...+

วันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2549

รู้แก้ปัญหา

จาก Emotional Qutient :
จากความฉลาดทางอารมณ์สู่สติและปัญญา
โดย นพ. เทอดศักดิ์ เดชคง

ปัญหาและอุปสรรคเป็นเรื่องปกติในชีวิตมนุษย์ ไม่เว้นแม้แต่เด็กเล็กๆหรือผู้สูงอายุ แน่นอน ปัญหานำมาซึ่งความทุกข์ แต่ถ้าจะขจัดทุกข์ด้วยการหนีปัญหาไปเสีย ย่อมไม่เกิดการเรียนรู้ หรือหลายครั้ง ปัญหานั้นก็ไม่ได้หมดตามไปด้วย ตรงกันข้ามหากรู้จักแก้ไขปัญหาแล้ว ก็จะช่วยให้ชีวิตประสบความสำเร็จได้

ปัญหาของปัญหา วัยรุ่นหรือเด็กก่อนวัยรุ่น พบว่ามีปัญหาเรื่องยาเสพติดสูงมาก ไม่ว่าจะเป็น ยาบ้า กาว ทินเนอร์ เฮโรอีน ยานอนหลับ ยาอี ยาเค ฯลฯ บางรายใช้เพราะต้องการทดลอง แต่บางรายก็ใช้เพราะคิดว่าเป็นทางแก้ปัญหา แต่แท้จริงแค่เป็นวิธีหลบเลี่ยงปัญหาชั่วคราว ใช้ยากล่อมใจตนเองให้เกิดความสุขที่ไม่จีรัง แถมยังสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาทับถมทวีคูณ

วัยรุ่นมีพื้นฐานทางสรีระที่ผันผวนง่ายอยู่แล้ว เมื่อประสบกับปัญหาต่างๆ เช่น การเรียน ครอบครัว เพศตรงข้าม ฯลฯ ก็อาจทำให้สภาพจิตใจเสียสมดุลไปได้ การฝึกสอนให้เขาสามารถรับมือกับปัญหาต่างๆ จีงต้องเริ่มตั้งแต่ในวัยเด็ก การให้รู้จักรอคอย มองโลกในแง่ดีก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นความหวังในชีวิต คนที่แม้จะสอบได้คะแนนไม่ดี และอาจจบช้ากว่าที่กำหนด หากรู้จักมองในแง่ดีบ้างว่า ก็ยังสามารถจบได้ รู้จักรอคอยให้ช่วงเวลาที่ไม่สบายนั้นผ่านพ้นไป

การรู้จักมองโลกในแง่ดี เห็นคุณค่าในตนเอง ดำเนินชีวิตอย่างมีความหวังและกำลังใจจึงเป็นกุญแจสำคัญ

วิธีการแก้ปัญหาเป็นอย่างไร
ตามหลักการแล้วก็คือ วิธีการทางวิทยาศาสตร์นั่นเอง ประกอบด้วยการรวบรวมข้อมูล ตั้งสมมติฐาน กำหนดเป้าหมาย แล้วจึงลงมือปฏิบัติ ขั้นตอนเหล่านี้คล้ายคลึงกับอริยสัจ 4 หรือความจริง 4 ประการ อันได้แก่

  • ทุกข์ - (ความขัดแย้ง การทนอยู่ไม่ได้)
  • สมุทัย - (เหตุแห่งความทุกข์)
  • นิโรธ - (หนทางการดับทุกข์)
  • มรรค - (วิธีการดับทุกข์)
เมื่อมีความขัดแย้งหรือทุกข์เกิดขึ้น ขั้นแรกก็ต้องยอมรับและเข้าใจอย่างกระจ่างว่านี่คือปัญหาที่ต้องแก้ ถ้ายอมรับตรงนี้ไม่ได้ คงจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ

รวบรวมข้อมูล คือ การหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้นๆ มาวิเคราะห์หาสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหา

ตั้งสมมติฐาน คือ การคาดคิดคาดเดา โดยมีฐานข้อมูลว่า สิ่งนี้น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญ สิ่งนั้นน่าจะเป็นสาเหตุที่เสริมเข้ามา ส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องก็ตัดทิ้งไปได้

