++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

นิติรัฐนิติธรรมกับวีรกรรมแม่ปลาช่อนหวงลูกคลอก

โดย อุษณีย์ เอกอุษณีษ์ 15 กรกฎาคม 2553 18:15 น.
พูดกันมามากว่า สังคมไทยที่ยังวนเวียนกับปัญหาความขัดแย้ง เพราะ “หลักนิติรัฐนิติธรรม” เสื่อมโทรม รัฐบาลชุดที่ผ่านๆ ละเลย ไม่ยึดถือ หรือหยิบยกขึ้นมาใช้ ถึงขนาดที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องนำมาบรรจุไว้เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญข้อแรกๆ ที่จะต้องเร่งฟื้นฟู “หลักนิติรัฐ นิติธรรม” ให้ฟื้นคืนมาให้จงได้ ระหว่างการแถลงข่าวเปิดใจ หลังได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของเมืองไทย

“หน้าที่เบื้องต้นของตน คือ การยุติการเมืองที่ล้มเหลว ซึ่งเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แบ่งภาค แบ่งสี ที่เกิดขึ้นอยู่ในประเทศของเราในขณะนี้ ตนจะนำความสมัครสมานสามัคคีกลับคืนมา โดยอาศัยความยุติธรรมเป็นกระบวนการนำหน้า จะยึดหลักนิติธรรม นิติรัฐ จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค และเคารพในกระบวนการและเจตนารมณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย”

อันว่า หลักนิติธรรมนั้น หากพูดเพียงสั้นๆ ว่าหมายถึง ยึดกฎหมาย และบังคับใช้อย่างเสมอภาค อาจจะไม่ให้ภาพที่ชัดเจนเท่ากับการอธิบาย ตามแนวคิดของบิดาแห่งรัฐศาสตร์ฝั่งตะวันตก ผู้ให้นิยามคำว่า “หลักนิติธรรม” หรือ Rule of law คนแรกๆ อย่างอริสโตเติล ที่บอกว่า

“การ ปกครองที่ดี ไม่ใช่การปกครองโดยปุถุชน หากแต่เป็นการปกครองโดยกฎหมาย เพราะการปกครองโดยปุถุชนนั้น ย่อมเสี่ยงต่อการปกครองตามอำเภอใจ ขณะที่การปกครองโดยกฎหมาย เอื้ออำนวยต่อการที่จะก่อเกิดความเสมอภาค และเสรีภาพตามมา และหากเป็นการปกครองโดยนิติรัฐนิติธรรมแล้วไซร้ ทุกคนจะได้รับความเสมอภาคกันในสายตาของกฎหมาย และทุกคนจะมีเสรีภาพ คือปราศจากความกลัวว่า จะมีการใช้อำนาจตามอำเภอใจของผู้ปกครอง”

ทีนี้เมื่ออ่านข้อความข้างต้นจบแล้ว ลองมามองดูกันว่า เราเข้าใจ “นิติรัฐนิติธรรม” มากขึ้น หรือไม่

ประการแรก เราจะเข้าใจตรงกันว่า การปกครองที่ยึดกฎหมายเป็นใหญ่ จึงถือเป็นปกครองด้วยนิติรัฐนิติธรรม ในทางตรงกันข้ามการปกครองที่ยึดถือปุถุชนแทนที่หลักกฎหมาย หรือที่มักพูดกันจนชินปากในเวลานี้ว่า “ไม่มีเขา เราไม่ได้เป็นรัฐบาล” ล้วน ขัดกับหลักนิติธรรมอย่างเห็นได้ชัด และสะท้อนให้เห็นว่า ผู้พูดอาจยอมได้ แม้กระทั่งเรื่องผิดกฎหมาย เพียงเพื่อจะได้ไม่ขัดใจ “เขา” ที่ผู้พูดอ้างถึง

ประการที่สอง ความเสมอภาค และเสรีภาพ ในความหมายของอริสโตเติ้ล จะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เมื่อการปกครองนั้นยึดกฎหมายเป็นใหญ่ ทั้งความเสมอภาคและเสรีภาพ หาใช่สิ่งที่่สร้างขึ้นเองลอยๆ ได้ โดยเฉพาะความเสมอภาคที่จะเกิดขึ้นนั้น ในที่นี้หมายถึง ความเสมอภาคในสายตาของกฎหมาย หาใช่ในสายตาของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น

เมื่อหยิบมาเปรียบกับการยึดหลักคิด ดำเนินคดีเอาผิดกับการเผาบ้านเผาเมือง และการก่ออาชญากรรมทุกรูปแบบ หากเป็น “หลักนิติธรรม” ไม่ว่าจะเป็นคนสีไหนเป็นผู้กระทำ ไม่ว่าจะเป็นเหลือง แดง หรือน้ำเงิน เมื่อทำผิดต้องรับโทษ แต่ขณะเดียวกัน “หลักนิติธรรม” ก็ให้ความคุ้มครองกับการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่ว่าจะเป็นของประชาชนสีไหนเช่นกัน สิทธิตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้การรับรองไว้ เหล่านี้ คือ เสรีภาพและเสมอภาคในสายตาของกฎหมาย ที่เกิดขึ้นจากการปกครองด้วยนิติรัฐนิติธรรม

