...+

วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2550

กรุณา..

กรุณาคือความสงสาร เมื่อเห็นเขามีความทุกข์ ก็คิดหาทางช่วยเหลือ ปลดเปลื้องทุกข์ของเขา

กรุณาต่อตนเอง หมายถึงมีจิตใจอยากจะช่วยเหลือตนเองให้พ้นจากทุกข์ ด้วยการสำรวจตัวเอง มองดูชีวิตตัวเอง เริ่มต้นที่การกระทำด้วย กาย วาจา มีอะไรบ้างที่เราควรแก้ไขปรับปรุงตน เริ่มต้นตรวจดูด้วยศีล ด้วยกฎหมาย ระเบียบ วินัย กติกาของสังคม หรือจากการที่ พ่อแม่ ครู อาจารย์ หรือเพื่อนๆ ได้ว่ากล่าวตักเตือนเรามีอะไรบ้าง จุดอ่อน จุดบกพร่องของตนเอง เลือกมาข้อใดข้อหนึ่ง ทบทวนตามเหตุผล ยกขึ้นมาตั้งไว้ในหัวใจ

ตั้งใจจะปรับปรุง พิจารณาอยู่บ่อยๆเป็นประจำ ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ขึ้น เหตุการณ์กำลังเกิดขึ้น เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว ตั้งใจอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เมื่อเรามีจิตกรุณาที่จะปรับปรุงแก้ไขตัวเองแล้ว ก็ให้อาศัยอิทธิบาท 4

ฉันทะ มีความพอใจในการแก้ไขปรับปรุงตนเอง
วิริยะ มีความพยายาม มีความตั้งใจสม่ำเสมอ
จิตตะ มีจิตใจจดจ่อในการแก้ไขปรับปรุง
วิมังสา ใช้ปัญญาทบทวน พิจารณาหาเหตุผล

เมื่อมีข้อผิดพลาด และหาวิธีการ อุบายต่างๆ ที่จะไม่ให้เกิดผิดพลาดขึ้นอีก สร้างจิตสำนึกในการที่จะพัฒนาตน มีความพอใจในการต่อสู้กับจิตใจตนเอง

กรุณาต่อผู้อื่น จิตที่กรุณาต่อผู้อื่น คือจิตใจที่คิดช่วยเหลือผู้ที่ด้อยกว่าเรา ให้เขาพ้นจากทุกข์ แนะนำ ตักเตือนเขา เพื่อให้เขาสามารถดำเนินชีวิตในทางที่ถูกที่ควร

สมมติว่าเราเป็นแม่ ในการเลี้ยงลูกนั้น เรามีความปรารถนาดีต่อลูก ให้ความรักความเมตตา สิ่งใดที่ทำให้ลูกมีความสุข เราก็ทำให้แก่ลูก เรียกว่าทำให้ลูก "ถูกใจ" ก็ดูไม่ยากอะไร แต่ความกรุณาคือช่วยเหลือให้ลูกพ้นทุกข์ เราต้องหมั่นอบรมสั่งสอนให้ลูกรู้จักผิดชอบชั่วดี บางครั้งอาจจะจำเป็นต้องเคร่งครัด ว่ากล่าวตักเตือน ขัดใจลูกก็เพื่อความ "ถูกต้อง" ข้อนี้เริ่มยากแล้ว กรุณาต้องอาศัยกำลังสติปัญญาและจิตใจที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ดังนั้นในการเลี้ยงดูลูก เมตตาจะต้องคู่กับกรุณา ลูกจึงจะไม่เสียคน เพราะถูกตามใจมากเกินไป ดังนั้น เมตตากรุณา จึงเป็นคุณธรรมที่ควรพัฒนาไปพร้อมๆกัน

ความกรุณาที่แท้จริงต้องมีพื้นฐานของความเมตตาอยู่ด้วยเสมอ ดังนั้น การที่เราจะว่ากล่าวตักเตือนใคร โดยเข้าใจว่าเป็นความกรุณาที่ต้องการให้เขาพ้นทุกข์ เราต้องสำรวจความรู้สึกตนเองให้ดีด้วยว่า ไม่ได้เจือด้วยความโกรธ หากเรามีเมตตา เราย่อมปรารถนาให้เขาเป็นสุข การว่ากล่าวตักเตือน เราจะต้องคำนึงถึงความรู้สึกของเขาด้วย ต้องทำไปเพื่อประโยชน์และความสุขของเขาจริงๆ

ที่สุดของความกรุณา ก็เป็นเช่นเดียวกับความเมตตา คือไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีประมาณ มีใจกรุณาแก่สรรพสัตว์ทั้งปวง ไม่เว้นแม้แต่ศัตรู

คัดลอกจากหนังสือ สาระแห่งชีวิตคือ รักและเมตตา - พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก..


................

ภาพที่จะอธิบายเรื่องกรุณาได้ชัดเจนที่สุดคือ ภาพระหว่างครูที่ปฎิบัติต่อลูกศิษย์ ยามที่ลูกศิษย์ทำผิดและถึงเวลาที่จะต้องใช้บทลงโทษ การทำโทษของคุณครูนั้นต้องทำด้วยใจเมตตา ไม่ได้ทำด้วยความโกรธหรือความอาฆาต แล้วใช้ความกรุณาว่ากล่าวตักเตือนชี้ทางที่ถูกที่ควรให้แก่ลูกศิษย์..


.................








ที่มา http://weblog.manager.co.th/publichome/myprecious/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น