++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ความขัดแย้งในสังคมมนุษย์

ความขัดแย้งในสังคมมนุษย์
โดย ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน
มนุษย์อยู่กันเป็นสังคม ย่อมหนีไม่พ้นความขัดแย้ง
เริ่มจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ลังเลไม่สามารถจะตัดสินใจได้
และเมื่ออยู่กันตั้งแต่สองคนขึ้นไปก็เป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคลสองคน
เมื่อขยายเป็นสังคมกว้างใหญ่ขึ้นก็จะเกิดความขัดแย้งในมิติต่างๆ เช่น
ความขัดแย้งในครอบครัว ความขัดแย้งของสถาบันต่างๆ ในสังคม
ความขัดแย้งระหว่างสังคมและรัฐ
จนถึงความขัดแย้งระหว่างหน่วยการเมืองสองหน่วย
คือความขัดแย้งข้ามประเทศจนอาจนำไปสู่สงครามได้ระหว่างรัฐ

สำหรับกรณีความขัดแย้งภายในประเทศนั้น
ในเบื้องต้นประเทศคือหน่วยรัฐชาติซึ่งอยู่รวมเป็นหน่วยเดียวกัน
มีกลุ่มผู้ใช้อำนาจรัฐเพื่อการปกครองบริหาร
การจัดการทางสังคมเศรษฐกิจโดยใช้อำนาจรัฐเพื่อการจัดระเบียบสังคม
มีกฎระเบียบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งหรือแก้ไขความขัดแย้งเพื่อหา
ข้อยุติ อำนาจรัฐยังใช้ในการวางนโยบายเพื่อแก้ปัญหาสังคมและเพื่อพัฒนาสังคม
และเพื่อการดังกล่าวสามารถใช้ทรัพยากรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้

การอยู่รวมกันเป็นรัฐชาติอาจจะต้องมีข้อตกลงร่วมกันบางอย่าง
โดยทุกฝ่ายยินดีอยู่ร่วมเป็นหน่วยเดียวกัน
แต่บางครั้งความยินดีอยู่ร่วมกันนั้นก็อาจไม่ได้เกิดจากความสมัครใจ
บางส่วนอาจจะเป็นภาวะจำยอม
ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีวิธีการในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง
ที่เกิดขึ้น

ความขัดแย้งที่เกิดในรัฐชาติในภาพรวม ก็คือ ความขัดแย้งที่อาจจะเกิดจาก

ก) เชื้อชาติ (race)

ข) เผ่าพันธุ์ (ethnicity)

ค) ศาสนา (religion)

ง) ภาษา (language)

จ) วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี (culture and tradition) ฯลฯ

ในรัฐชาติซึ่งประกอบด้วยกลุ่มบุคคลต่างๆ
ซึ่งมีความแตกต่างดังกล่าวมาแล้วนั้น
กลุ่มที่มีจำนวนน้อยกว่าจะถูกเรียกว่าชนกลุ่มน้อยหรือชนชาติส่วนน้อย
ซึ่งอยู่ร่วมกับชนกลุ่มใหญ่ซึ่งเป็นกลุ่มที่ควบคุมพื้นที่ อำนาจการเมือง
อำนาจเศรษฐกิจมากกว่าชนกลุ่มที่มีจำนวนน้อยกว่า
แต่ในบางกรณีกลุ่มที่คุมอำนาจรัฐอาจจะมีน้อยกว่ากลุ่มใหญ่ในสังคม เช่น
ในกรณีแอฟริกาใต้ในอดีตคนผิวขาวซึ่งเป็นชนกลุ่มที่มีจำนวนน้อยกลับกลายเป็น
ผู้คุมอำนาจรัฐปกครองคนผิวดำซึ่งมีจำนวนมากกว่า
ส่วนกรณีประเทศจีนกลุ่มชาวจีนที่เรียกตามชื่อราชวงศ์ว่าชาวฮั่นเป็นกลุ่มที่
ใหญ่ที่สุดในจำนวน 56 กลุ่ม ส่วนอีก 55
กลุ่มมีจำนวนน้อยกว่าที่เรียกว่าชนชาติส่วนน้อย