ในทางกลับกัน หากมีความจากผู้มีอำนาจพยายามจะสร้างความเสมอภาคในสายตาตนเอง บนพื้นฐานที่ว่า เมื่อดำเนินคดีกับแดงด้วยข้อหา “ก่อการร้าย” แล้ว ก็จักต้องตั้งข้อหาเหลืองด้วย โดยไม่พิจารณาถึงความแตกต่างในเรื่องที่มาที่ไปของการกระทำ เนื้อหาสาระ เจตนาเบื้องต้นของคนสองกลุ่ม เช่นนี้ไม่ว่าจะอ้างอย่างไร ก็ฟังไม่ขึ้นว่าเป็นการปกครองโดยยึดหลักนิติรัฐนิติธรรมเป็นใหญ่

ทีนี้ผู้เขียนมีโจทย์ที่ยากขึ้นไปอีก เช่นว่า คดีกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.ก่อการจลาจลบริเวณหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์เมื่อ 22 กรกฎาคม 2550 ที่ถูกครหาว่า อัยการสั่งฟ้องไม่ครบตามที่พนักงานสอบสวนภายใต้การดูแลของ พล.ต.ต.เจตน์ มงคลหัตถี ได้เคยเสนอสั่งฟ้องไว้ รวม 15 คน โดยขาดบางรายชื่อไป อาทิ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายจักรภพ เพ็ญแข พ.อ.อภิวัทน์ แก้วนพจิตร นายจรัล ดิษฐาอภิชัย และนายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ โดยยังขาดการให้เหตุผลจากอัยการ นี่อาจถือเป็นตัวอย่างที่สมควรจะถูกตั้งคำถามถึงปัญหาเรื่องนิติรัฐนิติธรรม หรือไม่อย่างไร

ส่วนประเด็นที่สอง คือ เป็นที่รู้กันว่า การขับเคลื่อนแผน “นปช.บุกบ้านป๋าฯ” ถือเป็นการรวมตัวแสดงศักยภาพในทางทำลายล้างครั้งใหญ่ และเป็นครั้งแรกๆ ของคนเสื้อแดงหลังเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549

มีการพูดกันหนาหูว่า เป็นการเคลื่อนไหวของแกนนำแดง ภายใต้การนำของ นักการเมืองพี่ใหญ่สายอีสาน ในยุคคนพวกนี้ยังมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นต่อกัน ต่อข้อถามว่า แล้วนักการเมืองดังกล่าว มีส่วนเกี่ยวข้องกับ “วีรกรรม” ที่ว่านี้ มากน้อยแค่ไหน แหล่งข่าวในแวดวงแดงกลับใจ หลังอธิบายให้เห็นภาพว่า

“เคยเห็นแม่ปลาช่อนหวงลูกคลอกไหม อย่างไรก็อย่างนั้น”

“พูดง่ายๆ ม็อบแดงยุคแรกบุกไปไหน ในรัศมีร้อยเมตรห่างมาจากเป้าหมาย ทุกคนจะเห็นแกนนำแดงตัวพ่อรายนี้คอยซุ่มสั่งการระยะใกล้ ไม่ห่างกาย ถึงขนาดมีภาพเป็นหลักฐาน ไปปรากฏเรียงรายตามหน้าหนังสือพิมพ์ก็มี ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์คาราวานคนจนปิดเนชั่นก็มีคนได้ภาพนักการเมืองคนสำคัญบัญชาการอยู่ บนรถตู้ในร้านแมคโดนัลด์ ใกล้จุดเกิดเหต”

“หรือแม้แต่ในวันที่มีการเผชิญหน้าของม็อบแดง-น้ำเงินที่การประชุมอา เซียน ภาพของนักการเมืองหน้าเก่าคนนี้ก็ยังซ้อนมอเตอร์ไซค์วนเวียนกำกับทุกฉากไม่ ห่าง”

“ส่วนกรณีบุกบ้านคนสำคัญ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดงของนักการเมืองรายนี้เลยก็ว่าได้ ว่ากันว่า หากเปรียบแกนนำแดงที่อาละวาดหน้าบ้านหลายเสา เป็นลูกปลาตัวน้อย แม่ของมัน ก็น่าจะแฝงตัวบัญชาการทำชั่ว อยู่ไม่ห่างจากหวอด หรือ จุดเกิดเหตุเท่าใดนัก”

ปัญหา จึงมีอยู่ว่า ในวันที่แม่ปลาช่อนสลัดคลอกทิ้ง พลิกบทบาทขึ้นมาเป็นผู้ยิ่งใหญ่ กฎหมายจะเอื้อมมือไปจัดการถึงหรือไม่-นี่ต่างหากที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ มาตรฐานความเสมอภาคในสายตากฎหมาย และพิสูจน์ถึง “นิติรัฐนิติธรรม” ที่รัฐบาลชุดนี้ คอยจะหยิบมาอ้างถึงตลอดเวลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น