...+

วันพุธที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2550

บุญ …

ผู้ที่เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม ว่ากรรมดีมีผลตอบสนองในด้านดี คือ ความสุขความสวัสดีแก่ผู้กระทำ... กรรมชั่วมีผลตอบสนองในด้านที่ไม่ดีแก่ผู้กระทำ คือ ความทุกข์ความเดือดร้อน... ย่อมเป็นผู้รู้จักหลีกเลี่ยงการทำกรรมชั่ว ขวนขวายทำกรรมดี กรรมดีก็คือบุญ นั่นเอง เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีศรัทธา พร้อมทั้งมีความรู้ถูกต้องในเรื่องกรรมดีกรรมชั่ว ย่อมรู้จักทำสิ่งที่เป็นบุญ

“บุญ” เป็นธรรมชาติฝ่ายตรงข้ามกับ “บาป” มิใช่เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับ “กรรม”

ผู้ที่ไม่ได้เรียน ไม่ได้สดับฟังเรื่องบุญ ก็จะเข้าใจเกี่ยวกับคำว่าบุญไขว้เขว คือเข้าใจว่า ถ้าเป็นการทำไม่ดีแล้วก็เรียกว่า “กรรม” ถ้าเป็นการทำดีจึงจะเรียกว่า “บุญ” จึงมักพูดคู่กันไปว่า “แล้วแต่บุญแต่กรรม”...

อันที่จริง ถ้าการกระทำนั้นดีเป็นกรรมดี ก็เรียกว่า “กุศลกรรม” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “บุญ” ให้ผลเป็นสุข ถ้าการกระทำนั้นไม่ดีเป็นกรรมชั่ว ก็เรียกว่า “อกุศลกรรม” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “บาป” ให้ผลเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น บุญก็คือกรรมดีนั่นเอง ส่วนบาปคือกรรมชั่ว...

ความเข้าใจผิดในเรื่องเกี่ยวกับบุญ ยังมีการเข้าใจผิดไปอีกประการหนึ่ง ว่าถ้าหากได้ให้แก่คนที่เคารพน่าบูชาเช่น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ หรือพระภิกษุสงฆ์ จึงจะเรียกว่า “บุญ”… แต่ถ้าหากเป็นการให้แก่คนทั่วไปที่ไม่ใช่เป็นคนที่น่าเคารพน่าบูชาหรือน่าสรรเสริญ เช่นให้แก่คนขอทาน เป็นต้น ก็จะเรียกว่า “ทาน” แสดงว่าคนมักเข้าใจว่าทานเป็นของต่ำกว่าบุญ...

แท้ที่จริงแล้ว ... ทานเป็นบุญอย่างหนึ่งแห่งบุญ 10 อย่าง

ความหมาย ของคำว่า “บุญ”

คำว่า “บุญ” มาจากคำศัพท์ “ปุญญ” มาจาก ปุ ธาตุ ที่แปลว่า “ชำระ”... ชำระในที่นี้ ก็คือทำให้หมดจด คือ ทำสันดานของตนหมดจดจากมลทินเครื่องเศร้าหมอง อันได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ มลทิน ก็คือ สนิม เครื่องเศร้าหมอง หรือเครื่องแปดเปื้อน... สันดานในที่นี้ คือ จิตสันดาน ความสืบต่อของจิตของแต่ละคน ผู้ใดเจริญบุญทั้งหลายมีทานเป็นต้น ก็จะชำระสันดานของบุคคลนั้นให้หมดจด ส่วนจะหมดจดจากอะไร ก็ขึ้นอยู่กับประเภทของบุญ ไม่ใช่บุญอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะทำให้จิตสันดานหมดจดจากราคะ โทสะ โมหะ ได้ไปเสียทั้งนั้น ไม่ใช่อย่างนั้น..

“บุญ” มาจาก ปุร ธาตุ ที่มีอรรถว่า “เต็ม” ก็ได้.. คือว่า ชื่อว่า “บุญ” โดยความหมายว่า “เป็นของที่ควรทำให้เต็ม” ก็ได้คือ ถ้ายังไม่มีก็ทำให้มีขึ้นมา มีแล้วนิดหน่อยยังไม่เต็ม ก็ต้องทำให้เต็มให้บริบูรณ์ เรียกว่า “บุญ” ที่ว่ามานี้เป็นเครื่องวัดประการแรกว่า การกระทำของเรานี้ควรจะเรียกว่าบุญได้หรือไม่

ความหมายทั้งสองนี้ไม่ใช่ให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นบุญแล้วก็ย่อมได้ความหมายทั้งสองอย่าง เป็นของที่ควรทำให้เต็มให้บริบูรณ์ด้วย เป็นเครื่องชำระจิตสันดานให้หมดจดด้วย...

