...+

วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

ฆ่าตัวตายเพราะเพลง : ความรับผิดชอบของใคร?

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 25 กรกฎาคม 2550 13:04 น.
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
มิวสิกวิดีโอเพลง "แทงข้างหลังทะลุถึงหัวใจ"


"ตุล"

มีประเด็นที่กลายเป็นข้อถกเถียง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ตลอดเวลาสำหรับ "เนื้อหา" ในบทเพลง(ไทย) ซึ่งระยะหลังมักจะถูกตั้งข้อสงสัยในเรื่องของความเหมาะสมและไม่เหมาะสมค่อนข้างจะถี่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเหตุผลกว่า 90% ของเพลงส่วนใหญ่ซึ่งเกี่ยวข้องกับความรักที่กลายเป็นข้อกังวลของคนบางส่วนต่อภาวะการรับรู้ในเนื้อหารวมถึงมิวสิกวิดีโอต่อบทเพลงที่ว่าของวัยรุ่นไทยด้วยความเกรงว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งอารมณ์ใคร่ และการแสดงออกในเรื่องทางเพศที่เป็นไปในด้านลบ

ล่าสุดที่กลายเป็นประเด็นต่อเนื่องกับเรื่องที่ว่าก็คือเนื้อหาของเพลงที่สื่อถึงความเสียใจของผู้ที่อกหัก พลาดหวังจากความรัก จากการออกมาเปิดเผยของ "นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน" โฆษกกรมสุขภาพจิตที่เผยผลการวิจัยยืนยันว่ามีคนฆ่าตัวตายจากสื่อที่ได้รับทั้งเรื่องของหนัง เพลง หรือแม้กระทั่งหนังสือจริงๆ

ที่น่าสนใจก็คือ ปัจจุบันเพลงไทยรวมถึงมิวสิกวิดีโอบางส่วนได้มีเนื้อหาที่ชักนำให้เกิดเรื่องในลักษณะที่ว่า โดยยกตัวอย่างของบทเพลง "แทงข้างหลังทะลุถึงหัวใจ" ของ "อ๊อฟ ปองศักดิ์ รัตนพงษ์" ซึ่งแต่งโดย "นิ่ม สีฟ้า" ขึ้นมาประกอบ

"ปัจจุบันมีเพลงที่มีเนื้อหารุนแรง ใช้คำหยาบคายและสื่อถึงเรื่องเซ็กซ์ในด้านลบเรื่องเพลงจำนวนมาก ในอนาคตอาจจะต้องมีการจัดเรตติ้งเพลงเหมือนกับการจัดเรตติ้งทีวี เพราะเด็กแต่ละวัยมีวุฒิภาวะไม่เหมือนกัน การได้รับสื่อทางลบบ่อยๆ อาจทำให้เลือกวิธีตัดสินใจในทางลบไปด้วย"

"และในกรณีของเพลงนี้ในมิวสิกวิดีโอตอนท้ายพระเอกเสียชีวิตด้วย ยิ่งทำให้เกิดอิทธิพลมากขึ้น เมื่อรวมกับเนื้อเพลงท่อนสำคัญคือ... ฉันเหมือนคนไม่มีกำลังและหมดแรง จะยืนจะลุกเดินไป ฉันเหมือนคนกำลังจะตายที่ขาดอากาศจะหายใจ ฉันเหมือนคนที่โดนเธอแทงข้างหลังและมันทะลุถึงหัวใจ เธอจะให้ฉันมีชีวิตต่อไปอย่างไร"

"ไม่มีอีกแล้ว กับเธอไม่มีเหลือสักอย่าง อยากตาย เสียใจแค่ไหนถ้าอยากรู้ บอกเธอได้คำเดียว อยากตาย..."

ประเด็นมีคนฟังเพลงแล้วฆ่าตัวตาย หรือแม้กระทั่งเนื้อหาของเพลงในลักษณะที่คร่ำครวญนี้ต้องถือว่าไม่ใช่ของใหม่สำหรับบ้านเรา อย่างกรณีของเพลง "ใจจะขาดแล้วเอย" ของ "ศรเพชร ศรสุพรรณ", "ตายทั้งเป็น" ของ "RITALINN", "ปล่อยฉัน" "Retrospect" เหล่านี้ก็มีเนื้อหาที่ไม่ได้ต่างกันมากนัก

แต่การหยิบยกนำเรื่องที่ว่านี้ขึ้นมาพูดคุยต้องถือว่าน่าสนใจ

ในต่างประเทศ แม้เราจะได้ยินข่าวในลักษณะที่ว่านี้อยู่เป็นประจำ แต่ก็ใช่ว่าบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องจะไม่แยแสหรือปล่อยให้เรื่องที่ว่าเกิดขึ้นแล้วขึ้นอีก

