...+

วันศุกร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2549

อาบน้ำแบบไหนดีชีวีจึงมีสุข

สำหรับคนไทยนั้นการอาบน้ำถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทีเดียว เพราะส่วนใหญ่พอตื่นเช้าขึ้นมาเราก็อาบน้ำหนหนึ่งก่อนจะออกไปทำการทำงานหรือเรียนหนังสือ พอตอนเย็นกลับบ้านก็อาบอีกรอบเพื่อให้ร่างกายคลายเหนื่อย หรือไม่ก็ยกยอดไปอาบก่อนเข้านอนโน่น
ถึงกระนั้นก็เถอะ หลายคนอาจคิดว่าการอาบน้ำเป็นเรื่องปกติธรรมดาในชีวิต ก็แค่เป็นการชำระเอาสิ่งสกปรกออกจากร่างกายเท่านั้น
แต่สำหรับอายุรเวทหรือศาสตร์แห่งชีวิตนั้นถือว่าการอาบน้ำเป็นกิจวัตรประจำวันอีกอย่างที่มีความหมายและความสำคัญไม่แพ้กิจวัตรอื่นๆ ที่เคยพูดกันมาแล้ว
น้ำที่เราอาบชำระกายนั้นช่วยชะล้างเอาสิ่งสกปรกที่ติดอยู่ตามร่างกายและรูขุมขนออกไป ยิ่งอาบได้หมดจดเท่าไร ช่องในร่างกายก็เปิดโล่งขึ้นเท่านั้น การไหลเวียนของเลือดและพลังชีวิตในร่างกายก็เคลื่อนคล่องไม่ติดขัด เมื่อเลือดและพลังชีวิตไหลเวียนไปทั่วร่าง ร่างกายก็เลยกระปรี้กระเปร่ามีชีวิตชีวา อีกทั้งน้ำโดยตัวมันเองก็ช่วยให้เกิดความสดชื่นด้วย
คัมภีร์อายุรเวทกล่าวว่า การอาบน้ำยังมีคุณประโยชน์อื่นๆ อีกไม่น้อย ตั้งแต่ช่วยลดความร้อน ดับกระหาย แก้อาการมึนงงและเหนื่อยล้า ลดผื่นคันและผิวหนังอักเสบ ช่วยบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย บำรุงสายตา บำรุงไฟธาตุทำให้เจริญอาหาร (พูดง่ายๆ คือทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น) ทำให้จิตใจแช่มชื่นเบิกบาน
ว่ากันว่าการอาบน้ำยังช่วยให้ชีวิตยืนยาว แถมยังบำรุงน้ำเชื้อสืบพันธุ์ซึ่งน่าจะรวมทั้งอสุจิในบุรุษเพศและไข่ในอิตถีเพศด้วย ไม่นับเรื่องที่ช่วยบำรุงพลังทางเพศ
คำว่าอาบน้ำในภาษาสันสกฤตใช้คำว่า "สนาน" (snana) ซึ่งเขาจะรวมเอาการสระผม (head bath) ด้วย โดยทั่วไปแล้วเขาจะแนะนำให้ใช้น้ำเย็นอาบน้ำเฉพาะคนที่มีธาตุไฟเป็นเจ้าเรือนคือเป็นคนที่ขี้ร้อน เหงื่อออกง่าย หรือใครที่มีปัญหาเรื่องผิวหนังอักเสบเป็นตุ่มเป็นผื่นแดงง่าย
การอาบน้ำเย็นยังช่วยบรรเทาอาการร้อนรุ่มเนื้อตัว มึนงง เป็นลมวิงเวียน ปากแห้ง คอแห้ง อาการเมาค้างหลังจากดื่มเหล้า ดื่มเบียร์ รวมทั้งคนที่มีปัญหาเรื่องเลือดออกง่าย เช่น คนที่เลือดกำเดาไหลบ่อย เป็นต้น อาการเหล่านี้เป็นเพราะธาตุไฟในกายกำเริบ วิธีแก้ก็คือต้องใช้ความเย็นเข้าช่วย การอาบน้ำเย็นก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยได้
หรือถ้าน้ำเย็นเฉยๆ ยังไม่พอ คุณจะเติมผลกระวาน ผงไม้จันทน์ หรือรากแฝกหอมแช่ลงในน้ำสักพักใหญ่ๆ ก่อนที่จะเอาน้ำที่แช่สมุนไพรเหล่านี้มารดราดตัวด้วยก็ยังได้ เท่ากับเพิ่มสรรพคุณดับร้อนลงไปในน้ำที่จะสรงสนานได้อีก
