...+

วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

ศีลควบคุมสัญชาตญาณ..

ศีลคือ การรักษากาย วาจาให้เรียบร้อย นั่นหมายถึงว่าศีลมีไว้ควบคุมพฤติกรรมทางกาย ทางวาจาเป็นสำคัญ ศีลเป็นตัวปิดกั้นการแสดงออกของ " วีติกกมกิเลส " แต่เนื่องจากคนเรายังมีกิเลสอยู่ เขาถูกแรงกระตุ้นทางกิเลสให้ทำโน่นทำนี่อยู่เสมอ คนมีศีลจะรู้จักควบคุมแรงกระตุ้นให้อยู่ในกรอบศีลธรรม เมื่อคนเรายังมีตัณหาก็ต้องใช้ตัณหาสร้างประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น เมื่อเรายังกำจัดตัณหาไม่ได้ก็ต้องรู้จักผันพลังของมันไปสร้างประโยชน์..

ต ัณหาเปรียบได้ดังกับแม่น้ำ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า นตฺถิ ตณฺหาสมานที ไม่มีแม่น้ำใดเทียบได้เท่ากับตัณหา เพื่อป้องกันแม่น้ำล้นตลิ่งท่วมบ้านเมือง คนได้สร้างคันน้ำกั้นริมตลิ่ง ฉันใด เพื่อป้องกันกระแสตัณหาล้นบ่าออกมาสร้างความเดือดร้อนแก่สังคม ศาสนาได้บัญญติศีลสำหรับควบคุมพฤติกรรมทางกาย และทางวาจา ฉันนั้น..

ต ัณหาที่ไม่ได้รับการควบคุมอาจพาเราไปเข้าคุกเข้าตะราง แต่พลังตัณหาที่ควบคุมดีแล้วอาจถูกผันไปใช้ประโยชน์มหาศาล เช่นเดียวกับการสร้างเขื่อนเพื่อใช้พลังน้ำไปสร้างกระแสไฟฟ้า เช่นเด็กบางคน มีภวตัณหาคืออยากให้เพื่อนยกย่องว่าเรียนเก่ง จึงตั้งใจเรียนจนเกิดฉันทะคือการรักเรียน กวีบางคนแต่งกวีได้ไพเราะเพราะความอยากดัง ตัณหาเป็นเหตุให้คนอยากบรรลุนิพพานก็ได้ เช่นพระนันทะตั้งใจปฎิบัติธรรมเพราะพระพุทธเจ้าประกันว่า จะให้ท่านได้นางฟ้าถ้าสามารถบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เมื่อพระนันทะสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วท่านก็ไม่ต้องการนางฟ้าอีกต่อไป นี้เรียกว่าอาศัยตัณหาละตัณหา..

พลังกระตุ้นแห่งสัญชาตญาณที่ควบคุมดีแล้วด้วยศีลย่อมจะทำให้คนมุมานะจนประสบความสำเร็จในชีวิตดังบทกลอนสุนทรภู่ที่ว่า..

จับให้มั่นคั้นหมายให้วายวอด
ช่วยให้รอดรักให้ชิดพิสมัย
ตัดให้ขาดปรารถนาสิ่งใด
เพียรจงได้ดังประสงค์ที่ตรงดี

ส ุนทรภู่สรุปว่า "ดังประสงค์ที่ตรงดี" ซึ่งหมายถึงว่าคนเราต้องควบคุมความต้องการให้อยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีงาม หลีกเลี่ยงการทำไปตามความต้องการแห่งสัญชาตญาณฝ่ายต่ำ พระพุทธเจ้าสรรเสริญความพยายามที่ดีงามว่า..

"วายเมเถว ปุริโส อตฺถสฺส นปฺปทา เกิดเป็นคนต้องพยายามต่อไปจนกว่าจะได้สิ่งปรารถนา"

บ างคนแม้จะรู้ว่าศีลเป็นกรอบแห่งพฤติกรรมที่ดีงาม แต่ก็ไม่สามารถควบคุมสัญชาตญาณให้อยู่ในกรอบนั้นได้ เขาตามใจกิเลสตัณหาจนขาดวินัยในตนเอง คนเราต่อให้มีความสามารถขนาดไหนก็ยากจะประสบความสำเร็จได้ถ้าขาดศีลหรือวินั ยในตนเอง เหตุที่เขาไม่อาจใช้ศีลควบคุมสัญชาตญาณเนื่องจากการขาดสติ..

ว ีติกกมกิเลส คือกิเลสที่เป็นเหตุให้ล่วงละเมิดออกไปทางไตรทวาร สำเร็จเป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ หรือว่า ราคะ โทสะ โมหะ อย่างแรง ที่เป็นตัวอกุศลมูล คือเป็นรากเหง้าของอกุศลทั้งหลาย

คัดลอกจากหนังสือ หว่านรักให้เต็มโลก -พระเทพโสภณ(ประยูร ธมฺมจตฺโต)
ขออนุญาตเผยแพร่เป็นธรรมทาน


ด้วยจิตคารวะ



ที่มา http://weblog.manager.co.th/publichome/myprecious/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น