ความขัดแย้งที่เกิดจากตัวแปรดังกล่าวข้างต้นมีวิธีการแก้ใหญ่ 4 วิธีคือ

1) การผสมผสานกลมกลืน (assimilation)
โดยทำให้คนกลุ่มน้อยทั้งหลายถูกกลืนไปในทางวัฒนธรรม ภาษา
ขนบธรรมเนียมประเพณี และแม้ทางศาสนาให้เหมือนกับชนกลุ่มใหญ่

2) การบูรณาการ (integration)
คือการที่ทั้งกลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่อยู่ร่วมกันโดยสันติโดยมีวัฒนธรรมของทั้ง
สองกลุ่มข้ามไปข้ามมา แต่ทุกกลุ่มยังคงรักษาวัฒนธรรมพื้นฐานไว้ได้
ที่สำคัญคือมีความภักดีต่อหน่วยการเมืองซึ่งเป็นหน่วยรวม
ในการบูรณาการนี้ชนกลุ่มน้อยหรือชนชาติส่วนน้อยจะไม่สูญเสียเอกลักษณ์หลัก
ของตน

3) เพื่อให้การอยู่ร่วมกันอย่างสันติและไม่กระทบกระทั่งกัน
และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ก็คือการเปิดให้มีการปกครองอิสระเป็นเขตพิเศษ
ดังเช่นที่เกิดขึ้นในสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งชนกลุ่มน้อยต่างๆ
มีเขตบางเขตปกครองตนเองในด้านต่างๆ
ยกเว้นในส่วนที่เกี่ยวกับความภักดีต่อหน่วยการเมืองหน่วยใหญ่

4) ถ้าการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในข้อ 1-3 ไม่สามารถกระทำได้
ก็อาจใช้วิธีเปิดโอกาสให้เลือกอนาคตของตัวเองแยกตัวไปต่างหากโดยการลง
ประชามติ หรือการต่อสู้ด้วยกำลังจนมีการแทรกแซงเข้ามาโดยองค์กรระหว่างประเทศ
ซึ่งในการแก้ปัญหาข้อที่ 4 นี้เกิดขึ้นไม่ได้ง่ายนัก
ทางออกที่ดีที่สุดก็คือการผสมผสานระหว่างการแก้ปัญหาข้อ 2 และ 3
โดยไม่กระทบกระเทือนต่อความเป็นหนึ่งเดียวของประเทศชาติ
ซึ่งย่อมขึ้นอยู่กับความยินยอมของทุกฝ่าย
และขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละประเทศ
ไม่สามารถจะกล่าวกันโดยเป็นภาพรวมได้

ความขัดแย้งในส่วนที่สอง คือ
ความขัดแย้งที่ไม่เกี่ยวกับความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ศาสนา
หากแต่เป็นความขัดแย้งในเรื่องระบบการเมือง
ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างในทางอุดมการณ์อยู่ด้วย
ความขัดแย้งในส่วนนี้ถ้าสามารถแก้ไขได้โดยสันติวิธีก็อาจจะเป็นทางออกที่
เกิดประโยชน์ แต่ถ้าไม่สามารถจะตกลงกันได้โอกาสของความขัดแย้งที่นำไปสู่การใช้กำลัง
ที่เรียกว่าการกบฏหรือการปฏิวัติย่อมเกิดขึ้นได้
เพราะเคยมีแล้วหลายกรณีในประวัติศาสตร์
แต่กรณีดังกล่าวนี้ควรหลีกเลี่ยงอย่างที่สุด
เพราะผลสุดท้ายจะสร้างรอยแผลความร้าวฉานจนยากที่จะเยียวยา
และที่สำคัญแพ้ชนะก็จะมีลักษณะเดียวกันคือย่อยยับทั้งคู่
กลายเป็นชัยชนะที่มีแต่ผู้แพ้ ไม่มีผู้ชนะ

การแก้ปัญหาในส่วนนี้จะต้องมีการคำนึงถึงการประนีประนอมและการออมชอม
โดยถือเอาผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง และถ้าจะพูดกันให้ถึงที่สุดแล้ว
จะต้องมีศรัทธาความเชื่อว่าทุกฝ่ายต่างมีความชอบธรรมในการเรียกร้อง
ความชอบธรรมและความยุติธรรม
การแก้ปัญหาความขัดแย้งในส่วนนี้จึงต้องเริ่มต้นด้วยการเปิดใจกว้าง
ฟังความเห็นของทุกฝ่าย พบกันครึ่งทาง และ "ประสานประโยชน์"
ตามที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้มีพระดำรัสไว้