แต่สำหรับคนที่ขี้หนาวประเภทถึงหน้าหนาวทีไรฝ่ามือฝ่าเท้าเย็นจับจิตทุกที หรือใครที่เข้าห้องแอร์ทีไรมักจะสั่นอยู่เรื่อยในขณะที่คนอื่นๆ เขาอยู่สบาย คนกลุ่มนี้อายุรเวทบอกว่าเป็นคนที่มีธาตุลม (วาตะ) หรือธาตุดินธาตุน้ำ (กผะ) เป็นเจ้าเรือน หรือใครที่ร่างกายกำลังมีปัญหากับความเย็น เจอความเย็นแล้วร่างกายทำท่าจะไม่ค่อยสบาย
ใครที่เข้าข่ายที่ว่ามาขอแนะนำให้อาบน้ำอุ่นจะเหมาะกว่า
การอาบน้ำอุ่นช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดี จึงช่วยเพิ่มพละกำลังให้ร่างกายได้ดี โดยเฉพาะถ้าใช้น้ำมัน (งา) อุ่นๆ นวดให้ทั่วตัวตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า แล้วทิ้งไว้สักครึ่งชั่วโมง จากนั้นก็อาบน้ำอุ่นตามจะดี เพราะน้ำมันงาที่นวดเนื้อตัวจะซึมลงไปตามอณูของร่างกาย ช่วยบำรุงร่างกายชนิดที่ว่าน้ำมันบำรุงผิวทั้งหลายก็อาจเทียบไม่ติด
แต่การอาบน้ำอุ่นมีข้อแม้ว่าไม่ควรใช้น้ำอุ่นจัดเกินไป โดยเฉพาะการใช้น้ำอุ่นสระผมหรือรดราดศีรษะนั้นมีเงื่อนไขว่าควรจะอุ่นน้อยๆ ก็พอ เพราะถ้าอุ่นเกินไปจะเป็นผลเสียต่อสายตาและเส้นผมของคุณ
นอกจากนี้ยังมีข้อแนะนำเกี่ยวกับการอาบน้ำอีกว่า คนที่มีปัญหาอัมพฤกษ์ที่ใบหน้าเป็นโรคเกี่ยวกับตา หู ปาก มีอาการท้องเสีย ท้องอืด เป็นหวัดเรื้อรัง อาหารไม่ย่อย และหลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆ ไม่ควรอาบน้ำ
เรื่องข้อควรระวังเกี่ยวกับการอาบน้ำนี้ หนุ่มไทยที่ไปฝากเนื้อฝากตัวเรียนวิชากับครูอายุรเวทที่อินเดียเคยเจอะเจอประสบการณ์มาแล้ว เมื่อครั้งที่มีคนไข้ชายสูงอายุคนหนึ่งมาหาครูด้วยอาการมือเท้าชา พูดไม่ค่อยชัด และอาการอื่นๆ ที่ครูบอกว่าคนไข้มีความเสี่ยงต่ออัมพฤกษ์อัมพาต ครูหมอบอกลูกชายของคนไข้ว่าอย่าให้คนไข้อาบน้ำเย็นเด็ดขาด (ในความหมายของคนอินเดียก็คือสระผมด้วยนั่นเอง)
หลังจากนั้นเพียงสัปดาห์คนไข้ผู้นี้ก็มาหาหมออีกครั้งด้วยอาการอัมพฤกษ์ข้างขวา ส่วนหนึ่งเห็นจะเป็นเพราะไม่งดอาบน้ำ (สระผม) ด้วยน้ำเย็น ดังที่กล่าวเตือนไว้
ถามครูว่าอาการที่ว่ามาตอนต้นนั้น ถ้าอาบน้ำโดยไม่สระผมจะได้ไหม นึกไม่ออกว่าคนเราจะอยู่อย่างไรนะโดยไม่อาบน้ำเลย ครูตอบว่าน่าจะได้เพราะคำว่าอาบน้ำในทางอายุรเวทหมายรวมถึงสระผมด้วย แต่ถึงจะอาบน้ำโดยไม่สระผมก็ควรระวังอย่าให้น้ำเย็นหรืออุ่นเกินไป
แต่ข้อห้ามที่ไม่ควรฝืนก็คือเรื่องอาบน้ำทันทีหลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆ เพราะจะทำให้อาหารไม่ย่อย อาจอธิบายได้ว่าน้ำโดยเฉพาะน้ำเย็นทำให้ผนังและท่อส่งอาหารและน้ำหดตัว กระเพาะลำไส้ย่อยอาหารไม่ได้เต็มที่นั่นเอง
เพราะฉะนั้นการอาบน้ำจึงเป็นศาสตร์และศิลปะที่ต้องสังเกตว่า ในกรณีไหนเราควรอาบน้ำแบบไหนดีเพื่อชีวีที่เป็นสุข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น