++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

พบโอสถสารจากเมล็ดลำไย ใช้ป้องกันการก่อเกิดโรคมะเร็ง

', '

เป็นที่ฮือฮาในบรรดา กลุ่มไฮโซอยู่พักใหญ่ กับงานวิจัยของต่างประเทศ
ที่ค้นพบว่า ในเมล็ดองุ่นแดง มีสาระสำคัญ ที่ช่วยดูแลผิวพรรณ
ให้เต่งตึงไม่เหี่ยวย่น จนเมล็ดองุ่นแทบ จะมีมูลค่ามากกว่า
เนื้อไปเลยในขณะนั้น เวลานี้เมืองไทยเรา ก็มีงานวิจัย เกี่ยวกับ
เรื่องนี้เช่นกัน ทว่าไม่ใช่เรื่อง ความสวยความงาม แต่เป็นการ

ค้นพบสาระสำคัญที่มีฤทธิ์ต่อต้านโรคมะเร็ง ซึ่งนับเป็นการค้นพบใหม่ล่าสุด
ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์ไทย หรือจะว่าของโลกเลยก็ได้
เพราะยังไม่เคยมีใครศึกษาวิจัยมาก่อน

โดยเรื่องนี้ นายยุทธนา สุดเจริญ นักศึกษาโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก
คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทำการศึกษาวิจัย
กล่าวว่าปกติร่างกายของคนเรา
จะมีการป้องกันภาวะการสะสมสารอนุมูลอิสระอยู่ 2 ส่วน
คือส่วนแรกเกิดจากร่างกายสร้างเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ
ขึ้นมาควบคุมอนุมูลอิสระให้อยู่ในปริมาณที่สมดุล
และส่วนที่สองที่มีความจำเป็นต้องพึ่งพากันคือ
กลุ่มของสารต้านอนุมูลอิสระที่มาจาก วิตามินเอ ซี อี หรือเบตาแคโรทีน
ที่มีในอาหาร รวมทั้ง polyphenols, flavonoids

ซึ่งสามารถพบได้ในพืชผักและผลไม้
เพื่อเข้าไปช่วยเสริมสร้างระบบแอนตีออกซิแดนท์ในร่างกาย
ให้มีประสิทธิภาพในการทำลายอนุมูลอิสระได้ดียิ่งขึ้น
ซึ่งการคิดค้นหาสารสกัดจากธรรมชาติเหล่านี้
ส่วนใหญ่เป็นผลงานวิจัยจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจากชา ถั่วเหลือง
หรือไวน์แดง เป็นต้น
อีกทั้งยังพบว่าในต่างประเทศนั้นเขาจะสนใจศึกษาเศษเหลือทิ้งจากโรงงาน
เช่น เมล็ดองุ่น เปลือกแอปเปิล เปลือกส้ม เปลือกมันฝรั่ง และราสเบอร์รี่
ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของเขาค่อนข้างต่ำ

"สำหรับประเทศไทย แม้มีงานวิจัยด้านสรรพคุณของพืชสมุนไพรมานาน
แต่ก็ยังไม่พบว่ามีการศึกษาสารสกัดในของเหลือทิ้งจากภาคเกษตรกรรม
นี่เองจึงเป็นประเด็นให้ รศ.ดร.สุปราณี แจ้งบำรุง
ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของตนเอง แนะนำให้ตนทำวิจัยเกี่ยวกับ
"การแยกและตรวจสอบคุณลักษณะของฟีโนลิกแอนติออก-ซิแดนท์
(สารที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมะเร็ง)
ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากเมล็ดผลไม้ในประเทศไทย"
ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว."
นายยุทธนา กล่าว

ดังนั้น จึงลองเลือกผลไม้ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมกระป๋อง เช่น ลำไย เงาะ
ลิ้นจี่ก่อน โดยหาในเมล็ด และจากผลการศึกษา เป็นที่น่าสนใจมาก
คือพบว่าเมล็ด ของผลไม้ดังกล่าวมีปริมาณ สารต้านอนุมูลอิสระพวก
polyphenols และ flavonoids ค่อนข้างสูง
ซึ่งยังไม่มีรายงานการค้นพบมาก่อน โดยหลังจากพบว่าเมล็ดลำไย
มีสารต้านอนุมูลอิสระ ทางทีมวิจัยจึงพยายามศึกษา เจาะลึกลงไปว่า
สารสกัดที่ได้จากเมล็ดลำไยมีอะไรบ้าง และผลจากการวิจัยครั้งนี้พบว่า
หนึ่งในสาระสำคัญที่ได้จากการสกัดแยกของเมล็ดลำไย คือ อีลาจิก แอซิด
(ellagic acid) ซึ่งเป็นสารป้องกันการก่อมะเร็ง
และเป็นสารป้องกันการก่อกลายพันธุ์ อีกทั้งยังพบในปริมาณที่สูงมาก
เมื่อเทียบกับพืชจำพวกราสเบอร์รี่ในผลการวิจัยจากต่างประเทศ
ส่วนในเมล็ดลิ้นจี่และเมล็ดเงาะนั้น กำลังทำการทดลองอยู่
โดยคาดว่าจะพบด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้เป็นเพียงการค้นพบเบื้องต้นที่ต้องมีการศึกษาต่อยอดออกไป
รวมทั้งการทดสอบความเป็นพิษก่อน จนกว่าจะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ได้
ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น
ไม่เพียงเป็นตัวอย่างการแปรรูปของเหลือทิ้งให้มีมูลค่าเพิ่ม
แต่ยังช่วยลดปริมาณขยะ เพิ่มพูนรายได้ให้แก่เกษตรกร
และสร้างรายได้ให้แก่ประเทศอย่างมหาศาลอีกด้วย...

ดวงแก้ว ผุงเพิ่มตระกูล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น