...+

วันพุธที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2550

แง้มหัวใจ"นก:นิรมล" นักเดินทางขวัญใจเด็กๆ
















โดย ผู้จัดการออนไลน์4 มิถุนายน 2550 18:08 น.

ที่มา http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9500000064551




















































หากพูดถึงหญิงเก่ง หญิงแกร่ง นักเดินทางที่ใช้ชีวิตติดดินคลุกฝุ่นอยู่กับทุ่งหญ้าป่าใหญ่ ชนบท ชาวบ้าน และเด็กๆแล้ว ชื่อของ"นก:นิรมล เมธีสุวกุล" นับเป็นชื่อในอันดับต้นๆที่ผู้คนนึกถึงอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้วที่เธอ ยังคงเส้นคงวาอยู่กับการนำเสนอเรื่องราวต่างๆในชนบทที่ถูกละเลยให้คนเมืองได ้รับรู้ จนกลายเป็นพี่นกขวัญใจเด็กๆและหนึ่งในต้นแบบผู้หญิงขาลุยของใครหลายๆคน

แต่กว่าจะมีวันนี้ได้ นิรมลได้บ่มเพาะเคี่ยวกรำประสบการณ์การทำงานควบคู่ไปกับการเดินทางมาอย่างยา วนาน ซึ่งเธอรำลึกความหลังให้ฟังว่า ด้วยความที่เป็นเด็กต่างจังหวัด เกิดที่สุพรรณบุรี แต่ว่ามาเติบโตท่ามกลางขุนเขา สายหมอกหนาว ที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย ที่ถึงแม้ว่าจะอาศัยอยู่ในตลาดแต่ว่าด้วยฐานะปานกลางที่ค่อนข้างไปทางจนก็ทำ ให้เธอคุ้นเคยกับความลำบากมาพอตัว

ในส่วนของความผูกพันกับชีวิตชนบทนั้น นิรมลเล่าว่า ในวัยเด็กก็เคยได้สัมผัสกับชีวิตชนบทมาในระดับหนึ่ง ส่วนตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็ไปออกค่ายอาสา แต่ว่าก็ไม่มากเท่ากับในช่วงทำงาน โดยเฉพาะช่วงที่ทำรายการทุ่งแสงตะวัน

"ชีวิตการทำงานของนกเริ่มต้นด้วยการเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ การทำงานหนังสือพิมพ์ถือว่ามีความเสมอภาคอยู่ในตัวมากไม่ได้แบ่งงานว่านี่คื อหญิงหรือชาย ทำให้รู้สึกว่างานไหนเราก็ทำได้ จากนั้นก็เปลี่ยนมาทำรายการทีวีที่ลักษณะงานก็ไม่ต่างกัน คือเมื่อมีข่าวอะไรมา ไม่ว่าข่าวคนตาย ข่าวยิงกัน เราก็ไปทำหมด"





















จากการบ่มเพาะประสบการณ์การทำข่าว หลังจากนั้นในปี 2532 นิรมลได้หันมาจับงานพิธีกรและเขียนบทสารคดีรายการ "ทุ่งหญ้าป่าใหญ่"ทางช่อง 7 ก่อนที่ในปี 2534 จะย้ายมาทำรายการ"ทุ่งแสงตะวัน" ทางช่อง 3 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งการเปลี่ยนแนวทางของการทำงานทำให้เธอได้มีโอกาสเดินทางและเรียนรู้โลกกว ้างไปตามที่ต่างๆมากขึ้น เผชิญชีวิตในหลายรูปแบบ สั่งสมเป็นประสบการณ์ชีวิตที่เพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อยๆ

"สิ่งที่นกได้เจอในการทำงานนั้นมีหลายรูปแบบ ทั้งการปรับตัวให้เข้ากับชีวิตชนบท การทำงานกับชาวบ้านและเด็กๆ การอดทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการถ่ายทำ โดยเฉพาะกับเด็กๆถือเป็นปัญหามากในช่วง 2-3 ปีแรก ซึ่งเราต้องเรียนรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาเด็ก ต้องเข้าไปพบหมอเด็กเพื่อพูดคุยหาข้อมูล อ่านงานวิจัยเกี่ยวกับเด็กมากเป็นพิเศษในช่วงนั้น คือต้องศึกษาเยอะพอสมควรเพื่อให้เราได้เข้าถึงเด็กได้ดีและลึกซึ้งขึ้น

