...+

วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2550

ม็อบพระที่เรียกร้องให้บัญญัติในรัฐธรรมนูญ.... ความเคลื่อนไหวที่น่ากลัว

ข่าวม็อบพระ เรียกร้องให้บัญญัติว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ”
เรื่องนี้มีหลายคนส่ายหน้า มองว่า พระไม่น่าจะออกมาประท้วง น่าจะปล่อยวาง อยู่ในศีลและปฏิบัติธรรมมากกว่า

คนรุ่นใหม่ก่อนวัยเบญจเพส บอกว่า นี่ไม่เหมาะสมเลย
อาจเป็นเพราะพวกเขาไม่เห็นความสำคัญ ไม่เคยบวชเรียน ไม่ค่อยได้สัมผัสกับศาสนามากนัก นอกจากการสวดมนต์ไหว้พระที่ทางโรงเรียนพาทำ

ที่ผ่านมาการออกกฎหมายนั้น มุ่งที่ผลประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหลัก มีกฎหมายที่ขัดศีลธรรมก็มีมาก แต่ได้รับการอ้างว่า เป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งถูกต้องและชอบธรรมแล้ว

บางคนหยิบยกหลักธรรมมากล่าวอ้าง ทั้งๆที่ไม่เข้าใจถึงแก่นแท้

ในบางมุมมอง การเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญในประเด็นนึ้ จะส่งผลต่อการออกกฎหมายอื่นๆด้วย ซึ่งจะต้องไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้

หากจะออกกฎหมายที่ขัดกับศีลธรรม ย่อมมีการทักท้วง ชะลอ ตรวจสอบให้รอบคอบยิ่งขึ้น

รัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ที่ร่างไว้อย่างดี เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป มีช่องโหว่เกิดขึ้น ยังมีการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมตามโอกาสและเงื่อนไขของเวลา

การบัญญัติเรื่องพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ หากไม่เหมาะสมในวันข้างหน้า ก็สามารถปรับเข้าให้เหมาะสมได้ต่อไป

.... สถานการณ์ทางการเมืองมีการพลิกผันอยู่ตลอดเวลา เรื่องการชุมนุมของพระในเรื่องนี้ และฝ่ายร่างรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มว่าอาจจะไม่บัญญัติข้อความนี้ไว้ ก็มีกลุ่มการเมืองบางกลุ่มไปปล่อยข่าวว่า ผู้นำเหล่าทัพซึ่งนับถือศาสนาอื่น กำลังจะครอบงำศาสนาพุทธบ้างล่ะ และเหตุผลอื่นๆบ้างล่ะ

ไปๆมาๆ ประเด็นนี้ ถูกนำไปขยายผลให้เข้าทางและเกิดผลประโยชน์กับกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม ในการไม่รับรัฐธรรมนูญที่จะมีการลงประชามติเสียอีก


เมืองไทยคงจะยุ่ง วุ่นวายกันไม่จบไม่สิ้นเสียที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น