...+

วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

การให้ทานมีผลลาภ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ทักขิณา ประกอบด้วยองค์ 6 คือ ทายกมีองค์ 3 ปฏิคาหกมีองค์ 3

ทายก (ผู้ให้) นั้น คือ ทายกที่ดีใจ1 เมื่อให้ทานอยู่ก็ทำใจให้เลื่อมใส1 ครั้นให้ทานแล้วก็ดีใจ1 (รวมเป็นองค์ 3)

ประเภทผู้ให้ทาน (ทายก) 3 ประเภท ได้แก่
ทานทาโส (ผู้ให้ทาสแห่งทาน) ให้ของที่เลวกว่าที่ตนบริโภคใช้สอย ประดุจให้แก่ทาส
ทานสหาโย (ผู้เป็นสหายแห่งทาน) ให้ของเสมอกับที่ตนบริโภคใช้สอย ประดุจให้แก่มิตรสหายอันเป็นที่รัก
ทานปติ (ผู้เป็นนายแห่งทาน) ให้ของดีและประณีตกว่าที่ตนบริโภคใช้สอย ประดุจให้แก่ผู้อันเป็นที่เคารพนับถือบูชา

ปฏิคาหก (ผู้รับทาน) นั้น คือ เป็นผู้ปราศจากราคะหรือปฏิบัติเพื่อกำจัดซึ่งราคะ1 เป็นผู้ปราศจากโทสะหรือปฏิบัติเพื่อกำจัดซึ่งโทสะ1 เป็นผู้ปราศจากโมหะหรือปฏิบัติเพื่อกำจัดซึ่งโมหะ1 (รวมเป็นองค์ 3)

ทักขิณา มีองค์ 6 นี้ ยากที่จะนับผลได้ว่า แม่น้ำคือบุญ แม่น้ำคือกุศลผลบุญกุศลอันนี้จะนำสุขมาให้เช่นไร จะให้ผลบุญอันดีงามเท่าไร จะมีสุขเป็นผลเท่าไร จะทำให้เกิดในสวรรค์กี่ชาติ จะทำให้ได้ประโยชน์สุขอันเป็นที่ต้องการ อันเป็นที่รักใคร่พอใจเท่าไร ลงท้ายก็ถึงซึ่งการนับว่าเป็นกองบุญใหญ่นับไม่ได้ประมาณไม่ได้ เปรียบกับน้ำในมหาสมุทรซึ่งนับไม่ได้ประมาณไม่ได้ว่ามีกี่ทะนาน

ฉะนั้น ครั้นตรัสดังนี้แล้วจึงได้ตรัสเป็นพระคาถาว่า "ทายก"เป็นผู้ดีใจต่อการให้ เมื่อให้เลื่อมใส ให้แล้วดีใจ อันนี้เป็นความสมบูรณ์แห่งทาน "ปฏิคาหก" เป็นผู้ปราศจากราคะ โมหะ โทสะ เป็นนาบุญอันสมบูรณ์ บุคคลชำระล้างซึ่งมือเท้าของปฏิคาหกแล้วให้ทานด้วยมือของตน การให้ทานนี้ย่อมมีผลมากแก่ตนและผู้อื่น บุคคลผู้มีความคิดดี ผู้มีศรัทธา ผู้มีใจพ้นจากความตระหนี่ ครั้นให้ทานอย่างนี้แล้วก็เข้าถึงซึ่งโลกอันไม่มีความทุกข์อันมีแต่ความสุข คือ สวรรค์ ... ดังนี้พราหมณ์ ชื่อว่า "เวลามะ" ได้ให้อาหารมีของคาว หวาน เป็นต้น หาประมาณมิได้อยู่ตลอด 7 ปี 7 เดือน แก่โลกิยมหาชน.. ในวันสุดท้ายได้ให้ถาดทองคำ ถาดเงิน ถาดสัมฤทธิ์ 8 หมื่น 4 พันใบอันเต็มด้วยทองคำ เงิน และสัมฤทธิ์.. กับให้ช้าง รถ หญิงสาว บัลลังค์ อย่างละ 8 หมื่น 4 พัน ซึ่งล้วนด้วยเครื่องประดับทั้งปวง.. ให้แม่โค นม ผ้านุ่ง ผ้าห่ม อย่างละ 8 หมื่น 4 พัน ฯลฯ.. ทานของ"เวลามะพราหมณ์" นั้นชื่อว่า 'มหาทาน' แต่ว่าการให้ทานข้าวแก่พระโสดาบันเพียงองค์เดียวยังมีผลมากกว่าทานของ "เวลามะพราหมณ์" นั้นอีก

ผู้ให้ทานย่อมได้รับอานิสงค์ 5 ประการ
1. เป็นที่รักที่ชอบใจของมหาชน
2. มหาชนย่อมพอใจคบหาเขา
3. เป็นผู้แกล้วกล้าไม่เก้อเขินในที่ประชุมชน
4. ชื่อเสียงอันดีงามย่อมฟุ้งขจรไกล
5. เป็นผู้เข้าสู่สุขคติโลกสวรรค์เมื่อสิ้นชีพลง (เวลามสูตร/ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย)

ทานบารมี (ข้อเปรียบเทียบในการให้ทาน)
-:- การให้ทานกับมนุษย์ชั้นเลวไม่มีคุณธรรมเพียงคนเดียว
ยังมีผลมากกว่าให้ทานสัตว์เดียรฉาน 100 ตัว

-:- การให้ทานกับมนุษย์ที่รักษาศีลห้า หนึ่งข้อ เพียงคนเดียว
ยังมีผลมากกว่าให้ทานมนุษย์ชั้นเลวไม่มีคุณธรรม 100 คน

-:- การให้ทานกับมนุษย์ที่รักษาศีลห้า สองข้อ เพียงคนเดียว
ยังมีผลมากกว่าให้ทานมนุษย์มีศีลห้า 1 ข้อ 100 คน

-:- การให้ทานกับมนุษย์ที่รักษาศีลห้า สามข้อ เพียงคนเดียว
ยังมีผลมากกว่าให้ทานมนุษย์มีศีลห้า 2 ข้อ 100 คน

-:- การให้ทานกับมนุษย์ที่รักษาศีลห้า สี่ข้อ เพียงคนเดียว
ยังมีผลมากกว่าให้ทานมนุษย์มีศีลห้า 3 ข้อ 100 คน

-:- การให้ทานกับมนุษย์ที่รักษาศีลห้า ห้าข้อ เพียงคนเดียว
ยังมีผลมากกว่าให้ทานมนุษย์มีศีลห้า 4 ข้อ 100 คน

-:- การให้ทานกับมนุษย์ที่รักษาศีลแปด เพียงคนเดียว
ยังมีผลมากกว่าให้ทานมนุษย์มีศีลห้า 5 ข้อ 100 คน

-:- การให้ทานกับสามเณรในพระพุทธศาสนาที่รักษาศีล 10 เพียงคนเดียว
ยังมีผลมากกว่าให้ทานมนุษย์ที่รักษาศีล 8 ถึง 100 คน

-:- การให้ทานกับพระสมมุติสงฆ์ ที่รักษาศีล 227 เพียงคนเดียว
ยังมีผลมากกว่าให้ทานสามเณรในพระพุทธศาสนาที่รักษาศีล 10 ถึง 100 คน

-:- การให้ทานกับพระโสดาบันเพียงองค์เดียว
ยังมีผลมากกว่าให้ทานพระสมมุติสงฆ์ผู้มีศีล 227 ข้อ ถึง 100 คน

-:- การให้ทานกับพระสกิทาคามีเพียงองค์เดียว
ยังมีผลมากกว่าให้ทานข้าวแก่พระโสดาบัน 100 องค์

-:- การให้ทานแก่พระอนาคามีเพียงองค์เดียว
ยังมีผลมากกว่าให้ทานแก่พระสกิทาคามี 100 องค์

-:- การถวายทานกับพระอรหันต์เพียงองค์เดียว
ยังมีผลมากกว่าให้ทานแก่พระอนาคามี 100 องค์

-:- การถวายทานกับพระปัจเจกพระพุทธเจ้าเพียงองค์เดียว
ยังมีผลมากกว่าถวายทานแก่พระอรหันต์ 100 องค์

-:- การถวายทานแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว ยังมีผลมากกว่าถวายทานแก่พระปัจเจกพระพุทธเจ้า 100 องค์

-:- การถวายทานแก่สงฆ์มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน (ตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป) หรือ การถวายสังฆทาน เพียง 1 ครั้ง
ยังมีผลมากกว่าถวายทานแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า 100 พระองค์

-:- การถวายวิหารทาน เช่นร่วมสร้างโบสถ์ วิหาร อันเป็นสาธารณประโยชน์เพียง 1 ครั้ง
ยังมีผลมากกว่าถวายทานแก่สงฆ์มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน (ตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป) หรือ การถวายสังฆทาน 100 ครั้ง

-:- การให้ธรรมทาน เช่นการเทศน์ การสอนธรรมะแก่ผู้ที่ไม่รู้ให้ได้รู้ ที่รู้อยู่แล้วให้รู้ยิ่งๆขึ้น เพียง 1 ครั้ง
ยังมีผลมากกว่าถวายวิหารทาน 100 ครั้ง

-:- การให้อภัยทานคือ การไม่ผูกโกรธ ไม่อาฆาตจองเวร ไม่พยาบาทคิดร้ายแม้แต่ศัตรู แม้เพียง 1 ครั้ง
ยังมีผลมากกว่าการให้ธรรมทาน 100 ครั้ง

-:- การให้อภัยทานแม้จะมากเพียงใด แม้จะชนะการให้ทานอื่นๆทั้งมวล ผลบุญนั้นก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า ‘ฝ่ายศีล’ เพราะเป็นการทำบุญบารมีคนละขั้นต่างกัน

ที่มา : พระไตรปิฎก เล่มที่ 35 หน้า 288-289 และ หนังสือวิธีสร้างบุญบารมี โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ 19 วัดบวรนิเวศวิหาร

ขอขอบพระคุณ ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น