"นกขอบอกเลยว่าไม่มีตำราใดๆ สามารถอธิบายตัวตนของเด็กได้อย่างสมบูรณ์ เพราะเด็กแต่ละคนนิสัยแตกต่างกัน คิดว่าการทำงานกับเด็กเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้กันมากกว่า เรื่องบางเรื่องเราไม่รู้แต่เขารู้ เราก็จะรับมาจากเขา เรื่องบางเรื่องที่เรารู้เราก็จะปลูกฝังให้เขา"

นอกจากนี้เรื่องของการใช้ชีวิตในชนบทก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องเรี ยนรู้และปรับตัวไม่น้อย โดยนิรมลเล่าว่า การอาบน้ำรวมไปถึงเรื่องอาหารการกิน ที่พักอาศัย บางครั้งต้องไปอาบในที่ชุมชนร่วมกับชาวบ้านก็ต้องอาบให้ได้ เพื่อให้เข้าถึงวิถีชีวิตของเขา

"เราจะไม่อายและจะทำทุกอย่างที่เขาทำกันได้ ซึ่งนอกจากจะไม่เป็นปัญหาแล้ว มันกลับเป็นสิ่งหอมหวานที่หาไม่ได้จากที่ไหน เรียกว่าโชคดีกว่าคนบางคนที่พยายามจะสร้างห้องน้ำแบบสวน แบบสปาบำบัด ด้วยซ้ำ เพราะที่ที่นกไปอาบน้ำนั้นมันเป็นธรรมชาติจริงๆ โอบล้อมไปด้วยป่าเขา ต้นไม้นานาชนิด เป็นโอกาสที่เราหาไม่ได้ง่ายๆ

"บางทีห้องน้ำเต็มไม่สามารถเข้าได้เราก็ต้องไปเข้าทุ่ง ซึ่งตรงนั้นเราก็ต้องเข้าให้ได้และไม่มีการรังเกียจ มันเป็นเรื่องที่ต้องใช้เทคนิคปรับตัวแต่ก็เป็นเรื่องสนุก เพราะการได้ทำงานตรงนี้มันทำให้เราได้เรียนรู้ และสามารถนำไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิตได้"





















สำหรับเรื่องของอาหารการกินที่อาจเป็นอุปสรรคต่อใครหลายๆคนนั้น ดูจะไม่ค่อยเป็นปัญหาสำหรับนิรมลเท่าไหร่ แต่เธอกลับใช้สิ่งที่ประสบพบเจอเรียนรู้ไปในตัว

"เราได้เรียนรู้เรื่องของอาหารการกินจากที่ไปถ่ายทำ อย่างเช่น ฤดูนี้ เดือนนี้ มีผักชนิดนี้ออกมามาก ถ้าไปกาญจนบุรี เดือนฤดูนี้ก็จะได้กินเห็ดโคนที่ใหญ่มาก อร่อยมาก เป็นต้น และด้วยความที่นกเป็นคนชอบทานผักฉะนั้นก็จะได้เรื่องของสุขภาพด้วย นอกจากนี้เรายังได้รู้ถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นของแต่ละที่ อย่าง เช่น อาหารบางอย่างกินกับอะไรถึงจะอร่อย หรือแกงหน่อไม้ของอีสานต้องใส่ใบย่านาง เพราะจะช่วยในเรื่องของการย่อยได้ดี อีกทั้งยังมีเคล็ดลับเกี่ยวกับอาหารอีกหลายอย่างที่เราได้เรียนรู้จากชาวบ้า น

