...+

วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2550

อุเบกขา..


อุเบกขาคือความวางใจเป็นกลาง เป็นปกติ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นไปตามสมควรแต่เหตุปัจจัยตามกฎแห่งกรรม

หลายคนเข้าใจผิดว่า อุเบกขาคือเฉยๆ ไม่สนใจว่าใครจะทำอะไร ช่างมัน ฉันไม่เกี่ยว อุเบกขา มาจากความหมายเดิมว่า เข้าไปดู เข้าไปดูจนเข้าใจชัดเจน แล้วจิตปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย วางเฉยเสีย

ครูบาอาจารย์เปรียบเทียบไว้ว่า เมื่อลูกของเราจะเดินทางไปต่างประเทศเพื่อเรียนต่อ ก่อนเดินทาง พ่อแม่ อบรมสั่งสอนทำหน้าที่ของพ่อแม่ให้ดีที่สุด และสมบูรณ์ด้วยความเมตตา กรุณา มุทิตา เมื่อลูกเดินทางไปต่างประเทศแล้ว ไม่ต้องคิดถึง หรือเป็นห่วงวิตกกังวลใดๆอีก ทำใจวางเฉย รักษาใจ สงบใจ สุขใจ เราจะพัฒนาอุเบกขาขึ้นในจิตใจได้ ต้องเข้าใจความจริงอย่างหนึ่งของชีวิต ว่าไม่มีใครหนีพ้นจากโลกธรรมแปด โลกธรรมแปดฝ่ายน่าปรารถนาคือ ได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ สุข โลกธรรมฝ่ายไม่น่าปรารถนาได้แก่ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์

โดยเฉพาะโลกธรรมฝ่ายไม่น่าปรารถนานี้ หากเกิดขึ้นกับบุคคลอันเป็นที่รัก เช่นลูกของเราแล้ว ยากที่เราจะวางใจให้เป็นกลางได้ เรามักคิดว่าโลกนี้ไม่ยุติธรรม ไม่สมควรเลย แต่หากเราพิจารณาชีวิตด้วยปัญญาชอบแล้ว จะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราประสบอยู่นั้นมันเป็นไปตามกฎแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทุกสิ่งที่เราประสบล้วนเป็นมรดกแห่งกรรมของเราเอง ชีวิตที่เราประสบการณ์อยู่นี้สมบูรณ์ด้วยเหตุผล สมบูรณ์ตามเหตุปัจจัยของมันเสมอ

การกระทำของตัวเอง มองดูจากระยะยาว ตั้งแต่อเนกชาติ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นจึงพอเหมาะ พอดี สมบูรณ์แล้วด้วยกฎแห่งกรรม ใช้สติปัญญา เข้าใจความเป็นไปของชีวิต ปล่อยวางได้ ทำใจได้ ไม่ทุกข์ใจ เอาใจใส่ และรับผิดชอบในชีวิตปัจจุบัน ทำทุกอย่างให้ดีที่สุดด้วยความพอใจ สงบใจ

ที่สุดของอุเบกขาคือไม่มีปฎิฆะ อันหมายถึง ความกระทบกระทั่งใจ ความหงุดหงิดขัดเคือง เกิดขึ้นในใจแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะมีเรื่องราวเดือดร้อนรุนแรงขนาดไหนเข้ามากระทบ ก็ทำใจปล่อยวางและสงบใจได้ อุเบกขาจึงถือเป็นคุณธรรมขั้นสูงอันเปี่ยมไปด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อย่างสมบูรณ์ในขณะเดียวกัน

คัดลอกจากหนังสือ สาระแห่งชีวิตคือรักและเมตตา - พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

ขออนุญาตเผยแพร่เป็นธรรมทาน..

........


สหายในธรรมท่านหนึ่งได้กรุณายกตัวอย่างเรื่อง เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ให้เห็นภาพชัดขึ้นดังนี้คือ..

ถ ้าเราไปพบเห็นสุนัขตัวหนึ่งถูกฝูงสุนัขรุมรังแกจนบาดเจ็บ เราสงสารเกิดความเมตตาอยากให้พ้นจากทุกข์ทรมานนั้น จึงกรุณานำมันมาทำแผลหาอาหารให้กิน ระหว่างที่มันกินด้วยความเอร็ดอร่อย เราก็เกิดมุทิตาจิตยินดีที่มันมีความสุข หลังจากที่มันกินเสร็จมันก็วิ่งข้ามถนนเพื่อกลับบ้านแต่ถูกรถชนตายเพราะวิ่ง ตัดหน้าอย่างกระชั้นชิด เราช่วยอะไรไม่ได้จึงวางอุเบกขา...

จากตัวอย่างทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจยิ่งขึ้น และคิดว่าผู้อ่านทุกท่านคงเข้าใจกระจ่างชัดมากขึ้นด้วยเช่นกัน..

....
ที่มา http://weblog.manager.co.th/publichome/myprecious/





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น