั้น ในกองทัพครั้งนั้นได้มีกองทหารอาสาของชาวโปรตุเกส  จำนวน ๑๒๐ คน เข้าร่วมไปในกองทัพด้วย พวกชาวโปรตุเกสได้นำเอาปืนไฟไปเข้าสงครามด้วย จนได้รับชัยชนะและเป็นที่โปรดปรานของกษัตริย์สยาม ถึงขนาดพระราชทานที่ดินให้พวกชาวโปรตุเกสตั้งรกรากทำการค้าขายและเผยแพร่ศาสนาของตัวเองได้อย่างเสรี  ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้รับชาวโปรตุเกสเข้าเป็นทหารไว้รับใช้ในราชการ ในตำแหน่งของทหารองครักษ์ของพระมหากษัตริย์ไทยอีกด้วย

            คำว่า "ปืน" เป็นคำไทยๆ ใช้เรียกอาวุธชนิดหนึ่งที่มีอำนาจ มีแรงกำลังที่จะส่งผลให้ไกลออกไป ไม่ว่าจะเป็นธนูหรือหน้าไม้ก็ตาม ล้วนแล้วแต่เรียกปืนทั้งสิ้น อย่างเช่นรูปพระนารายณ์ทรงปืน ก็ทำเป็นรูปพระนารายณ์ทรงถือศรหรือธนูเป็นอาวุธ หาได้ถือปืนไม่ ส่วนคำว่า "ไฟ" ก็เป็นคำไทยเช่นกัน หมายถึงความร้อนแรงและโชติช่วง เมื่อนำเอาคำสองคำมารวมกันแล้ว ก็แปลว่าอาวุธที่ใช้ส่งไปไกลโดยใช้ไฟเป็นตัวส่ง

            การนำปืนเข้ามาใช้ในราชการครั้งต้นๆ ก็คงจะเป็นปืนเล็ก ซึ่งเป็นปืนประเภทปืนคาบศิลา ที่ใช้หินเหล็กไฟติดอยู่ทางด้านท้ายของลำกล้องปืน เมื่อใส่ดินปืนเข้าไปในลำกล้องโดยใช้เขนง หรือเขาสัตว์เป็นภาชนะในการกรอกดินปืน แล้วก็ใช้ไม้หรือเหล็กยาวๆ กระทุ้งดินปืนให้แน่นก่อนที่จะบรรจุลูกกระสุนเข้าไปในขั้นสุดท้าย  เมื่อเวลาจะยิงก็เหนี่ยวไกปืนที่เชื่อมต่อไปยังสิ่งที่เรียกกันว่านกปืน นกปืนก็จะตีลงไปกระทบกับศิลาหรือหินที่ติดเอาไว้ใกล้ๆกับรูชนวนที่ทางท้ายของลำกล้อง เมื่อนกปืนกระทบกับศิลา ก็เกิดประกายไฟแลบเข้าไปติดกับชนวนและดินปืน ทำให้เกิดแรงปะทุไปผลักกระสุนให้วิ่งออกจากลำกล้องปืนไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ ส่วนวิถีกระสุนจะรุนแรงหรือไกลเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับการอัดดินปืนว่าจะแน่นมากน้อยเพียงไร ถ้าอัดได้แน่นมาก วิถีกระสุนก็ออกไปไกล ถ้าอัดดินปืนไม่แน่น วิถีกระสุนก็สั้นลง เอาระยะที่แน่นอนไม่ได้ ทั้งนี้แล้วแต่ความอดทนมากน้อยของผู้ยิง แต่ถึงจะอย่างไรก็ตาม อาวุธชนิดนี้ก็เป็นที่ขึ้นชื่อลือชาในประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่ง เพราะสามารถทำร้ายข้าศึกได้อย่างชะงัด ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้การค้าขายปืนไฟในราชอาณาจักรสยามเป็นไปอย่างก้าวหน้าและได้ราคาดี

            หากจะเปรียบเทียบเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์กับปัจจุบัน ก็เหมือนกับประเทศผู้ผลิตสินค้าอาวุธสงครามที่เห็นช่องทางจะจำหน่ายสินค้าของตนให้ได้มากๆ เมื่อได้มองตลาดการค้าแล้ว เห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพราะประเทศสองประเทศกำลังทำสงครามกันอยู่ ก็จะได้ส่งพ่อค้าเข้าไปติดต่อค้าขายอาวุธให้กับประเทศทั้งสองเข้ามารบราฆ่าฟันกันเองตามความพอใจ ดังนั้น ในสงครามไทยและพม่าในระยะต่อมา จึงปรากฏว่ามีอาสาชาวโปรตุเกสเข้าไปร่วมอยู่ในกองทัพทั้งสองฝ่ายด้วย เพื่อสาธิตสินค้าของตนให้กับลูกค้าทั้งสองประเทศ

            เมื่อปืนไฟเป็นสิ่งจำเป็นที่จะใช้ในราชการสงครามมากยิ่งขึ้น ก็เช่นเดียวกับในสมัยนี้ที่ทางราชการทหารต้องเที่ยวสืบหาอาวุธที่ทันสมัยใหม่ๆ เพื่อนำมาไว้ใช้ป้องกันประเทศ ซึ่งในสมัยนั้นก็คงจะได้สั่งทั้งปืนเล็กปืนใหญ่เข้ามาใช้กันหลายชนิดในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ได้กล่าวถึงเรื่องราวที่น่าสังเกตไว้เกี่ยวกับเรื่องปืนบ้าง ถึงการที่คนเอเซียยังไม่ชำนาญในการใช้ปืน แต่ก้ได้รู้ได้เห็นประสิทธิภาพของมันได้เป็นอย่างดีแล้ว