"สิ่งที่ได้จากชนบท สามารถนำมาปรับใช้กับตัวเองได้ ยกตัวอย่างเช่นเรื่องของอาหาร ที่นกกลายเป็นคนทานอาหารเพื่อสุขภาพก็คือ เวลาไปทานอาหารในท้องถิ่นหรือว่าชนบทก็อยากจะรู้ว่ามันมาได้อย่างไร มีสรรพคุณอะไร แก้โรคอะไรบ้าง เช่น ถ้าอากาศเปลี่ยนเป็นฤดูฝนก็จะต้องทานแกงเลียงเพื่อแก้ไข้หัวลม เพราะแกงเลียงประกอบด้วยพืชสมุนไพรหลายอย่างสามารถแก้ไข้และสามารถสร้างภูมิ ต้านทานได้ หรือการได้รับรู้ว่าสภาพธรรมชาติชาติที่อุดมสมบูรณ์ทำให้ชาวบ้านได้กินของดี ๆเพื่อสุขภาพของตัวเอง พึ่งพาตัวเองได้ มีซุปเปอร์มาเก็ตเป็นของตัวเอง คือ ป่าหลังบ้านหรือสวนหลังบ้านของเขา เมื่ออยากจะกินอะไรก็ไปเด็ดมากินได้ตามใจชอบ"




















ไม่เพียงเท่านั้นการทำงานกับชาวบ้านในชนบทถือเป็นการเรียนรู้ที่สำคั ญอย่างของนิรมล เธออธิบายว่า มีชาวบ้านหลายหมู่บ้านที่ยังคงใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติโดยที่ไม่รบกวนธร รมชาติ อยู่กันอย่างพึ่งพาอาศัย แต่ก็มีชาวบ้านอีกหลายหมู่บ้านเหมือนกันที่รับเอาเทคโนโลยีมาใช้จนหมู่บ้านพ ังราบคาบ สำหรับหมู่บ้านพึ่งพาอาศัยธรรมชาติจะมีวิธีการคิดที่แยบยลไม่น้อย คือ เวลาที่ชาวบ้านเข้าไปในป่าจะไปตัดหน่อไม้ ถ้ามีหน่อไม้ 10 หน่อ ชาวบ้านจะตัดแค่ 6 หน่อ เอามากิน เหลือไว้อีก 4 หน่อ เพราะว่าต้องการให้หน่อไม้เหล่านั้นได้เติบโตไปเป็นต้นไผ่ที่สูงใหญ่ แล้วคราวหน้าก็จะได้ไปตัดหน่อไม้ได้อีก

"สิ่งที่พบเจอมันทำให้นกได้เข้าใจธรรมชาติมากขึ้น และรู้จักการใช้ประโยชน์ของธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า ซึ่งเราควรจะรณรงค์เรื่องเหล่านี้ให้มาก เพื่อให้คนทั่วไปเป็นผู้บริโภคที่ดี ไม่ว่าจะเป็น การสนับสนุนพืชผักพื้นบ้านหรือสนับสนุนอาหารที่ไม่รุกรานทำลายธรรมชาติ"

สำหรับสิ่งที่นิรมลชื่นชอบมากก็คืองานผ้าทอแต่ว่าไม่ค่อยจะมีคนรู้เร ื่องนี้เท่าไหร่ ซึ่งเธอได้เก็บสะสมผ้าทอมือไว้เป็นจำนวนมาก แต่ว่าส่วนใหญ่จะเป็นการเก็บไว้เฉยๆเพราะเธอไม่กล้าตัด

"ในตู้เสื้อผ้าของนกจะมีผ้าทอมากกว่าชุดที่ใส่ทำงานประจำเสียอีก แม้ผ้าทอบางผืนที่ได้มาอาจดูไม่ค่อยสวย แต่คุณค่าทางจิตใจนั้นมีมากกว่า บางผืนได้มาจากเด็ก ป.6 ที่หัดทอผ้าเป็นครั้งแรก ถือเป็นความภูมิใจมากกว่าสิ่งอื่นใด เพราะเราได้สัมผัสถึงสิ่งที่เด็กคนนั้นพยายามเรียนรู้สืบสานภูมิปัญญา ไม่ใช่ได้แค่ผ้าทอ แต่เราได้ความรู้สึกผูกพัน มันไม่ใช่วัตถุ มันเป็นความรู้สึกดีๆที่เราได้จากชาวบ้าน ทำให้ผ้าทอผืนนั้นเป็นผ้าทอที่ยังจดจำมาได้ถึงทุกวันนี้ เวลาที่มองทีไรนกจะรู้สึกมีความสุขอยู่ลึกๆ"

