“ชวน” ติง “หมัก” อย่าด่วนสรุปศาลแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะศาลไม่มีหน้าที่สลายชุมนุม ระบุต้นตอปัญหาไม่พอใจ มาจากรัฐบาล อาทิ กรณีตั้งคนมีแผลไปเป็นบอร์ด ธปท. ให้สปอนเซอร์รายการชิมไปฯ เป็นบอร์ดบินไทย นายกฯ ของขึ้นยันสภาอุตสาหกรรมเสนอชื่อมาเอง “คำนูณ” ชี้ 3 ทางเลือกนายกฯ แต่คาดเลือกอยู่เฉยๆ พันธมิตรฯ ลุยต่อแน่
ในการประชุมร่วมของ 2 สภา เพื่ออภิปรายทั่วไปโดยไม่ต้องลงมติเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง เมื่อวันที่ 31 ส.ค. นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า ตนไม่เห็นด้วยกับนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ที่ว่าขณะนี้ศาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ตนคิดว่าศาลทำหน้าที่สมบูรณ์ที่สุดแล้ว โดยวินิจฉัยอย่างตรงไปตรงมา ศาลไม่ได้มีหน้าที่สลายการชุมนุม แต่ฝ่ายบริหารต้องไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยตนจึงยังไม่เห็นว่าศาลล ้มเหลวหรือแก้ปัญหาไม่ได้ และถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดของฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้มีหน้าที่แก้ปัญหา
นายชวน กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลตั้งคนของตนเองเข้าไปในองค์กรต่างๆ ซึ่งไม่ถือว่าผิดกฎหมาย เช่น การตั้งกรรมการเข้าไปในบริษัท การบินไทย (จำกัด) มหาชน ซึ่งบุคคลนี้เคยอยู่ในบริษัทที่เคยให้โฆษณาทางรายการทีวีที่นายกฯ จัดหรือการตั้งคนที่ถูกคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ลงมติให้ออกเข้ามาเป็นกรรมการในธนาคารแห่งประเทศไทย สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเงื่อนไขใหม่ที่ทำให้เกิดความไม่พอใจมากขึ้น ดังนั้น รัฐบาลจะต้องไม่โกหกไม่บิดเบือนความจริง เพื่อประโยชน์ในการเปรียบเทียบแก่ตัวเอง และจะต้องให้ความจริงอย่าเลือกปฏิบัติ การบอกว่า คนชุมนุมมีเพียงหยิบมือเดียวและมีลักษณะเป็นหุ่น ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะพวกนี้มากันเองไม่มีใครให้เงิน และถ้ารัฐบาลเห็นว่าคนไม่พอใจอะไรก็ต้องรีบออกมาชี้แจง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันที่นายชวนกล่าวจบ นายสมัครได้ลุกขึ้นขอใช้สิทธิชี้แจงทันทีว่า บริษัทตรามือที่เป็นกรรมการบริษัท การบินไทย ดังกล่าวได้รับการคัดเลือกมาจากสภาอุตสาหกรรม แต่บังเอิญกรรมการคนนี้มาเป็นสปอนเซอร์ในรายการของตนเท่านั้น ตนไม่คิดว่านายชวนจะเอาข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงตรงนี้มาด้วย
ต่อมา นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา อภิปรายว่า เวลานี้รัฐบาลมี 3 ทางเลือก คือ 1.นายกฯ ลาออก 2.ตัดสินใจยุบสภา และ 3.ไม่ยุบ ไม่ลาออก พรรคร่วมผูกมือกันอยู่ต่อไป และหาช่องทางใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด โดยทั้ง 3 ทางล้วนเป็นไปตามระบอบรัฐสภา อย่างไรก็ตาม แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลได้ออกมาระบุชัดแล้วว่าตัดสินใจเลือกช่องทางที่ 3 ซึ่งจะทำให้ยังมีการประท้วงของกลุ่มพันธมิตรต่อไป ที่นับวันจะแข็งแกร่งมากขึ้น และยกระดับการประท้วงและขยายวงแนวร่วมมากขึ้น เชื่อว่าจะมีกลุ่มรัฐวิสาหกิจพักหยุดงานทั่วประเทศ ซึ่งแนวโน้ม สุ่มเสี่ยงต่อการกระทบกระทั่งกับกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลที่เริ่มมีการก่อตัว ขึ้นมา
“อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลเลือกใช้แนวทางที่ 3 ก็ยังต้องเผชิญปัญหา โดยเฉพาะนายกฯ ที่จะต้องเจอคดี ชิมไปบ่นไป ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในรัฐบาล แต่หากเลือกยุบสภา และรักษาการณ์ต่อไป หากประชาชนเลือกกลับเข้ามาใหม่ แต่กลุ่มพันธมิตรอาจจะไม่ยอม แต่การชุมนุมครั้งใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หรือแนวทางลาออก แต่รัฐธรรมนูญยังคงอยู่ และ ส.ส.ยังมีจำนวนเท่าเดิม มีความเป็นไปได้ที่จะเสนอชื่อนายกฯ คนใหม่ในพรรคร่วมรัฐบาล และเป็นที่ยอมรับได้ของประชาชน แต่จะเลือกทางออกไหนก็สุดแต่รัฐบาลจะตัดสินใจ” นายคำนูณกล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น