หลักพิจารณาว่าเป็นบุญหรือไม่ เราจะทำความดีอะไร จะเป็นทานก็ตาม เป็นศีลก็ตาม การกระทำนั้นมีลักษณะเป็นการชำระสันดานให้หมดจดหรือไม่.. ถ้าใช่ก็ชื่อว่าเป็นบุญ ถ้าไม่ใช่ก็ไม่ชื่อว่าบุญ ถ้าหากว่าประกอบด้วยความต้องการแล้วจึงให้ทาน ประสงค์ผลเฉพาะหน้าที่จะได้ในเวลานั้น เช่น ชื่อเสียง เกียรติยศ คำสรรเสริญ เป็นต้น ก็ย่อมไม่เกิดการชำระจิตสันดานให้หมดจด...

ความอยากได้ เป็นราคะหรือโลภะอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น แม้ทำแก่พระสงฆ์ หรือบริจาคให้แก่วัด ถ้าทำด้วยความต้องการในสิ่งที่แลกเปลี่ยนแล้ว ก็มองไม่เห็นว่าจะเป็นบุญได้อย่างไร จิตใจเสียสละไม่เกิดขึ้นเลยตั้งแต่ต้น พอมีเครื่องล่อใจจึงได้ทำ.. เช่นว่าทางวัดจะเรี่ยไรเอาเงินไปทำอะไรก็ตาม ต่อให้เป็นวัตถุปูชนียสถานทางพระพุทธศาสนา แต่มีเครื่องล่อใจ เช่นว่า ถ้าทำด้วยจำนวนเงินเท่านี้ก็จะได้เหรียญที่มีลักษณะอย่างนี้ มีเนื้อผสมอย่างนี้ แต่ถ้าหากทำบุญด้วยเงินมากกว่านั้นก็จะได้ของตอบแทนหรืออะไรก็แล้วแต่ที่ดีกว่า อย่างนี้เป็นต้น.. พร้อมทั้งโฆษณาสรรพคุณในสิ่งที่จะให้เป็นเครื่องตอบแทน ทำให้เกิดอยากได้ พออยากได้แล้วก็บริจาคเงิน นั่นเป็นบุญที่ตรงไหน

บางคนบอกว่า ทำเพื่อภพหน้าชาติหน้า เพราะเป็นคนเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม อันนี้ต้องทราบว่าทำอะไรแล้วไปสู่ภพหน้าได้ สำคัญอยู่ที่ตรงนี้... แต่นี่โลภะออกหน้าเป็นสำคัญ อย่างไรๆ ก็ไม่ใช่บุญเพราะว่าถ้าไม่ได้(สิ่งล่อ)แล้วก็จะไม่ทำ ถ้าได้จึงจะทำ...

บางทีก่อนหน้านั้นอาจจะหมดจดอยู่แล้วก็ได้ แต่พอได้ยินคำโฆษณาในคราวที่เขาเรี่ยไรต้องการเงิน ทำให้เกิดโลภขึ้นมาแล้วจึงทำ ด้วยความอยากได้สิ่งตอบแทน ก็กลายเป็นว่ามีมลทินขึ้นมา เห็นชัดๆว่าเกิดราคะ เกิดความต้องการ เกิดความปรารถนาขึ้น ซึ่งก็ทราบกันอยู่ว่าเป็นลักษณะของอกุศลประเภทหนึ่ง ที่ท่านเรียกว่า“ตัณหา” เวลานั้นจิตใจไม่สะอาดหมดจดเลย แสดงว่าไม่มีบุญอะไรเกิดขึ้นทั้งนั้น สำคัญเอาเองว่าเป็นบุญ นี่เป็นเครื่องยืนยันว่าไม่รู้จักบุญ.. บุญอยู่ที่ตรงไหนก็ไม่ทราบ

บทความโดย อาจารย์ไชยวัฒน์ กปิลกาญจน์

ขอขอบพระคุณ ...


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น