แม้หลายๆคนจะมองว่านิรมลเป็นผู้หญิงขาลุยที่บ่ยั่นต่อความยากลำบากทั ้งหลาย แต่สำหรับเธอแล้วกลับยอมรับว่าไม่ใช่ผู้หญิงขาลุยอย่างที่หลายๆคนคิด โดยเฉพาะเรื่องยุงนั้น แพ้มากๆเวลาไปไหนมาไหน ต้องเตรียมเรื่องการกันยุงเอาไว้ให้พร้อม ทั้ง ยาแก้แพ้ต่างๆ หรือถ้ามียุงมากบางครั้งก็จะต้องนำมุ้งไปด้วย ซึ่งเรื่องเหล่านี้เธอบอกว่าต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพราะจะไม่รู้ล่วงหน้าเลยว่าจะไปเจออะไรบ้าง แต่จะใช้ประสบการณ์ที่ผ่านๆมาปรับใช้กับสิ่งที่จะเจอ

"คนเราใช่ว่าจะเกิดมามีพร้อมไปทุกอย่าง ถึงจะเก่งแค่ไหนก็ต้องมีพลาดกันบ้าง ฉะนั้นต้องอาศัยการเรียนรู้ไปจนถึงประสบการณ์ที่สั่งสมมานาน แล้วก็จะพบกับความสำเร็จ"




















ในฐานะผู้ผลิตรายการทีวีและคนที่ทำงานเกี่ยวกับชุมชน นิรมลบอกว่า งานที่ทำไม่ใช่แค่มีเพื่อการออกอากาศเท่านั้น แต่ว่าคุณค่าของงานมันมีมากกว่านั้น คุณค่าของมันคือการได้อะไรจากการได้ไปเรียนรู้ ซึ่งเธอจะไม่รู้สึกเหนื่อยเลยถ้าสามารถก้าวผ่านช่วงฝึกฝนตนเองให้ผ่านมันไปไ ด้

อนึ่งการทำรายการทุ่งแสงตะวันของนิรมลนั้น เธอบอกว่าเป็นการเที่ยวไปในตัวด้วย บางครั้งก็มีการเปิดโอกาสให้แฟนๆรายการได้เข้าร่วมด้วย แต่จะไม่เรียกการไปชนบทว่าการไปเที่ยวแต่จะเรียกว่าการไปเรียนรู้มากกว่า เพราะจะรับเฉพาะคนที่เป็นครอบครัวเท่านั้น เพราะต้องการให้คนในครอบครัวได้ไปเรียนรู้การใช้ชีวิตในอีกแง่มุมหนึ่งที่หา ไม่ได้จากในเมือง เด็กๆจะได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นประสบการณ์ที่ได้รับโดยตรง เรียนรู้ได้จริง ซึ่งการเดินทางท่องเที่ยวได้ให้อะไรกับหญิงแกร่งอย่างนิรมลหลายอย่างดังเช่น ที่เธอได้กล่าวไว้ในหนังสือ "เส้นทางความสุข" (ของททท.)ว่า

" การเรียนรู้จากธรรมชาติ จากประสบการณ์ของผู้คน ที่ได้พบเจอในแต่ละสถานที่ เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้ชีวิตนกมีคุณค่ามากขึ้น ได้มุมคิดใหม่ๆที่จะก้าวต่อไปในชีวิต"

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

นิรมล เมธีสุวกุล เกิดที่อำเภอเมือง สุพรรณบุรี แต่ไปเติบโตที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีคณะนิเทศศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เริ่มทำงานเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นในปี 2526 จากนั้นไปเป็นนักข่าวช่อง 7 และช่อง 9 จนปี 2532 หันมาจับงานพิธีกรและเขียนบทสารคดีรายการ "ทุ่งหญ้าป่าใหญ่" ทางช่อง 7 จนกระทั่งปี 2534 ย้ายมาทำ "ทุ่งแสงตะวัน" ที่ช่อง 3 จนถึงทุกวันนี้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น