ความขัดแย้งในส่วนที่สาม คือ
ความขัดแย้งระหว่างหน่วยการเมืองสองหน่วย หรือสองประเทศ
โดยหน่วยการเมืองสองหน่วยนั้นมีความสัมพันธ์ต่อกันในด้านต่างๆ
ดังต่อไปนี้ คือ ความสัมพันธ์ทางการทูต ความสัมพันธ์ทางการเมือง
ความตกลงในทางการทหาร การค้า การลงทุน การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
การร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ การส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกัน ฯลฯ
แต่บางครั้งความสัมพันธ์อันราบรื่นระหว่างหน่วยการเมืองสองหน่วยอาจจะสะดุด
และเกิดอุปสรรคได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีการเจรจาหาข้อยุติ
มิฉะนั้นอาจจะลงเอยด้วยการใช้กำลังเข้าต่อสู้กันจนนำไปสู่สงครามอันเป็นทาง
เลือกสุดท้าย

ความขัดแย้งที่จะนำไปสู่การใช้กำลังนั้น ในประเด็นใหญ่ๆ
ได้แก่ความขัดแย้งในเรื่องดินแดน ความขัดแย้งในเรื่องทรัพยากร
ความขัดแย้งในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง ความขัดแย้งที่เกี่ยวกับมลพิษ
ความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ทางการค้า เป็นต้น
ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างการเมืองสองหน่วยก่อนที่จะนำไปสู่การใช้
กำลังซึ่งเป็นวิธีการที่รุนแรงที่สุด (ultima ratio)
ก็คือการเพื่อหาข้อตกลงอันเป็นที่ยอมรับได้ของทั้งสองฝ่าย
และในการนี้อาจจะมีผู้เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยเพื่อให้การเจรจาตกลงกันได้ด้วย
ดี ในการเจรจาหาข้อตกลงนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน
แต่ถ้าไม่ประสบความสำเร็จเหตุการณ์ก็อาจรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ผู้ดำเนินนโยบายต่างประเทศจึงต้องระมัดระวัง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งที่เกิดกับเพื่อนบ้าน
เพราะเพื่อนบ้านที่ดีก็คือรั้วบ้านที่แข็งแรงที่สุด
แต่ถ้าเพื่อนบ้านกลายเป็นศัตรูก็จะกลายเป็นอันตรายที่จะหลอกหลอนวนเวียนอยู่
ตลอดเวลา จนทำให้เกิดความไม่สงบ
และถ้ามีปัญหาวิกฤตภายในประเทศก็จะกลายเป็นทั้ง "ศึกนอกศึกใน"
ยากที่จะใช้สรรพกำลังไปแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เผชิญอยู่ได้

ปัญหา ความขัดแย้งทั้ง 3 ประการนี้
เป็นปัญหาที่จะบั่นทอนขวัญและกำลังใจของผู้ที่จะแก้ปัญหาและทำการพัฒนา
ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาทางเศรษฐกิจ ดังนั้น
ความพยายามในการแก้ปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจจะให้ได้ผลนั้น
จะต้องทำให้ปลอดจากความขัดแย้ง 3 ประการดังกล่าวเบื้องต้น
เพื่อไม่ให้เป็นการสร้างภาระในการหาทางแก้วิกฤตทางเศรษฐกิจ
เนื่องจากถูกถ่วงโดยปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000077095

1 ความคิดเห็น:

  1. คนสามารถทำให้ความขัดแย้งระหว่างกันหายไปได้ ถ้าหากว่าคนได้รับการปลูกฝังการเรียนรู้ภาษามาอย่างถูกวิธีตั้งแต่วัยไร้เดียงสา กรุณาอ่านบล็อกที่แนะนำเรื่องภาษาไทย โดยเฉพาะการอ่านหนังสือไทยตั้งแต่ยังไม่เคยรู้มาก่อนเลย
    http://aumuttnopiyohomi.blogspot.com
    http://kamalvichitsarasatra.blogspot.com

    ตอบลบ