...+
▼
วันเสาร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2551
เรื่องความกว้าง ของรางรถไฟ
เรื่องที่จะเขียนเป็นเรื่องของขนาดความกว้างของรางรถไฟ ซึ่งถูกหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นคำถามอยู่เสมอทั้งที่มีความพยายามทำความเข้าใจกันมามากแล้ว ก็คงต้องอธิบายกันไปอีกนานตราบเท่าที่คนยังมองเห็นว่ารถไฟยังมีปัญหาอยู่
เรื่องความกว้างรางรถไฟเป็นประวัติศาสตร์สมัยล่าอาญานิคม ถ้าศึกษาและวิเคราะห์ให้ละเอียดก็จะเห็นความคิดแต่จะเอารัดเอาเปรียบของชาติตะวันตก ซึ่งมีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ความคิดเอารัดเอาเปรียบเป็นปกติวิสัยของมนุษย์ ความสำคัญอยู่ที่เรารู้เท่าทันและป้องกันการถูกเอาเปรียบได้อย่างไร
รางรถไฟในโลกนี้มีอยู่หลายขนาด ตั้งแต่เป็นรางเดี่ยว (Monorail หรือที่เรียกว่า Gauge-O) ไปจนถึงกว้างสุดคือ 2.140 เมตร ซึ่งเรียกว่า Groad gauge แต่ที่ใช้กันมากมีอยู่ 3 ขนาดได้แก่ ขนาดรางกว้าง 1 เมตร หรือที่เรียกว่า Metre gauge ขนาดรางกว้าง 1.067 เมตร หรือที่เรียกว่า Cape gauge และขนาดรางกว้าง 1.435 เมตร หรือที่เรียกว่า European standard gauge
ถ้าหยิบแผนที่ของภูมิภาคนี้มาดูก็จะเห็นข้อเท็จจริงว่า ประเทศเกาะทั้งหลายที่รายล้อมประเทศไทยอยู่เช่น อินโดนีเซีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น รวมทั้งออสเตรเลีย ประเทศเหล่านี้ใช้รางขนาดกว้าง 1.067 เมตร หรือที่เรียกว่า Cape gauge
ถ้าเราดูประเทศใหญ่ๆ อย่าง จีน อินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ ก็จะเห็นว่ามีรางรถไฟขนาดกว้างไม่เท่ากันอยู่ในประเทศ และถ้าดูประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศก็จะเห็นว่าใช้รางรถไฟขนาดกว้าง 1 เมตร หรือที่เรียกว่า Metre gauge
ไม่มีประวัติศาสตร์ตรงไหนที่เขียนไว้ชัดๆ ว่าเหตุใดจึงมีรางรถไฟขนาดความกว้างต่างกันมากมายในโลกนี้ และเหตุใดประเทศไทยจึงใช้รางกว้างขนาด 1 เมตร
ประวัติศาสตร์เท่าที่อ่านพบก็คือ ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงโปรดให้สร้างทางรถไฟสายแรกนั้น ฝรั่งเศสกำลังทำการปลุกระดมคนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะโคราช ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่าแผ่นดินตรงนั้นไม่ใช่ของไทย คนในพื้นที่นั้นก็ไม่ใช่คนไทย
ดังนั้นจึงถูกเมืองหลวงทอดทิ้งไม่ดูแลเอาใจใส่ ถ้าไปขึ้นอยู่กับฝรั่งเศสก็จะได้รับการทำนุบำรุงให้เจริญรุ่งเรือง
อีกเรื่องที่อ่านได้จากประวัติศาสตร์ ในยุคล่าอาณานิคมก็คือ ทรงผูกสัมพันธไมตรีกับเยอรมนีและรัสเซีย โดยได้เสด็จประพาสหลายครั้งและราชวงศ์ของไทยกับราชวงศ์ของประเทศทั้งสองต่างก็มีความสนิทสนมกัน เหล่านี้มีจดบันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์ถึงเรื่องการแสวงหาอำนาจที่จะมาถ่วงดุลเพื่อให้รอดพ้นภัยคุกคามจากการล่าอาณานิคม
ถ้าเอาประวัติศาสตร์มาวิเคราะห์เรื่องความกว้างรางรถไฟก็น่าจะเป็นไปได้ที่ว่าเป็นเรื่องเหตุผลทางการเมืองคือ เป็นเรื่องของกุศโลบายของชาติตะวันตกที่จะแบ่งแยกดินแดนหรือจะผนวกดินแดน ถ้ามองอย่างนี้ก็น่าจะตอบคำถามได้