            ภายหลังจากที่เสียสมเด็จพระศรีสุริโยทัยในแผ่นดินของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ไปแล้ว พม่าได้ยกกองทัพกลับเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง ไทยได้เห็นประโยชน์ของปืนใหญ่ ปืนไฟ ปืนเล็ก ว่ามีคุณค่าอย่างมหาศาลในการทำลายล้างข้าศึก จึงคิดทำลายค่ายพม่าด้วยทางลัด โดยอัญเชิญเอาปืนใหญ่ ชื่อ นารายณ์สังหารลงเรือสำเภาหมายจะไปยิงค่ายข้าศึกให้พินาศ แต่เนื่องจากปืนใหญ่เป็นอาวุธหนักและมีคุณค่ามาก เมื่อจะเชิญปืนลงเรือสำเภานั้น เพื่อป้องกันการแย่งชิงจึงได้แต่งกองทัพบกออกรักษาป้องกันสำเภาปืนทั้งสองฝั่งแม่น้ำที่เรือปืนจะผ่านไป จากการตั้งทัพบกป้องกันปืนนี้เอง ทำให้กองสอดแนมของพม่ารู้แกวของกองทัพไทยว่า ดูทีท่าพี่ไทยจะเอาของแพงมาเล่นงานแน่ จึงรีบกลับเข้าไปรายงานราชการทัพให้กับพระเจ้าหงสาวดี แต่ยังไม่ทันที่จะรายงานเสร็จพี่ไทยเราก็ยิงปืนนารายณ์สังหารเข้าไปในค่ายใหญ่ของพม่า กระสุนตกลงไปในค่ายกลิ้งขลุกๆเข้าไปที่หน้าพลับพลาพระที่นั่งของพระเจ้าหงสาวดีๆเองก็ทรงตกพระทัย ให้เก็บเอากระสุนปืนที่กลิ้งขลุกๆมานั้นขึ้นเซ่นสรวงบวงพลี แล้วก็ย้ายค่ายหนีไปอยู่ที่อื่นให้พ้นวิถีกระสุนปืนใหญ่ พอตั้งค่ายใหม่เสร็จสรรพก็ยกทัพเคลื่อนเข้ามาอีก  พี่ไทยเห็นได้ทีว่าปืนนี้มีประสิทธิภาพดีจริงๆก็ให้เอาปืนใหญ่ใส่ลงสำเภาจะไปยิงค่ายพม่าที่ตั้งใหม่อีก แต่คราวนี้ชะรอยว่าจะอัดดินปืนมากไป หรืออย่างไรไม่ทราบปืนถีบเอาท้ายสำเภาจมลง ผลของการยิงครั้งนั้นจึงได้แต่ยิงกิ่งโพธิ์ใหญ่ขนาด ๓ กำเศษ ตกลงใกล้ช้างพระที่นั่งของพระเจ้าหงสาวดีเท่านั้น

            เรื่องของปืนใหญ่ปืนไฟในสมัยแรกๆของไทยนั้นคงยังมีเรื่องเล่ากันอีกมากมาย เพราะในช่วงก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าในปี พ.ศ.๒๑๑๒ นั้น ไทยได้สั่งปืนชนิดต่างๆเข้ามาอีกมากมาย ถึงขนาดตั้งรายล้อมรอบกำแพงพระนครศรีอยุธยาได้ จำนวนปืนต่างๆเหล่านั้นมีปืนอยู่ชนิดหนึ่งที่เรียกกันเป็นภาษาไทยว่า "ปืนบะเหลี่ยมจำรงมณฑกนกสับ" ถ้าจะแปลเป็นภาษาไทยๆก็คงจะไม่ได้ความอะไร ซึ่งผมเชื่อว่าคงจะมีที่มาจากภาษาอื่นๆแน่ ก็เลยลองค้นดู ไปเห็นศัพท์ที่น่าสนใจก็เลยรวมๆมาลองตีความให้คิดกันเล่นๆ อย่างนี้ครับ . . .

            บะเหลี่ยม, บาเรียม มาจากศัพท์ว่า brown bess อ่านว่า บราวเบส แปลว่า ปืนคาบศิลา
            จ่ารง มาจากศัพท์ว่า chariot อ่านว่า แชเรียท แปลว่า รถลาก, รถศึก หรือรถประเภทมีสองล้อ
            มณฑก มาจากศัพท์ว่า breech block อ่านว่า เบรสบล๊อก แปลว่า ส่วนท้ายของปืน และ นกสับ มาจากศัพท์ว่า knock up อ่านว่า น๊อคอัพ แปลว่า กระทบขึ้น หรือดีขึ้น
           
            แน่นอนที่ว่า คนไทยได้รับศัพท์ดุ่นๆของเขามาใช้เรียกเป็นชื่อปืน แล้วก็ใช้สำเนียงแบบไทยๆ เรียกเสียโก้หรูว่า "ปืนบะเหลี่ยมจ่ารงมณฑกนกสับ" ไปเสียเลยทีเดียว ผิดถูกอย่างไรก็ทิ้งไว้ให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาวิจารณ์กันไปองเถอะ แต่ผมน่ะว่าของผมอย่างนี้ล่ะครับ



ที่มา ตีพิมพ์ใน ต่วย' ตูน พ็อคเกตบุคส์
พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๐ ปีที่ ๑๖ เล่มที่ ๔

1 ความคิดเห็น: