...+

วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2550

เมื่อวิทยานิพนธ์ของนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาโท เอก ไม่มีเลข ISBN อีกต่อไป

เลข ISBN คือ เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ เป็นสิ่งที่เป็นเหมือนกับการขึ้นทะเบียนของหนังสือที่อยู่ในสาระบบ ในการค้นหาข้อมูล ค้นหาหนังสือ นอกจากค้นหาจากชื่อเรื่อง ชื่อผู้แต่งแล้ว ยังสามารถค้นหาจากเลข ISBN ได้ด้วย

ผู้ผลิตหนังสือ สามารถขอเลข ISBN จากสำนักหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งเป็นศูนย์กลางกำหนดเลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ (ISBN) ของประเทศไทย เมื่อได้เลข ISBN แล้ว จะต้องจัดส่งหนังสือที่ขอนั้น ให้แก่หอสมุดแห่งชาติเก็บไว้ด้วย



เวลาที่ไปหอสมุดแห่งชาติ จะมีห้องวิทยานิพนธ์ ซึ่งมีเอกสารผลงานวิจัยมากมาย จากมหาวิทยาลัยต่างๆ

นับตั้งแต่ 1 มกราคม 2550 เป็นต้นไป สำนักหอสมุดแห่งชาติ ได้ยกเลิกการกำหนดเลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ (ISBN) สำหรับวิทยานิพนธ์ เพราะสิ่งพิมพ์มีจำนวนเพิ่มขึ้น จึงมีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดหลายประการ คาดว่า คงจะกำหนดเลข ISBN ไม่ทันจริงๆ





เลยขอประกาศยกเลิก เนื่องจาก
1. หนังสือที่กำหนดเลข ISBN จะต้องผ่านการพิมพ์จากโรงพิมพ์ที่มีสถานที่ตั้งแน่นอน และสามารถตรวจสอบได้

..... อือม ถ้าเป็นวิทยานิพนธ์ ก็นั่งพิมพ์ที่บ้าน ที่ร้านที่มี printer แล้วก็เข้าเล่ม จะว่าไปแล้ว ก็ไม่ถือเป็นโรงพิมพ์จริงๆแหละ....

2. วิทยานิพนธ์ จัดเป็นเอกสารประเภทรายงานซึ่งมีการพิมพ์แบบสำเนา โดยไม่ผ่านการพิมพ์จากโรงพิมพ์ จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์การกำหนดเลข ISBN

3. เลข ISBN มีประโยชน์สำหรับหนังสือที่มีการจัดพิมพ์เป็นจำนวนมากเพื่อใช้ควบคุมระบบสินค้าคงคลังของสำนักพิมพ์ ร้านค้า หรือตัวแทนจำหน่ายหนังสือ

ถึงแม้ว่า นับจากนี้ วิทยานิพนธ์จะไม่มีเลข ISBN ที่หน้าปก อาจจะรู้สึกว่า ดูขลังน้อยลงไปนิด แต่ทางหอสมุดแห่งชาติ ได้แจ้งมาพร้อมกันว่า “หากมหาวิทยาลัยมีความประสงค์จะเผยแพร่วิทยานิพนธ์เพื่อการศึกษาค้นคว้า ขอความอนุเคราะห์จัดส่งวิทยานิพนธ์ตามปกติต่อไป"




ตอนที่หลายคน ทำวิทยานิพนธ์กว่าจะเสร็จ ต้องมีค่าใช้จ่ายมากมาย หลายคนต้องเข้าเล่ม และพิมพ์วิทยานิพนธ์ 5 เล่ม ( 5 copy) เล่มหนึ่งก็เกือบ 100 หน้า ถ้ามีภาพสี ก็ต้องคิดค่า print สี ตามราคาที่ตั้งไว้ เฉพาะค่าเอกสารที่พิมพ์เป็นรูปเล่มออกมา ก็จ่ายเงินกันหลายพันบาทเช่นกัน

บางมหาวิทยาลัย เช่น ม.มหาสารคาม จากเดิม ให้จัดทำวิทยานิพนธ์คนละ 9 เล่ม ปีปัจจุบัน ให้จัดทำเพียง 2 เล่ม และจัดทำเป็นไฟล์ อิเล็คทรอนิคส์ในแผ่น CD เพราะแต่ละเทอมมีวิทยานิพนธ์ออกมามากมาย จนห้องสมุดไม่มีที่จะเก็บผลงานเหล่านี้ซะแล้ว ยิ่งแต่ละปี ก็รับนิสิตนักศึกษาเพิ่ม รวมๆแล้ว เพิ่มปีละเป็นพันๆคน

ดูท่าทางแล้ว หอสมุดแห่งชาติ คงจะได้รับวิทยานิพนธ์จากสถาบันต่างๆลดน้อยลง
เป็นความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยละครับ




ต่อไปอาจจะทำเป็นไฟล์อี-บุคส์ ไฟล์ ดิจิตอล ให้ดาวน์โหลดได้จากทุกที่ทั่วโลกก็ย่อมได้



อ้างอิงจากหนังสือที่ วธ.๐๔๐๘/๔๒๓๙ สำนักหอสมุดแห่งชาติ ถนนสามเสน กทม. ๑๐๓๐๐ ลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๙

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น