++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

เวทีนโยบาย:ความปลอดภัย : หัวใจระบบขนส่งสาธารณะ

โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ


กล่าวกันว่า 'ตีเหล็กต้องตีตอนร้อน' ขณะเหล็กถูกเผาจนแดงฉาน
เฉกเช่นเดียวกันกับระบบขนส่งสาธารณะก็ต้องเร่งปรับปรุงขณะสถานการณกำลัง
สุกงอมจากกรณีเบื้องลึกเบื้องหลังรถไฟหยุดให้บริการและเช่ารถเมล์ NGV
4,000 คัน เนื่องด้วยห้วงยามนี้สาธารณชนกำลังจับตาพัฒนาการของระบบขนส่งสาธารณะว่าจะ
ยืนหยัดอยู่กับผลประโยชน์ของประชาชนหรือไม่
ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่มอบสิทธิขาดแก่ภาครัฐกำหนดแผนคมนาคมขนส่งโดยขาดกระบวน
การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม

แม้นกระบวนการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายขนส่งและการจราจรของประชาชนจะ
เป็นไปได้หลากหลายแง่มุม
หากมิติหนึ่งที่ประชาชนในฐานะผู้บริโภคไม่อาจมองข้ามคือความปลอดภัย
เพราะระบบขนส่งมวลชนต้องเป็นรูปแบบการเดินทางที่ปลอดภัยสูงสุด (Safest
mode) สำหรับทุกคน

กระนั้นจำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนนหลักแสนบาดเจ็บล้มตายนับหมื่นในแต่
ละปีก็มีสัดส่วนของรถโดยสารสาธารณะอยู่ไม่น้อย
โดยเฉพาะรถโดยสารขนาดใหญ่ที่ประสบอุบัติเหตุปีละหลายพัน ดังสถิติปี 2548,
2549, 2550 และ 2551 ที่สูงถึง 4,035, 3,405, 3,131 และ 2,540
ครั้งตามลำดับ

ถึงตัวเลขลดลง
แต่ความสูญเสียทุกครั้งกลับใหญ่หลวงนักเพราะไม่เพียงกระทบผู้โดยสารบนรถคัน
นั้น ทว่าครอบครัวข้างหลังยังเผชิญความยากแค้นขัดสนจากการขาดเสาหลักของครอบครัว
เหมือนเหยื่อรถโดยสารในโศกนาฏกรรม อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ อ.มวกเหล็ก
จ.สระบุรี อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก อ.โนนสูง
จ.นครราชสีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี

ทั้งนี้ ถึงมีเสียงโต้แย้งว่าด้วยปริมาณการเดินทางขนส่งผู้โดยสารมหาศาลก็ย่อมเกิด
อุบัติเหตุบ้างเป็นธรรมดา เพราะเฉพาะปี 2551
ก็มีการขนส่งผู้โดยสารภายในประเทศถึง 731,030,000 คน
แยกเป็นผู้โดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 585,160,000 คน
บริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) 12,067,000 คน รถไฟ 47,835,000 คน
รถไฟฟ้าใต้ดิน 59,166,000 คน และทางอากาศ 26,802,000 คน
ตามสถิติศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม

ทว่า ถ้าคำนึงถึงหัวใจระบบขนส่งสาธารณะที่ต้องให้บริการประชาชนปลอดภัยสูงสุดแล้ว
การกล่าวอ้างเช่นนี้ย่อมยอมรับไม่ได้
เพราะอุบัติเหตุทั้งหมดป้องกันได้ไม่ใช่เรื่องเวรกรรม
การทำให้จำนวนการเกิดอุบัติเหตุเรียวแคบค่าเข้าใกล้ '0'
จึงจำเป็นยิ่งเพื่อพิทักษ์คุณภาพชีวิตประชาชน
โดยเฉพาะผู้มีรายได้ต่ำถึงปานกลางที่เป็นลูกค้าหลักของ ขสมก. บขส.
และรถไฟ

ในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ก็ยิ่งต้องเข้มงวดกวดขันเข้มข้นเพราะ
จำนวนผู้ใช้บริการรถโดยสารเดินทางกลับบ้านเพื่อพบญาติสนิทมิตรสหายมากมาย
หรือช่วงกระตุ้นเศรษฐกิจ 'เที่ยวไทยคึกครื้น เศรษฐกิจไทยคึกคัก'
ปริมาณผู้โดยสารในระบบขนส่งมวลชนก็พุ่งทะยานขึ้นมากจากการเดินทางท่องเที่ยว
นอกเมืองหลวง มาตรการป้องกันอุบัติเหตุจึงต้องเข้มแข็งขึ้นตามไปด้วยโดยปริยาย
ถ้าไม่อยากเห็นการท่องเที่ยวเหี่ยวแห้งลงเพราะประชาชนไม่มั่นใจในการเดินทาง
ว่าจะปลอดภัยแค่ไหน

