...+

วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2550

การอนุโมทนาบุญ..

ปัตตานุโมทนา – ยินดีด้วยในบุญที่ผู้อื่นถึงแล้ว
ปัตตานุโมทนา ยินดีด้วยในบุญที่ผู้อื่นถึงแล้วก็คือคนอื่นเขามีบุญอันถึงแล้ว คือได้ทำบุญแล้ว ตนได้ทราบข่าวเข้าก็ยินดีด้วย... คำว่ายินดีด้วยไม่จำเป็นต้องแสดงความยินดีด้วยการเปล่งวาจาก็ได้ นึกอยู่ในใจก็ได้ ขึ้นอยู่กับกาลเทศะ ความยินดีด้วยคือความรู้สึกบันเทิงใจ ดุจทำบุญนั้นด้วยตนเองทีเดียว ศรัทธาความเลื่อมใสก็เกิดเท่ากับคนทำ เรียกว่า ปัตตานุโมทนา

สมมุติว่ามีคนแสดงธรรมอยู่ พอเราได้ยินได้ฟังเราก็อนุโมทนาคนที่แสดงธรรมทุกครั้ง ผู้แสดงจะเป็นใครก็ตาม แสดงธรรมให้ใครฟังก็ตามในเวลานั้น การที่เรานึกอนุโมทนาคนแสดงธรรม ว่าเขาช่างใจบุญจริง อุตส่าห์เผื่อแผ่ความรู้ให้คนอื่น สาธุ ดีจริงหนอ ขอให้เจริญๆเถิด อย่างนี้ ยังไม่แน่ว่าเป็นปัตตานุโมทนา พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าเมื่อคนกล่าวธรรมผิด แสดงธรรมผิด ยังประโยชน์คนฟังให้เสียหาย บุคคลใดบุคคลหนึ่งอนุโมทนาในคำที่เขากล่าว ในคำที่เขาแสดง ผู้นั้นชื่อว่าเป็นพาล เพราะฉะนั้น ถ้าเกรงว่าจะเป็นพาล ก็อย่าไปเที่ยวอนุโมทนาใครง่ายๆ ต้องฟังและพิจารณาให้ดีว่าเขาพูดอะไร สมควรอนุโมทนาแล้วจึงค่อยอนุโมทนา จึงจะมีโอกาสเป็นบุญข้อนี้ได้

การอนุโมทนาเท่าที่ทำกัน จิตใจไม่ได้อนุโมทนาจริง เพียงแต่เห็นว่าคนอื่นทำบุญเป็นเรื่องต้องอนุโมทนา ก็พูดอนุโมทนาไปอย่างนั้นเอง จิตใจอาจไม่ได้เลื่อมใสในบุญที่คนเขาทำเลยก็ได้ เอาแน่ไม่ได้บุญทุกอย่างเป็นของควรอนุโมทนา...

การอนุโมทนาบุญนี้จัดเข้าในทาน... บุญที่ผู้อื่นถึงแล้วโดยมากท่านหมายถึงทาน คือเห็นคนอื่นเขาทำทานเราก็ยินดีด้วย ก็เหมือนกับว่าในเวลานั้นเรามีส่วนได้ทำด้วยจึงสงเคราะห์ไปในทาน แต่พึงทราบว่าแม้บุญที่เขาทำนั้นไม่ใช่ทาน การอนุโมทนาของเราก็ย่อมสงเคราะห์เข้าในบุญข้อทานนี้นั่นแหละ เพราะเป็นการช่วยให้บุญข้อทานของเรานี้แผ่ไพศาล...

บทความโดย อาจารย์ไชยวัฒน์ กปิลกาญจน์

ขอขอบพระคุณ ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น