มีข้อมูลที่ปรากฏเป็นข่าวออกมาระบุถึงกระแสการฆ่าตัวตายของเด็กวัยรุ่นในอเมริกาอันมีส่วนมาจากการฟังเพลงในแนว GLOOMY SUNDAY ที่มีต้นกำเนิดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบทเพลงที่ใช้ดนตรีและการร้องแบบโหยหวนกระตุ้นอารมณ์ เนื้อเพลงส่วนใหญ่จะมีความหมายไปในทำนองพูดถึงความเบื่อหน่ายต่อสังคมและการมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ ก่อนจะชักชวนให้มีการฆ่าตัวตายในวันอาทิตย์เพื่อจะได้พบกับความสุขอันเป็นนิรันดร์

ว่ากันว่าทางการของอเมริกาเพิ่งจะรู้จักกับเพลงแนวนี้เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมานี้เอง หลังเกิดคดีเด็กวัยรุ่นฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นทั้งเดี่ยวและหมู่อย่างน่าประหลาด โดยจากการตรวจสอบพบว่าได้มีการเปิดสถานีวิทยุแห่งหนึ่งเพื่อเผยแพร่เพลงแนวนี้ออกมา

ถ้าเสียงเพลงมีอิทธิพลที่สามารถสร้างอารมณ์ให้คนฟังสดใส หรือรู้สึกดีได้ ฉะนั้นมันคงจะไม่ใช่เรื่องที่แปลกประหลาดแต่อย่างใดหากในอีกด้านหนึ่ง "เสียงเพลง" ที่ว่าจะเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดอารมณ์ที่หดหู่หรือความรู้สึกในด้านลบต่อผู้ที่กำลังเสพได้เช่นกัน

งานศิลปะทุกแขนงแม้จะมุ่งสื่อถึงอารมณ์ภายในของตัวศิลปินเป็นหลัก แต่ทั้งนี้คำถามหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ในตัวงานศิลปะเองที่มีหลากหลายองค์ประกอบ อาทิ แนวคิด ทัศนะคติ เสียง ภาษา รูปแบบ ฯลฯ ทั้งหลายทั้งปวงเหล่าจำเป็นมั้ยที่จะต้องแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมที่ประกอบไปด้วยคนซึ่งมีระดับความคิด สติปัญญา ที่แตกต่างกันออกไป

"ผมคิดว่าไม่ควรครับ ผมคิดว่าคนทำเพลงไม่มีสิทธิ์รับผิดชอบชีวิตใครทั้งนั้น คนทำเพลงก็คือคนที่อยากจะสนุกไปวันๆ ผมมองว่าดนตรีก็ไม่ใช่อะไรที่ยิ่งใหญ่มาก ผมก็แค่คนทำงานที่ทำเพราะสนุก..." ตุล ไวทูรเกียรติ หนึ่งในสมาชิกวง "อพาร์ทเมนท์คุณป้า" เคยให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านี้เป็นคำตอบจากคำถามที่ว่าในฐานะนักแต่งเพลงและนักร้อง ควรจะมีความรับผิดชอบต่อภาษาที่ตัวเองสื่อสารออกมาหรือไม่?

"ผมคิดว่าคนทำเพลงมีหน้าที่รับผิดชอบความสนุกของตัวเองครับ ถ้าเมื่อไรคุณทำแล้วไม่สนุก คุณฝืนเพื่อให้สังคมมองว่าคุณใช้ภาษาถูก แต่ในขณะเดียวกันคุณไม่ได้อยากใช้ภาษานั้นคุณก็ตอแหลกับตัวเอง ตรงนั้นผมถือว่าผิดจรรยาบรรณในการเป็นศิลปินนะครับ ศิลปินควรจะรับผิดชอบต่อตัวเอง แล้วงานศิลปะมันจะเป็นอย่างไรก็ตาม มันก็ต้องเป็นอย่างนั้น"

"ไม่ว่ามันจะทำให้เกิดค่านิยมที่ดีหรือค่านิยมที่ไม่ดี ก็ไม่ใช่ความผิดของศิลปินตราบใดที่ศิลปินนั้นยังเชื่อว่าสิ่งที่เขาพูด มันเป็นสิ่งที่เขารู้สึกจริงๆ แต่ว่าถ้าเมื่อไรก็ตามที่ศิลปินต้องมาฝืนเพื่อทำนุบำรุงอะไรบางอย่าง ที่แม้แต่ตัวศิลปินก็ยังไม่เชื่อ อันนั้นผมก็ถือว่ามันฝืด ศิลปะควรจะเป็นอะไรที่ทำเพื่อความสุขของผู้ทำ"