ด้วยในปัจจุบันนี้ก็ยังมีเหตุการณ์สูญเสียที่ป้องกันได้อันเกิดจาก
ปัจจัยหลักเดิมๆ คือ คนขับ รถ ถนน และสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอๆ
ดังผลสอบสวนเชิงลึกโศกนาฏกรรมรถโดยสารกรณีข้างต้นที่พบว่านอกจากประมาทขับ
เร็วแล้ว สภาพรถด้อยมาตรฐานนับแต่ส่วนต่ำสุดยางโล้น
เบาะนั่งไร้เข็มขัดนิรภัยและหมุดยึดติดตัวรถไม่แข็งแรง กระจกทุบไม่แตก
จนถึงส่วนสูงสุดโครงสร้างหลังคาที่เชื่อมรอยต่อไว้ลวกๆ
ล้วนแล้วแต่ทวีคูณความสูญเสียขึ้นมาก
จากควรแค่บาดเจ็บเล็กน้อยก็เป็นสาหัสหรือตาย

การเพียรผลักดันมาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสารประจำทางและรถโดยสาร
ไม่ประจำทางทั้งที่มีในระบบมากมายอยู่แล้วและที่จะนำเข้ามาใหม่ในระบบจึง
เป็นวิถีทางสร้างระบบขนส่งสาธารณะยั่งยืน (Sustainable public transport
system) ที่สอดรับกับบริบทสังคมไทยที่ใส่ใจความปลอดภัยผู้โดยสารน้อยกว่ารายได้จาก
การให้บริการ ทั้งๆ ที่บริการก็สุดแสนย่ำแย่

ทางแก้จึงต้องปรับปรุงคุณภาพพนักงานขับรถให้มีจิตสำนึกความปลอดภัย
ของผู้โดยสารมากขึ้น
ควบคู่กับยกระดับสภาพตัวรถและอุปกรณ์ส่วนควบด้านความปลอดภัยของรถโดยสาร
อย่างเร่งด่วน โดยน้อยสุดมาตรการระยะเฉพาะหน้าก็ต้องมีกลไกควบคุมการปิด-เปิดประตู
อัตโนมัติที่ปลอดภัย และติดตั้งกระจกนิรภัยประเภทเทมเปอร์ (Tempered
Safety Glass) ที่สามารถทุบแตกได้เมื่อต้องการอย่างน้อยชั้นละ 2
บานแทนที่กระจกนิรภัยประเภทหลายชั้น (Laminated Safety Glass)
ที่ทุบไม่แตก นอกเหนือจากถังดับเพลิง ค้อนทุบกระจก
หรือกากเพชรกรีดกระจกที่ต้องมีติดรถ

ส่วนมาตรการระยะปานกลางเพื่อความปลอดภัยก็ต้องเน้นพัฒนาเบาะผู้
โดยสารทุกที่นั่งให้มีเข็มขัดนิรภัยและจุดยึดที่นั่งติดกับโครงสร้างตัวรถ
ที่แข็งแรงป้องกันทั้งผู้โดยสารและเบาะที่นั่งหลุดลอยออกนอกตัวรถเมื่อเกิด
อุบัติเหตุรุนแรง
รวมถึงส่งเสริมอู่ต่อตัวถังรถและคัสซีให้มีมาตรฐานสากลด้วย

สำหรับมาตรการระยะยาวก็ต้องพัฒนาระบบความปลอดภัยรองรับรถโดยสารที่จะ
เข้ามาในระบบขนส่งเพื่อจำกัดไม่ให้รถด้อยคุณภาพมาวิ่งรับ-ส่งประชาชนจนเป็น
เหตุบาดเจ็บล้มตาย โดยเฉพาะพื้นเอียงทดสอบการทรงตัวของรถ (Stability
Test: Tilt Test)
ที่ต้องเข้ามาจัดการปัญหารถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง 2
ชั้นที่สูงยิ่ง วิ่งโคลงเคลงหวาดเสียวยิ่ง

ยังมิพักจะเอ่ยถึงการแก้ไขขั้นตอนตรวจสภาพรถที่มักไม่เข้มข้นตรวจ
เช็กประสิทธิภาพห้ามล้อและศูนย์ล้อ
จนทำให้ผู้โดยสารเปลี่ยนแปรสถานภาพเป็น 'เหยื่อ' เรื่อยมาด้วยข้ออ้างซ้ำๆ
เบรกแตก