ประเทศใหญ่อย่างอินเดียและจีนมีรางรถไฟกว้างหลายขนาดก็เพราะชาติตะวันตกต้องการแบ่งแยกดินแดน อย่าลืมว่าสมัยนั้นไม่มีถนน ไม่มีรถยนต์ มีแต่ทางรถไฟที่จะเชื่อมแว่นแคว้นต่างๆ เข้าด้วยกัน ฉะนั้นถ้าใช้รางรถไฟขนาดกว้างไม่เท่ากันก็จะเข้าหลักการ "แบ่งแยกและปกครอง"
ลองหันมาดูภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเห็นว่าทิศตะวันตกและทิศใต้ ได้แก่ พม่า และมาเลเซีย ต่างก็ใช้รางรถไฟขนาดกว้าง 1 เมตร ซึ่งอังกฤษวางรากฐานไว้ให้ตั้งแต่ประเทศไทยยังไม่มีรถไฟ ในขณะเดียวกันทิศตะวันออก ได้แก่ เวียดนามและเขมร ก็มีรางรถไฟขนาดกว้าง 1 เมตร ซึ่งฝรั่งเศสวางรากฐานไว้ให้ และมหาอำนาจทั้งสองประเทศก็รุกคืบเพื่อแบ่งดินแดนของสยามประเทศไปเป็นส่วนหนึ่งในอาณานิคมของตน
ภายใต้สถานการณ์เช่นนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดให้สร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมหัวเมืองต่างๆ เข้ากับเมืองหลวงและเป็นจุดกำเนิดของการเดินรถไฟในประเทศสยาม
ที่มากไปกว่านั้นก็คือต้องมุ่งไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน เพราะกระแสปลุกระดมของฝรั่งเศสกำลังร้อนแรง ท่านที่ยังไม่ทราบก็โปรดทราบว่าทางรถไฟสายแรกของไทยต้องมุ่งไปโคราชก็ด้วยจุดประสงค์ที่จะรักษาแผ่นดินตรงนั้นไว้
ที่เกี่ยวข้องกับความกว้างของรางรถไฟก็คือ ทางรถไฟสายแรกและต่อๆ มาไม่ใช่รางกว้างขนาด 1 เมตรเช่นปัจจุบัน แต่เป็นขนาด 1.435 เมตร ซึ่งเป็นขนาดกว้างของรางรถไฟที่ประเทศในยุโรปใช้กันอยู่ เมื่อเส้นทางรถไฟขยายออกไปถึงภาคเหนือก็เป็นรางกว้างขนาดเดียวกันนี้
ถ้าลองหลับตาดูภาพเหล่านี้ในเชิงยุทธศาสตร์ก็จะเห็นนโยบาย "ก้างขวางคอ" ที่ทรงมีพระราชดำริไว้ กล่าวคือ เมื่อซ้าย (และใต้) เป็นรางรถไฟกว้าง 1 เมตร และขวาก็เป็นรางรถไฟกว้าง 1 เมตร สิ่งที่จะหยุดยั้งการรุกรานในเชิงยุทธศาสตร์ได้ก็คือ การวางรถไฟขนาดกว้าง 1.435 เมตร ขวางตรงกลาง รถไฟของสยามประเทศจึงเกิดขึ้นและเป็นรางรถไฟกว้าง 1.435 เมตร
วิศวกรต่างชาติที่มาวางรากฐานเรื่องทางรถไฟไว้ให้เป็นชาวเยอรมัน ซึ่งหลายท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าให้เป็นเจ้ากรมรถไฟ โอนสัญชาติกลายเป็นคนไทยไป เช่น นายเค เบธเก้ และ นายแอล ไวเลอร์ ซึ่งท่านหลังนี้ยังมีสถูปบรรจุอัฐิอยู่ที่หน้าถ้ำขุนตาล ผู้บริหารระดับรองลงมาหลายท่านในระยะแรกของประวัติศาสตร์รถไฟประเทศสยามก็เป็นคนต่างชาติ
รถไฟสายใต้มีประวัติความเป็นมาที่แตกต่างกันเพราะสร้างขึ้นภายหลัง และเข้าใจว่ารถไฟสายแม่กลองซึ่งเป็นรถไฟสัมปทานที่ชาวเดนมาร์กประกอบกิจการอยู่เดิมจะเป็นรางขนาดกว้าง 1 เมตร เหตุการณ์ของประเทศเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น และมีอิทธิพลทางความคิดของอังกฤษผลักดันอยู่ หรือถ้าจะมองว่าเป็นกุศโลบายแบ่งแยกภายใน คือถ้าจะเสียก็เสียไปบางส่วน ไม่เสียทั้งหมด สิ่งเหล่านี้น่าจะประมวลกันเข้าและเป็นที่มาของการวางรางรถไฟขนาด 1 เมตร ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดลงไปถึงภาคใต้
เมื่อมีการสร้างสะพานพระรามหกในปี พ.ศ. 2463 เพื่อเชื่อมทางรถไฟฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าด้วยกัน จึงต้องตัดสินใจปรับขนาดความกว้างให้เท่ากันเพื่อความสะดวกในการเดินรถ การจดบันทึกอธิบายถึงหลักการและเหตุผลในเชิงเศรษฐกิจที่รัฐบาลตัดสินใจเปลี่ยนรางขนาดกว้าง 1.435 เมตร ในสายเหนือเป็นขนาดกว้าง 1 เมตร แต่ที่ไม่ได้จดบันทึกก็เข้าใจว่าจะเป็นอิทธิพลทางความคิดของอังกฤษซึ่งมีอำนาจเหนือภูมิภาคนี้อยู่ในขณะนั้น