กำหนดเป้าหมาย - ว่าจะแก้ไขกันแค่ไหน เอาแค่พอผ่านไปได้ หรือจะแก้อย่างถอนรากถอนโคน อันนี้จะทำให้ง่ายต่อการวางแผนแก้ไขปัญหาด้วย

ลงมือปฏิบัติ - ตามแนวทางที่คิดว่าเหมาะสม

หลังจากลงมือปฏิบัติแล้ว ก็ควรได้ประเมินผลดูด้วยว่า ได้ผลไหม ถ้าไม่ดีก็ควรปรับปรุงด้วย

นักศึกษามหาวิทยาลัยคนหนึ่งมาปรึกษาเรื่องไม่ค่อยมีเพือน เลยเกิดความอาย ขาดความมั่นใจ ครั้นพอให้ตัวเขาเองคิดดูว่าเป็นเพราะอะไร เขาเข้าใจว่าอาจเป็นจากที่เขาไม่รู้วิธีเข้าสังคมก็ได้

หนุ่มรายนี้ไม่ค่อยเริ่มต้นความสัมพันธ์ก่อน แต่จะรอให้เพื่อนเป็นฝ่ายเข้าหา เช่น เดินสวนกัน เขาก็จะคอยดูเพื่อนว่าจะยิ้มหรือทักทายให้เขาหรือไม่ หากเพื่อนทักก่อนเขาจึงจะพูดคุยด้วย แต่ถ้าเพื่อนเฉยๆ เขาก็ไม่ทักทาย เหตุการณ์คล้ายๆกันนี้เกิดขึ้นเป็นประจำ และน่าจะเป็นสาเหตุของปัญหาความสัมพันธ์

ผมช่วยให้เขาตั้งเป้าหมาย เขาจะต้องริเริ่มความสัมพันธ์ที่ดีก่อน โดยไม่ต้องกลัวว่าอีกฝ่ายจะตอบรับกลับมาหรือไม่ เมื่อยิ้มให้แล้วไม่ได้รับยิ้มตอบก็ไม่มีอะไรเสียหาย ทั้งการฝึกยิ้ม ฝึกทักทาย ก็เป็นการบ้านที่เขาต้องเอากลับไปทำต่อที่บ้าน หลายเดือนผ่านไป เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้น เพื่อนฝูงเริ่มเป็นกันเองกับเขามากขึ้น นี่คงเป็นตัวบอกว่า การลงมือปฏิบัติเช่นนี้เป็นทางที่ถูกต้องแล้ว

กรณีที่เด็กยังไม่อาจคอดแก้ไขได้เอง พ่อแม่ ครู ควรต้องชี้แนะให้บางอย่าง โดยเฉพาะด้วยคำถามกระตุ้น "ทำอย่างไรดี" "อย่างนี้ได้ไหม" "ทำอย่างนั้นแล้วจะเกิดอะไรขึ้น" จะช่วยให้เขาคิดแก้ปัญหาอย่างค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับครูแล้ว กระบวนการปลูกฝังนิสัยให้รู้จักแก้ปัญหา อาจไม่ใช่อยู่ในแค่ชั้นเรียน การปลูกผัก เล่นกีฬา ทำงานฝีมือ ฯลฯ ล้วนสามารถเป็นบททดสอบ และการเรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาได้ด้วย

การ "ลองทำดู " เป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะช่วยให้กล้าที่จะคิด จะทำสิ่งต่อๆไป โรงเรียนบางแห่งให้เด็กนักเรียนมัธยมค้นหาวิธีแก้ปัญหาการใส่ปุ๋ยต้นไม้ เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณ จึงหันไปใช้ของที่มีในธรรมชาติ เช่น มูลสัตว์ ขยะมูลฝอยแทน

กระบวนการเรียนรู้แบบนี้ ทำให้เกิดโครงสร้างความรู้ในสมองแต่ก็มีข้อเสียอยู่บ้าง คือ ต้องใช้เวลามาก จึงควรสอดแทรกการเรียนรู้แบบนี้เข้ากับการเรียนรู้รูปแบบอื่นๆ เพื่อให้เกิดแนวคิดที่หลากหลาย ทั้งรับฟังจากผู้รู้ต่างๆ และรู้จักค้นคว้า ไปจนถึงให้สามารถคิดเอง ทำเอง ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น