ฉะนั้น ถึงเวลาแล้วต้องนำบทเรียนการขาดแคลนอุปกรณ์ดังกล่าวหรือมีแต่ใช้ย่อหย่อนมา
ลดทอนความสูญเสียที่ป้องกันได้
เพื่อไม่ให้เกิดการพรากชีวิตผู้โดยสารแบบรวมหมู่อย่างทรมานถึง 32 ราย
และบาดเจ็บทุพพลภาพอีก 31 ราย จากเปลวเพลิงลุกไหม้ไม่ถึง 10
นาทีในโศกนาฏกรรมมวกเหล็ก 20 มีนาคม 2550 และการจากไปของน้องปิยะธิดา
โชติมนัส นักศึกษาเอแบคปี 4 ที่นำความรวดร้าวมาสู่ครอบครัว
หลังถูกรถเมล์สาย 207 เหวี่ยงตกบริเวณแยกลำสาลีเมื่อ 14 กันยายน 2547
อีกต่อไป

สาเหตุ ของอุบัติเหตุเหล่านั้นชัดว่าเป็นเพราะการให้บริการอย่างขาดจิตสำนึกความ
ปลอดภัย และไม่คำนึงถึงประโยชน์ประชาชนในฐานะผู้ใช้บริการ
สภาวะลูกค้ามาก่อน (Customer first) และปลอดภัยไว้ก่อน (Safety first)
จึงไม่เคยเป็นจริง เพราะที่จริงคือเงินทองมาก่อน (Money first) เสมอ

คำวอนขอของเหยื่อรถโดยสารว่าขอเป็นเคสสุดท้ายจึงไม่เคยท้ายสุดสักที

กระนั้นก็ดี
การขับเคลื่อนมาตรฐานระบบขนส่งมวลชนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้โดยสารมัก
เผชิญแรงเสียดทานจากผู้ประกอบการ
เพราะการยกระดับความปลอดภัยหมายถึงค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งๆ ที่ทางตรงข้ามการลงทุนด้านความปลอดภัยนั้นคุ้มค่ากว่าด้านอื่นๆ
ทั้งหมดในระยะยาว
เพราะค่าใช้จ่ายโดยรวมจะลดลงมากจากการไม่ต้องจัดหารถใหม่
ไม่ต้องจ่ายค่าเยียวยาชดเชย ไม่เสียชื่อเสียง
แถมยังจ่ายเบี้ยประกันภัยน้อยลงด้วย เพราะไม่เกิดอุบัติเหตุ

หนึ่งทางดึงดูดผู้ประกอบการลงทุนด้านนี้ก็คือการให้สิทธิประโยชน์
ต่างๆ อาทิ เอื้ออำนวยให้จดทะเบียนได้รวดเร็ว
และยกย่องประชาสัมพันธ์เป็นแบบอย่างที่ดี (Best practice)
แก่ผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยสากลและกฎกติกาการขนส่ง
จราจรของไทยได้เคร่งครัด

ทว่าทางยั่งยืนกว่าคือการเข้ามามีส่วนร่วมสร้างเสริมมาตรฐานความ
ปลอดภัยของระบบขนส่งสาธารณะโดยประชาชนและภาคประชาสังคมในลักษณะเครือข่าย
โดยใช้ความรู้เชิงวิชาการ (Explicit knowledge)
ผสานกับความรู้ในตัวผู้คนที่ถูกละเมิดสิทธิ (Tacit knowledge)
ที่นับเป็นสินทรัพย์ความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ (Experiential knowledge
assets) เพื่อสร้างสรรค์สังคมไทยให้ปลอดภัยจากอุบัติภัยทางถนน
โดยเฉพาะเมื่อเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน

การ พัฒนานโยบายสาธารณะด้านคมนาคมของไทยในห้วงกระแสสังคมจับจ้องพร้อมตีเช่นนี้
จึงต้องมีเวทีพื้นที่ว่างเพียงพอสำหรับประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดมาตรฐาน
ความปลอดภัยทั้งระดับท้องถิ่นและชาติ
เพื่อให้ความปลอดภัยที่เป็นหัวใจระบบขนส่งสาธารณะกลับมาเต้นถูกจังหวะเสียที
เพราะถ้าไม่เร่งตีเหล็กตอนร้อนนี้ ก็คงต้องรออีกนาน

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000076409

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น