สุดท้ายถ้าลองดูประเทศเป็นเกาะที่รายล้อมภูมิภาคนี้ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และญี่ปุ่น (อาจจะมองไกลไปถึงออสเตรเลียด้วยก็ได้) ต่างมีรางรถไฟกว้างขนาด 1.067 เมตร ดังที่เขียนมาข้างต้นว่า ไม่เห็นการจดบันทึกทางประวัติศาสตร์ของที่มา ได้แต่คาดเดาว่าชาวตะวันตกคงจะเห็นว่าถึงอย่างไรก็จะไม่มีการรวมตัวกันในเชิงกายภาพอยู่แล้ว
ฉะนั้น ก็อย่าให้ภูมิภาคนี้ได้รวมตัวกันในทางการค้า กล่าวคือ เมื่อเป็นรางรถไฟคนละขนาดกันก็จะเป็นอุปสรรคในการแลกเปลี่ยนเรื่องการค้าเกี่ยวกับรถไฟ (ที่เป็นของทันสมัยในยุคนั้น) ก็จะเห็นได้ว่าเป็นนโยบายแบ่งแยกเช่นเดียวกัน ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นก็จะสนับสนุนความคิดที่ว่าการเอารัดเอาเปรียบของตะวันตกนั้นมีมานานแล้ว และขณะนี้รถไฟที่เกิดใหม่ในประเทศก็ถูกชักจูงให้ใช้รางขนาดกว้าง 1.435 เมตรไปเรียบร้อยแล้ว
หลายท่านที่รู้สึกเวทนากับสภาพของการรถไฟวันนี้ และปรารถนาจะให้ดีขึ้นอย่างคนใจร้อนและไม่ศึกษาข้อเท็จจริงต่างก็ทึกทักว่าเป็นเพราะเราใช้รางกว้างขนาด 1 เมตร ซึ่งไม่ใช่รางมาตรฐาน รถไฟไทยจึงไม่ทันสมัย ที่ร้ายกว่านั้นก็คือมีพวกแปลภาษาไทยดื้อๆ
คือบอกว่ารางกว้าง 1 เมตรนี้ไม่เป็นมาตรฐาน รถไฟถึงไม่ดี ถ้าเป็นรางกว้าง 1.435 เมตร อย่างยุโรปแล้วรถไฟถึงจะดี เพราะเป็นมาตรฐาน ความคิดอย่างศรีธนญชัยเช่นนี้ที่ทำให้ประเทศไทยวุ่นวายอยู่ในปัจจุบัน
รถไฟรางกว้าง 1 เมตร นี้สามารถทำให้วิ่งเร็วได้กว่า 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วันนี้ที่ยังวิ่งเร็วขนาดนั้นไม่ได้เพราะปัญหาอื่น ซึ่งได้มีการพูดคุยได้มีการสัมมนาเชิงวิชาการไปแล้วหลายครั้งและได้ข้อยุติว่า การพัฒนารถไฟขนาดกว้าง 1 เมตร ให้ทันสมัยวิ่งได้เร็วกว่าปัจจุบันเป็นทางเลือกที่เหมาะกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน
ในอนาคตเมื่อเศรษฐกิจเราใหญ่โตกว่านี้มากๆ คุ้มที่จะลงทุนทำรถไฟความเร็วสูงแล้วค่อยคิดเรื่องใช้ขนาดกว้าง 1.435 เมตร ซึ่งก็จะเป็นรถไฟอีกระบบหนึ่ง ประเทศญี่ปุ่นก็ทำแบบนั้น ไต้หวันก็กำลังจะทำแบบนั้น
ท่านที่คิดเอาว่าเพื่อนบ้านเราเองใช้รางรถไฟไม่เหมือนเรา ที่รถไฟเราไม่ทันสมัยก็เพราะใช้รางกว้าง 1 เมตร ก็โปรดทราบตามนี้
ท่านที่คิดแต่จะเชือดเฉือนผลประโยชน์และที่ดินของรถไฟไปทำอย่างอื่นก็ขอให้ระลึกถึงประวัติศาสตร์บ้าง ที่ทำอยู่ตรงกับปณิธานของบรรพชนหรือเปล่า
พนักงานรถไฟน่าจะได้อ่านประวัติศาสตร์และคิดอะไรออกไปไกลๆ ตัวบ้าง
รถไฟคือประวัติศาสตร์ของชาติ คนรถไฟควรจะภาคภูมิใจกับการได้เป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์นั้น ควรที่จะสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
นำเสนอข้อเท็จจริงให้ประจักษ์แก่สังคม เมื่อความศรัทธาเชื่อถือเกิดขึ้นแล้วก็จะมีผู้สนับสนุน รถไฟก็จะพัฒนาไปได้ตามพระราชประสงค์ขององค์พระผู้ให้กำเนิดกิจการนี้
โดยคุณ : คนรถไฟ
อ้างแต่เหตุผลเข้าข้างตัวเอง ไม่มองภาพรวมที่ดีกว่า ต้องรับความจริง.
ตอบลบ