...+

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2548

ปัญหาที่เรียกว่าปัญหา

หยิบก้อนหินขึ้นมาหนึ่งก้อน เขวี้ยงมันลงไปในบ่อน้ำอย่างสุดแรง สิ่งที่เกิดขึ้น ก้อนหินแฉลบกับน้ำ 2-3 ครั้งก่อนที่จะจมลงสู่ก้นบึ้งของบ่อน้ำตามมวลของสะสาร หยิบก้อนที่ 2 ซึ่งใหญ่กว่าก้อนแรกเขวี้ยงมันไปสุดแรง สิ่งที่เกิดขึ้น ก้อนหินแฉลบกับน้ำก่อนที่จะจมสู่ก้นบึ้งของบ่อน้ำเช่นเดียวกับก้อนแรก
หยิบลูกบอลขึ้นมาหนึ่งลูก เขวี้ยงใส่กำแพงอย่างสุดแรง สิ่งที่เกิดขึ้น ลูกบอลเด้งกลับมาตามกำลังที่เขวี้ยงออกไป
หยิบลูกโป่งขึ้นมาหนึ่งใบ เขวี้ยงออกไปข้างหน้าอย่างสุดแรง สิ่งที่เกิดขึ้น ลูกโป่งพุ่งออกไปข้างหน้าอย่างช้าๆและไม่ห่างจากตัวมากนัก

ทุกสิ่งล้วนมีน้ำหนัก แต่ด้วยบทบาทความเป็นสะสารที่ต่างกันย่อมทำให้ของที่พูดถึงทั้ง 3 สิ่งมีปฏิกริยาตอบสนองที่ต่างออกไป ผมชอบเอาของทั้ง 3 อย่างมาเป็นตัวเปรียบเทียบในเวลาที่จะแก้ปัญหา เมื่อก่อนผมมักจะจมกับปัญหาชนิดว่าจมอยู่กับมันจนคิดไม่ออกและพยายามที่จะแก้มันแบบเฉพาะหน้า แล้วปัญหาก็กลายเป็นลูกบอลที่เขวี้ยงใส่กำแพงเต็มแรงผลมันก็สะท้อนกลับมาตามแรงที่เราเขวี้ยงออกไป หรือบางครั้งผมจะพยายามลืมทำเหมือนไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นเฉกเช่นเดียวกับเอาลูกโป่งมาขว้างเล่นสุดท้ายลูกโป่งมันก็ยังลอยอยู่รอบๆไม่ห่างเราทำให้เรายังเห็นหน้ามันอยู่ตลอดอยู่ดี
หากผมต้องการที่จะตัดปัญหา ผมจะมองปัญหาให้เป็นก้อนหิน เขวี้ยงมันออกไปให้เต็มแรงและให้ไกลตัวที่สุด และเพื่อที่ผมจะไม่เดินไปเตะก้อนหินก้อนนี้อีก ผมจะเขวี้ยงมันลงไปในบ่อน้ำ ให้มันจมหายจากสายตาและไม่มีวันได้เจอกันอีกครั้ง แต่ผมก็ไม่รู้ว่าต่อไปผมจะต้องเจอกับก้อนหินที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆอีกมากแค่ไหน ผมรู้เพียงว่าผมจำต้องมีกำลังให้มากพอที่จะยกก้อนหินที่ใหญ่ขึ้นแล้วเขวี้ยงออกไปให้ได้ เพราะคนที่ร่างกายดีและมีโอกาสอย่างผมหากยังเขวี้ยงปัญหาออกไปได้ใกล้กว่าคนที่ร่างกายไม่ปรกติและด้อยโอกาสแล้วนั้น ผมต้องถามตัวผมเองแล้วว่า”ผมเกิดมาพร้อมกว่าเขาทุกอย่างแต่เหตุใดถึงทำได้ด้อยกว่าเขา”
อย่าให้ปัญหามาเป็นตัวทำลายกำลังของตัวเอง และอย่ามองทุกอย่างเป็นปัญหาเสียหมด หากไม่ใช่เรื่องที่ทำให้เราหรือใครต้องตายในวันนี้หรือพรุ่งนี้ ปัญหาอื่นมันก็ไม่ได้ใหญ่อะไร

สอยมาฝาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น