"แล้วเมื่อไรคนทำมีความสุข คนฟังจะได้รับความสุขนั้นไปเอง ผมก็หวังว่าอย่างนั้นโดยที่ความถูกผิด ไม่ได้เป็นเรื่องจำเป็นอะไรเลยในการสร้างงาน"

ส่วนกรณีของการที่มีคนฟังเพลงแล้วฆ่าตัวตายนั้นเจ้าตัวมองว่า..."อย่างที่ต่างประเทศที่มีเด็กฟังเพลงแล้วฆ่าตัวตาย เขาก็จะถามว่าแล้วมันเป็นความผิดของศิลปินหรือเปล่าที่จะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งนั้น ผมถือว่ามันก็ไม่ใช่เป็นความผิดของศิลปิน เพราะหน้าที่ของคนทำเพลงก็คือ คนเขียนเพลง ส่วนหน้าที่คนฟังคือฟังแล้วนำไปตีความ นำไปใช้ยังไง อันนี้เป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคลของคนฟังแล้ว"

"คนที่อยากเสพงานศิลปะก็ต้องยอมรับถึงความเปลี่ยนแปลง หรือการที่ศิลปะอาจจะยืนอยู่ในกรอบหรือนอกกรอบก็ได้ มันเป็นเหตุผลของคนทำศิลปะว่าเราต้องการอิสระที่ไม่มีที่สิ้นสุดน่ะครับ หรือเรื่องของภาษานั้น ผมว่าก็คงต้องปล่อยให้คนภายบนอกวิพากษ์วิจารณ์กันไป แต่สำหรับคนแต่งเพลง ขอให้แต่งเพลงแล้วรู้สึกว่าตัวเองอยากจะฟัง ตราบดีที่คุณแต่งเพลงแล้วคุณมาฟังเพลงที่คุณแต่งได้รอบแล้ว รอบเล่า ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว"

"แต่คนบางคนแต่งเพลงเพื่อที่จะให้คนอื่นชอบ แต่เอาเข้าจริงพอคนอื่นไม่อยู่ ตัวเองเผลอ หรือไม่มีคอนเสิร์ต ก็ไม่เคยเอาเพลงตัวเองมาฟังเลย ไม่ได้ชอบเพลงตัวเองจริงๆ ตรงนี้มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้ากว่า..."
........
เพลง - แทงข้างหลัง...ทะลุถึงหัวใจ
ศิลปิน - อ๊อฟ ปองศักดิ์ รัตนพงษ์
เนื้อร้อง - สีฟ้า
ทำนอง / เรียบเรียง - ปธัย วิจิตรเวชการ
ไม่ใช่นิยาย ไม่ใช่ละคร
ที่ฉันมองเห็นอยู่นี้ ที่แท้มันคือความจริง
คือคนสองคน ที่บอกรักกัน และคนในนั้น
หนึ่งคนคือคนที่ฉัน รักหมดหัวใจ

สิ่งที่เธอแสดง ทุกทุกถ้อยคำ
เหมือนเธอนั้นพูดกับฉัน
แต่ผู้ชายคนนั้น มันไม่ใช่ฉัน

ฉันเหมือนคนไม่มีกำลัง
และหมดแรงจะยืนจะลุกจะเดินไป
ฉันเหมือนคนกำลังจะตาย
ที่ขาดอากาศจะหายใจ
ฉันเหมือนคนที่โดนเธอแทงข้างหลัง
แล้วมันทะลุถึงหัวใจ
เธอจะให้ฉันมีชีวิตต่อไปอย่างไร
ไม่มีอีกแล้ว กับเธอ
ไม่มีเหลือสักอย่าง .... อยากตาย

บทบาทของเธอ สิ่งที่เขาทำ
ทุกตอนมันเหมือนตอกย้ำ
ให้ฉันต้องเสียน้ำตา
ภาพที่คุ้นเคย ที่ที่คุ้นตา
น้ำเสียงที่เธอ พูดจาท่าทีเหล่านั้น
ฉันไม่เคยลืม

สิ่งที่เธอแสดง ทุกทุกถ้อยคำ
เหมือนเธอนั้นพูดกับฉัน
แต่ผู้ชายคนนั้น มันไม่ใช่ฉัน

ฉันเหมือนคนไม่มีกำลัง
และหมดแรงจะยืนจะลุกจะเดินไป
ฉันเหมือนคนกำลังจะตาย
ที่ขาดอากาศจะหายใจ
ฉันเหมือนคนที่โดนเธอแทงข้างหลัง
แล้วมันทะลุถึงหัวใจ
เธอจะให้ฉันมีชีวิตต่อไปอย่างไร
ไม่มีอีกแล้ว กับเธอ
ไม่มีเหลือสักอย่าง .... อยากตาย

เสียใจ แค่ไหน ถ้าอยากรู้
บอกเธอได้คำเดียว .... อยากตาย....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น